อัพเดต : เพจเสื้อเหลือง โปโล 72 พรรษา ตราสัญลักษณ์ใหม่ ถูกต้อง ชี้แจงพบมิจฉาชีพแอบอ้างใช้ชื่อเพจหลอกลวงผู้บริโภค

อัพเดต เพจเสื้อเหลือง โปโล 72 พรรษา ตราสัญลักษณ์ใหม่ ถูกต้อง ชี้แจงพบมิจฉาชีพแอบอ้างสวมรอยใช้ชื่อเพจหลอกลวงผู้บริโภค

สภาองค์กรของผู้บริโภค (สภาผู้บริโภค) อัพเดตกรณีได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้บริโภคกรณีสั่งซื้อ เสื้อโปโล คอปกสีเหลือง ราคา 299 บาท จากเพจ เสื้อเหลือง โปโล 72 พรรษา ตราสัญลักษณ์ใหม่ ถูกต้อง โดยบริการเก็บเงินปลายทาง เมื่อผู้บริโภคได้รับสินค้าและชำระเงินกับเจ้าหน้าที่ขนส่งแล้ว เมื่อเปิดดูสินค้า ปรากฏว่า ได้รับสินค้าเป็นถุงเท้าเด็ก ซึ่งสินค้าไม่ตรงตามที่สั่ง

โดยสภาผู้บริโภคได้มีการแจ้งเตือนภัยต่อผู้บริโภค และเวลาต่อมาเจ้าของเพจดังกล่าวได้ติดต่อกลับยังสภาผู้บริโภคเพื่อชี้แจงถึงกรณีดังกล่าวว่า สินค้าที่ถูกส่งไปยังผู้บริโภคไม่ใช่สินค้าที่จัดส่งโดยเพจและคาดว่ามีมิจฉาชีพแอบอ้างใช้ชื่อของเพจในการส่งสินค้าเรียกเก็บเงินปลายทาง เนื่องจากพัสดุที่ส่งจากทางเพจจะมีหีบห่อที่ระบุชื่อโรงงานที่ผลิตอย่างชัดเจนไม่ได้เป็นหีบห่อแบบที่ผู้เสียหายได้รับ ซึ่งทางเพจมีการชี้แจงหลักฐานการจัดส่งและระบุว่ามีผู้บริโภคที่ได้รับสินค้าอย่างถูกต้องจริงกับสภา เมื่อทางเพจทราบถึงปัญหาดังกล่าวก็ได้มีการประสานงานไปที่บริษัทขนส่งเพื่อสอบถามถึงข้อเท็จจริงที่มีการส่งพัสดุที่แอบอ้างชื่อเพจ เนื่องจากรายการสั่งซื้อของผู้ร้องทางเพจยังไม่ได้จัดส่งแต่อย่างใด พร้อมทั้งได้มีการแจ้งความดำเนินคดีไว้เป็นหลักฐานเพื่อยืนยันว่าเพจไม่ได้เป็นผู้จัดส่งสินค้าดังกล่าวให้กับผู้ร้อง นอกจากนั้น เพจยังได้ลงประชาสัมพันธ์และแจ้งเตือนภัยแก่ผู้บริโภคให้ระมัดระวังที่หน้าเพจพร้อมทั้งได้ระงับการจัดส่งสินค้าแบบเก็บเงินปลายทางเพื่อป้องกันไม่ให้มีผู้เสียหายเพิ่มเติม  อย่างไรก็ตาม เพจยังได้ชี้แจงถึงกรณีการจัดส่งสินค้าล่าช้าว่าทางเพจจะเร่งดำเนินการโดยเร็วที่สุดและพร้อมรับผิดชอบหากผู้บริโภคมีประสงค์ไม่รอสินค้า

