เตือนภัย : ผู้บริโภคซื้อสังฆทาน ระวังเจอสินค้าหมดอายุ

ในช่วงวันเข้าพรรษา พุทธศาสนิกชนต่างก็มีกิจกรรมทางศาสนามากมาย ทั้งการทำบุญตักบาตร เวียนเทียนและหนึ่งในนั้นคือการถวายสังฆทาน โดยในปัจจุบันชุดสังฆทานมีทั้งแบบที่ผู้บริโภคเลือกซื้อสินค้าเพื่อไปจัดโดยตนเองและในรูปแบบสังฆทานสำเร็จรูปที่สะดวกสบายต่อผู้บริโภคและเพื่อให้พระภิกษุสงฆ์ได้รับชุดสังฆทานที่ปลอดภัย มีคุณภาพ ใช้งานได้จริง สภาองค์กรของผู้บริโภค (สภาผู้บริโภค) จึงขอให้ข้อสังเกตและข้อควรระวังแก่ผู้บริโภคที่เลือกซื้อสินค้ามาจัดชุดสังฆทานเอง หรือชุดสังฆทานสำเร็จรูป ดังนี้

การจัดชุดสังฆทานด้วยตนเอง

  1. สังเกตฉลากอาหาร ยา หรือของใช้ต่าง ๆ ที่นำมาใส่ ควรมีการแสดงข้อมูลวันผลิตและวันหมดอายุ หรือต้องเก็บไว้ได้อีกไม่ต่ำกว่า 6 เดือน ถ้าเป็นอาหารกระป๋อง ต้องมีเครื่องหมาย อย. ที่มีเลข 13 หลักบนฉลาก กรณียาต้องมีเลขทะเบียนตำรับยา และมักจะมีคำว่า Reg.No หรือเลขทะเบียนที่ หรือทะเบียนยา รวมทั้งเลือกใช้ภาชนะบรรจุที่ไม่มีรอยบุบ บิดเบี้ยว หรือรอยแตกรั่วหรือบวม
  2. ระมัดระวังไม่นำอาหารและยา ใส่รวมในชุดเดียวกันกับของใช้หรือผลิตภัณฑ์ที่เป็นวัตถุอันตราย เพราะ สบู่ แชมพู น้ำยาบ้วนปาก ผงซักฟอก ยากันยุง ผลิตภัณฑ์กำจัดแมลง ฯลฯ มีกลิ่นและมีสารที่อาจเป็นอันตราย ซึ่งอาจถ่ายเทหรือดูดซึมเข้าไปในผลิตภัณฑ์อาหาร ผลิตภัณฑ์ยา ทำให้เป็นอันตรายต่อภิกษุสงฆ์ได้ เช่น ขิงผง มะตูมผง บรรจุรวมกับ ผลิตภัณฑ์ซักผ้า ทำให้มีกลิ่นเข้าไปเจือปนจนไม่สามารถนำไปชงฉันได้  
  3. ระมัดระวังไม่นำสิ่งของที่พระสงฆ์ไม่จำเป็นต้องใช้ใส่ในชุดสังฆทาน เช่น เศษกระดาษหนังสือพิมพ์ กล่องลูกฟูก ใส่ในถัง เพราะจะกลายเป็นการถวายขยะ อย่าเอาของไม่จำเป็น เช่น ใบชา, กล่องสบู่, ไม้จิ้มฟัน, พริกเกลือแค่หยิบมือเดียว, หรือผ้าอาบน้ำฝนชุบแป้งผืนแค่ ศอกเดียว ซึ่งนุ่งห่มไม่ได้, ธูปเทียนเล่มเล็กๆ, ดอกไม้พลาสติก (อ้างอิง : บทความวิชาการ “สังฆทานเจ้าปัญหา” )

การซื้อสังฆทานสำเร็จรูป

  1. หากเป็นสังฆทานสำเร็จรูปที่สามารถมองเห็นสินค้าภายในได้ ผู้บริโภคสามารถใช้การสังเกตตามวิธีการเดียวกับการจัดชุดสังฆทานด้วยตนเองได้
  2. กรณีเป็นชุดสังฆทานที่มีการบรรจุภัณฑ์ที่ไม่สามารถมองเห็นสินค้าที่บรรจุภายในได้นั้น ให้ผู้บริโภคสังเกตบริเวณข้างบรรจุภัณฑ์ จะต้องมีข้อมูลฉลากแสดงรายละเอียด ตาม พ.ร.บ. คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ประกอบประกาศคณะกรรมการว่าด้วยเรื่องฉลาก ฉบับที่ 23 เรื่อง ชุดสังฆทานและเครื่องไทยธรรมเป็นสินค้าควบคุมฉลาก ดังนี้
  • รายการสินค้า จำนวน และราคาแต่ละชิ้น
  • ชื่อสถานที่ตั้งของผู้ผลิต
  • วันเดือนปีที่วันหมดอายุ
  • วันเดือนปีที่บรรจุ
  • ราคารวมที่บรรจุชุดสังฆทาน
  • คำเตือน เรื่องการเก็บรักษาและวิธีปฏิบัติกับสินค้าสารเคมีบางประเภท

