
อีกเพียงไม่กี่วันก็เข้าสู่ช่วงวันหยุดยาวของเทศการสงกรานต์แล้ว ผู้บริโภคหลายท่านก็คงมีแผนเดินทางท่องเที่ยวในวันหยุดยาวและเตรียมจองที่พักเพื่อการท่องเที่ยว สภาองค์กรของผู้บริโภค (สภาผู้บริโภค) จึงได้รวบรวมปัญหาการจองที่พักออนไลน์ เพื่อประโยชน์ในการเลือกจองที่พักของผู้บริโภค

1. หลอกจองที่พักทิพย์ เป็นปัญหาที่มีผู้บริโภคได้รับความเสียหายเป็นจำนวนมาก โดยมิจฉาชีพจะมาในรูปแบบของเพจปลอมหรือการเปิดเลียนแบบเพจจริง โดยหลอกให้ผู้บริโภคโอนเงินเพื่อจองที่พักออนไลน์ ภายหลังการโอนเงินก็จะไม่สามารถติดต่อเพจนั้นได้อีกหรือบางครั้งกว่าผู้เสียหายจะทราบว่าเป็นมิจฉาชีพก็เมื่อถึงวันเดินทางไปยังที่พักแล้วไม่สามารถเข้าพักได้ ซึ่งก็ทำให้ผู้บริโภคเสียทั้งเงินและเวลา
ข้อแนะนำผู้บริโภค
- ดูความน่าเชื่อถือของเพจ รีวิวจากผู้ซื้อสินค้า รวมถึงการกดรีแอกชัน เนื่องจากผู้ขายปิดการคอมเมนต์หรือลบคอมเมนต์ที่ไม่ดีออกไป
- ควรตรวจสอบสถานะเพจก่อนซื้อทุกครั้ง โดยเข้าไปที่ หัวข้อ “เกี่ยวกับ” ดูหมวดหมู่ว่าสอดคล้องกับสินค้าที่ขายหรือไม่และไปที่ “ความโปร่งใสของเพจ” และกดเลือก “ดูทั้งหมด”
- ก่อนโอนเงินควรตรวจสอบเลขบัญชีของผู้ขายก่อนว่ามีชื่ออยู่ในรายการคนโกงหรือไม่ โดยนำชื่อ-นามสกุลของผู้ขาย หรือเลขบัญชีธนาคาร หรือเบอร์พร้อมเพย์ ค้นหาในเว็บไซต์ https://www.blacklistseller.com/ หรือเว็บไซต์ https://www.chaladohn.com/
- เลือกซื้อจากเพจที่มีการยืนยันตัวตนหรือ verify badge ที่จะปรากฏอยู่ด้านหลังชื่อเป็นเครื่องหมายติ๊กถูกสีขาว

2. ที่พักไม่ตรงปก จกตาผู้บริโภค ในการจองที่พักผ่านช่องทางออนไลน์แน่นอนว่าอีกหนึ่งความเสี่ยงที่ต้องเจอคือที่พักที่จองไปนั้นไม่ตรงปกหรือตรงกับภาพโฆษณาที่เชิญชวนผู้บริโภค ซึ่งผู้บริโภคสามารถร้องเรียนเพื่อรับการชดเชยเยียวยาได้ตามสิทธิผู้บริโภค
ข้อแนะนำผู้บริโภค
- โทรติดต่อหรือจองกับที่พักโดยตรงเพื่อยืนยันว่าเป็นที่พักที่มีอยู่จริง
- ผู้บริโภคควรเลือกรับบริการที่พักที่จดแจ้งหรือมีใบรับรองประกอบธุรกิจโรงแรมที่พักหรือตรวจสอบจากการรีวิวที่พัก
- ผู้บริโภคต้องเก็บหลักฐานส่วนที่เป็นปัญหาไว้ เช่น ถ่ายรูป ถ่ายวิดีโอ เป็นต้น
- พยายามเจรจากับเจ้าของที่พักให้แก้ไขหรือเยียวยาตามสิทธิที่ผู้บริโภคควรได้รับก่อนดังกล่าว โดยผู้ประกอบการเป็นผู้ดำเนินการในเรื่องค่าใช้จ่ายทั้งหมด
- หากไม่สามารถพักต่อไปได้ ผู้บริโภคมีสิทธิบอกยกเลิกสัญญาและขอเงินคืนทั้งหมดที่จ่ายไป ทั้งนี้ การแจ้งบอกเลิกควรทำเป็นลายลักษณ์อักษรเพื่อให้มีหลักฐานการเรียกร้องสิทธิที่ชัดเจน
- หากเจรจาไม่ได้ ผู้บริโภคสามารถยื่นฟ้องคดีต่อศาลได้ในประเด็นการละเมิดสิทธิผู้บริโภค ขายหรือโฆษณาไม่ตรงกับความจริง หรือไม่ตรงปก ทำให้เกิดความเข้าใจผิดเพื่อเรียกร้องค่าเสียหายได้ นำหลักฐานยื่นคำฟ้องต่อศาลแพ่งแผนกคดีออนไลน์ได้ที่ https://efiling3.coj.go.th/