ภายหลังจากได้รับคำชี้แจงข้อเท็จจริง ทางสภาผู้บริโภคจึงนำข้อเท็จจริงดังกล่าวมาประชาสัมพันธ์เพื่อเป็นประโยชน์แก่ผู้บริโภคในการใช้ข้อมูลเลือกซื้อสินค้าและระมัดระวังการเลือกซื้อสินค้าในรูปแบบการเก็บเงินปลายทาง โดยก่อนรับสินค้าแนะนำให้ผู้บริโภคตรวจสอบชื่อที่อยู่ผู้ส่งว่าใช่สินค้าที่สั่งหรือไม่ หากพบว่าสินค้าที่ได้รับไม่ใช่ตามที่สั่งแนะนำให้ดำเนินการ ดังต่อไปนี้

สิ่งที่ควรทำเมื่อรู้ตัวว่าถูกหลอก

  1. กรณีจ่ายเงินปลายทาง หลังจากทราบว่าได้สินค้าไม่ตรงโฆษณาให้รีบติดต่อบริษัทขนส่งทันที เพื่อขอระงับการจ่ายเงิน และคืนเงินโดยเร็ว
  2. รวบรวมหลักฐาน เช่น หน้าโปรไฟล์เพจ โฆษณาในเพจ ภาพถ่ายสินค้า บทสนทนากับผู้ขาย สลิปโอนเงิน เป็นต้น
  3. นำหลักฐานยื่นคำฟ้องต่อศาลแพ่งแผนกคดีออนไลน์ได้ที่ https://efiling3.coj.go.th/

การป้องกัน

  1. ตรวจสอบประวัติการซื้อขายของผู้โพสต์ขายสินค้า
  2. เลือกซื้อจากเพจที่มีการยืนยันตัวตนหรือ verify badge ที่จะปรากฏอยู่ด้านหลังชื่อเป็นเครื่องหมายติ๊กถูกสีขาว
  3. ดูความน่าเชื่อถือของเพจ รีวิวจากผู้ซื้อสินค้า รวมถึงการกดรีแอคชั่นเนื่องจากผู้ขายปิดการคอมเม้นหรือลบคอมเม้นที่ไม่ดีออกไป เช่น หากมีการกดโกรธจำนวนมากอาจหมายถึงผู้ซื้อไม่พึงพอใจในสินค้าที่ได้รับ
  4. ก่อนโอนเงินควรตรวจสอบเลขบัญชีของผู้ขายก่อนว่ามีชื่ออยู่ในรายการคนโกงหรือไม่ โดยนำชื่อ-นามสกุลของผู้ขาย หรือเลขบัญชีธนาคาร หรือเบอร์พร้อมเพย์ ค้นหาในเว็บไซต์ https://www.blacklistseller.com/ หรือเว็บไซต์ https://www.chaladohn.com/
  5. เลือกซื้อของผ่านเว็บไซต์ตลาดออนไลน์ แทนการซื้อสินค้าผ่านทาง Facebook เนื่องจากการเปิดเพจหรือใช้บัญชีบุคคลจะไม่สามารถตรวจสอบเจ้าของบัญชีได้โดยง่าย และหากจำเป็นควรเลือกซื้อจากเพจที่มีการยืนยันตัวตนหรือ verify badge ที่จะปรากฏอยู่ด้านหลังชื่อเป็นเครื่องหมายติ๊กถูกสีขาว

ทั้งนี้ หากผู้บริโภคท่านใดได้รับความเสียหายจากการซื้อสินค้าออนไลน์ สามารถแจ้งความดำเนินคดีกับสถานีตำรวจในพื้นที่โดยเร็วที่สุดหรือแจ้งความออนไลน์ได้ทางเว็บไซต์ www.thaipoliceonline.com หรือสามารถแจ้งเบาะแสมายังสภาองค์กรของผู้บริโภคได้ตามช่องทางด้านล่างดังต่อไปนี้

  • ร้องเรียนออนไลน์ผ่านเว็บไซต์ tcc.or.th คลิกลิงก์ https://crm.tcc.or.th/?entryPoint=Portal&action=complain…  
  • ไลน์ออฟฟิเชียล (Line Official) : @tccthailand คลิกลิงก์ https://lin.ee/uhDyO1U
  • อินบ็อกซ์เฟซบุ๊ก (Facebook Inbox) : สภาองค์กรของผู้บริโภค
  • อีเมล : [email protected]
  • โทรศัพท์ : 1502