ข้อควรรู้ : กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • หากตรวจพบว่าผู้ประกอบการรายใด ฝ่าฝืนนำรายการสินค้าที่หมดอายุเสื่อมคุณภาพมาบรรจุในชุดเครื่องสังฆภัณฑ์ หรือขายแพงเกินความเป็นจริง ก็จะมีความผิดตาม พ.ร.บ ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ.2542 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี ปรับไม่เกิน 140,000 บาท แต่หากไม่มีการปิดป้ายแสดงราคาสินค้ามีโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท
  • หากนำอาหารมากกว่าหนึ่งชนิดหรือชนิดเดียวกันแต่มีหลายจำนวนซึ่งจัดรวมอยู่ในภาชนะเดียวกันที่มีการหุ้มห่อเพื่อจำหน่าย ต้องแสดงฉลาก ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง การแสดงฉลากของอาหารจัดรวมในภาชนะ กำหนดให้ต้องมีฉลากภาษาไทย แสดงชื่อ ประเภท หรือ ชนิดของอาหารแต่ละรายการที่บรรจุ และแต่ละรายการนั้นต้องแสดงวัน เดือน ปี ที่หมดอายุหรือควรบริโภคก่อนด้วย หากแสดงฉลากไม่ถูกต้อง ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 30,000 บาท ตามพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ.2522 มาตรา 51
  •  หากเป็นสินค้าที่นำมารวมเป็นชุด ไม่ว่าด้วยวิธีการใด เพื่อขายให้นำไปถวายแด่นักบวชในพระพุทธศาสนา จะเข้าข่าย “ชุดสังฆทาน หรือชุดไทยธรรม” ตามประกาศคณะกรรมการว่าด้วยฉลาก ฉบับที่ 23 (พ.ศ. 2550) เรื่อง ให้ชุดสังฆทานและชุดไทยธรรมเป็นสินค้าที่ควบคุมฉลาก กรณีไม่มีฉลากหรือฉลากชุดสังฆทานไม่ถูกต้อง ผู้ขายต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 50,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ถ้าเป็นการกระทำของผู้ผลิตเพื่อขาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
  • การแสดงราคานั้น ประกาศคณะกรรมการว่าด้วยฉลาก ฉบับที่ 23 (พ.ศ. 2550) เรื่อง ให้ชุดสังฆทานและชุดไทยธรรมเป็นสินค้าที่ควบคุมฉลาก ให้แสดงราคาของสินค้า แต่ละรายการไว้ด้วย

อย่างไรก็ตามก็มีประกาศคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ เรื่อง การแสดงราคาสินค้าและค่าบริการ กำหนดให้กระเช้าของขวัญ ชุดไทยธรรม หรือชุดสังฆทาน ต้องแสดงราคาปลีกของรายการสินค้า ขนาด น้ำหนักต่อหน่วย ปริมาณการบรรจุและราคาของสินค้าแต่ละรายการที่บรรจุ รวมทั้ง ค่าภาชนะบรรจุด้วย โดยต้องมีขนาดตัวอักษรและตัวเลข (FONT) ตั้งแต่ขนาด 16 ขึ้นไป หรือมีขนาดเทียบเท่า กรณีไม่แสดงราคาหรือแสดงราคาไม่ถูกต้อง ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ. 2542 มาตรา 40

หากผู้บริโภคท่านใดพบปัญหาในการซื้อชุดสังฆทานและเครื่องไทยธรรมหรือพบว่ามีการจำหน่ายโดยไม่มีฉลากหรือสินค้าไม่ตรงกับฉลากที่ติดไว้บนสังฆทาน หรือไม่มีการแสดงราคา สามารถร้องเรียนมาที่สภาผู้บริโภคได้ที่เบอร์สายด่วน 1502 หรือตามช่องทางด้านล่าง

  • ร้องเรียนออนไลน์ผ่านเว็บไซต์ tcc.or.th คลิกลิงก์ https://crm.tcc.or.th/?entryPoint=Portal&action=complain…  
  • ไลน์ออฟฟิเชียล (Line Official) : @tccthailand คลิกลิงก์ https://lin.ee/uhDyO1U
  • อินบ็อกซ์เฟซบุ๊ก (Facebook Inbox) : สภาองค์กรของผู้บริโภค
  • อีเมล : [email protected]
  • เบอร์สายด่วน 1502