3. จองที่พักผ่านเว็บไซต์ มิจฉาชีพแอบอ้างหลอกส่ง OTP ดูดเงินผ่านบัตรเครดิต เป็นกรณีการจองที่พักผ่านเว็บไซต์ โดยมิจฉาชีพจะแอบอ้างปลอมแปลงอีเมลและปัญหามาที่ผู้บริโภค เช่น ไม่สามารถชำระเงินได้และต้องยืนยันการชำระเงินผ่านบัตรเครดิตใหม่อีกครั้ง พร้อมทั้งแจ้งให้ผู้บริโภคกรอกข้อมูลใหม่ผ่านทางลิงก์ที่ได้รับทางอีเมล โดยจะส่งเลข OTP (One Time Password) ให้กับผู้บริโภค เมื่อผู้บริโภคให้เลข OTP กับมิจฉาชีพไปแล้ว มิจฉาชีพก็จะดูดเงินออกจากบัญชีหรือบัตรเครดิตของผู้บริโภคได้
ข้อแนะนำผู้บริโภค
OTP หรือ One Time Password และ Pincode หรือชุดตัวเลขหรือตัวอักษรที่กำหนดขึ้นเป็นรหัสลับเฉพาะส่วนบุคคล เป็นรหัสที่ใช้ในการยืนยันตัวตนเจ้าของบัญชีก่อนทำธุรกรรมทางการเงิน เพื่อป้องกันการแอบอ้างของมิจฉาชีพ ดังนั้น เมื่อทำธุรกรรมทางการเงิน ห้ามนำ OTP หรือ Pincode ไปให้บุคคลอื่นโดยเด็ดขาด
สิ่งที่ควรทำเมื่อรู้ตัวว่าถูกหลอก
- รีบโทรติดต่อ สายด่วน 1441 เพื่อดำเนินการอายัดบัญชีทันที
- รวบรวมหลักฐาน เช่น สลิปโอนเงิน ภาพแชทการสนทนา เพื่อแจ้งความดำเนินคดีที่สถานีตำรวจในพื้นที่หรือแจ้งความออนไลน์ที่ www.thaipoliceonline.go.th
หากผู้บริโภคท่านใดได้รับความเสียหายจากการซื้อสินค้าหรือบริการผ่านช่องทางออนไลน์ สามารถรวบรวมหลักฐาน เช่น หลักฐานโอนเงิน ข้อความแชท ภาพเพจร้านค้าและสินค้า และไปแจ้งความดำเนินคดีที่สถานีตำรวจในพื้นที่โดยเร็วที่สุดหรือแจ้งความออนไลน์ได้ทางเว็บไซต์ www.thaipoliceonline.go.th หรือสามารถแจ้งเบาะแสมายังสภาองค์กรของผู้บริโภคได้ที่เบอร์สายด่วน 1502 หรือตามช่องทางด้านล่าง ดังต่อไปนี้
- ร้องเรียนออนไลน์ผ่านเว็บไซต์ tcc.or.th คลิกลิงก์ https://crm.tcc.or.th/?entryPoint=Portal&action=complain…
- ไลน์ออฟฟิเชียล (Line Official) : @tccthailand คลิกลิงก์ https://lin.ee/uhDyO1U
- อินบ็อกซ์เฟซบุ๊ก (Facebook Inbox) : สภาองค์กรของผู้บริโภค
- อีเมล : [email protected]
- โทรศัพท์ : 1502