เตือนภัย : L(I)ovE กลลวงหลอกให้รักของมิจฉาชีพ ที่ผู้บริโภคต้องระวัง

Valentine’s Day หรือวันแห่งความรักวนกลับมาอีกครั้ง ซึ่งเทศกาลนี้นับว่าเป็นเทศกาลสำคัญของบรรดาคู่รักและคนโสดที่มีคนในใจ แต่ก็ยังมีมิจฉาชีพที่อาศัยเทศกาลนี้ในการกระทำความผิดใช้กลลวงในการหลอกลวงผู้บริโภคส่งผลให้เกิดความเสียหายต่อผู้บริโภค

ที่ผ่านมาสภาองค์กรของผู้บริโภค (สภาผู้บริโภค) ได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้บริโภคกรณีถูกหลอกให้โอนเงินเพื่อลงทุนออนไลน์ โดยมีจุดเริ่มต้นจากการหลอกให้รักส่งผลให้ผู้บริโภคสูญเงินกว่าหลักล้านบาทและจากข้อมูลของศูนย์บริการการรับแจ้งความออนไลน์ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เปิดเผยถึงสถิติการแจ้งความคดีออนไลน์ระหว่างวันที่ 1 มกราคม 2565 – 31 ธันวาคม 2567 พบว่ามีการแจ้งความผ่านระบบรวม 773,118 เรื่อง เป็นประเด็นหลอกให้รักแล้วโอนเงิน (Romance Scam) ทั้งสิ้น 5,164 คดี มูลค่าความเสียหาย 1,641,441,115 บาท (ที่มา:กางสถิติหลอกลวงออนไลน์ 3 ปี 7.7 แสนคดีฯ) ในการนี้สภาผู้บริโภคจึงมีความรู้และข้อเตือนภัยให้แก่ผู้บริโภคเกี่ยวกับเรื่องของความรักและเรื่องของหัวใจ นั้นก็คือ Romance Scam หรือการหลอกรักออนไลน์นั่นเอง

“Romance Scam” หรือการหลอกรักออนไลน์ คืออะไร ?

Romance Scam” หรือการหลอกรักออนไลน์ คือ การที่มิจฉาชีพจะหลอกให้เหยื่อหลงรักเชื่อใจ หลอกถึงเรื่องการแต่งงานการอยู่ด้วยกันตลอดไปและใช้ความรักความเชื่อใจหรือความหวังของเหยื่อเพื่อแสวงหาประโยชน์ ไม่ต่างกับหลอกลวงออนไลน์รูปแบบอื่น โดยหลอกให้โอนเงินหรือทรัพย์สินอื่นไปให้กับมิจฉาชีพโดยใช้วิธีอ้างถึงปัญหาการเงินหรือชวนลงทุนต่างๆ ซึ่งมิจฉาชีพเหล่านี้จะหลอกโดยการสร้างโปรไฟล์ปลอมขึ้นในโซเชียลมีเดียหรือแอพพลิเคชั่นหาคู่ต่างๆ โดยจะใช้รูปปลอมซึ่งแสดงถึงภาพลักษณ์ที่ดูดีและมีความน่าสนใจเพื่อดึงดูดให้เหยื่อหลงเชื่อและด้วยสภาผู้บริโภคเคยได้รับเรื่องร้องเรียนในลักษณะนี้ด้วยกันหลายกรณี เช่นกรณีผู้เสียหายได้รู้จักมิจฉาชีพผ่านแอพลิเคชั่นหาคู่มีการพูดคุยเพื่อสานความสัมพันธ์และนัดพบเจอกันต่อมาทางมิจฉาชีพได้หลอกให้ผู้เสียหายลงทุนออนไลน์ซึ่งส่งผลให้สูญเงินเป็นจำนวนมาก เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค สภาผู้บริโภคจึงลงเป็นข้อมูลเตือนภัยแก่ผู้บริโภคให้ระมัดระวังชายหนุ่มหรือหญิงสาวที่มีการติดต่อหรือพบรักผ่านช่องทางออนไลน์ เพราะท่านอาจจะตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพและถูก โกงออนไลน์ได้

รูปแบบการหลอกของ Romance Scam

  1. หลอกว่าเป็นนักธุรกิจ/นักลงทุน  โดยจะใช้วิธีแอบอ้างว่าต้องการหาคนมาร่วมลงทุนด้วยและทำการหลอกให้เหยื่อโอนเงินไปร่วมด้วย และใช้ผลตอบแทนที่มีราคาสูงมาเป็นสิ่งหลอกล่อให้เหยื่อเชื่อและร่วมลงทุน ซึ่งเมื่อได้เงินจากเหยื่อแล้วก็จะหนีหายและไม่สามารถติดต่อได้อีก
  2. หลอกโดยใช้ความเห็นใจของเหยื่อ มิจฉาชีพจะทำการสร้างเรื่องราวขึ้นมาเพื่อหลอกเหยื่อ เช่น หลอกว่าของในครอบครัวป่วย หลอกว่าตนเองพบปัญหาการเงินต่างๆและมีความจำเป็นต้องใช้เงินด่วนซึ่งเหยื่อก็จะมีความเห็นใจคนที่ตนรักก็จะยินยอมให้ความช่วยเหลือโดยการโอนเงินหรือทรัพย์สินไปให้
  3. หลอกว่าจะส่งของขวัญหรือโอนเงินให้ วิธีนี้เป็นวิธีง่ายๆโดยการแอบอ้างกับเหยื่อว่าจะมีการส่งของขวัญราคาแพงให้กับเหยื่อในโอกาสต่างๆและจะแอบอ้างกับเหยื่อว่าติดปัญหาไม่สามารถส่งไปได้ เช่น ปัญหาการขนส่ง ไม่ผ่านด่านตรวจจึงต้องมีการใช้เงิน มิจฉาชีพก็จะหลอกให้เหยื่อโอนเงินให้

เนื่องจากการหลอกรักออนไลน์สามารถเกิดขึ้นได้ในทุกแพลตฟอร์มของโซเชียลมีเดียที่สามารถติดต่อพูดคุยกันได้ รวมไปถึง แอพพลิเคชั่นหาคู่ ต่างๆด้วย ผู้บริโภคควรระมัดระวังไม่หลงเชื่อคนแปกลหน้าในโซเชียลมีเดียและอย่าส่งต่อข้อมูลส่วนหรือข้อมูลสำคัญต่างๆให้โดยเด็ดขาด หากพูดคุยกับคนแปลกหน้าบนแพลตฟอร์มออนไลน์โดยไม่เคยพบเจอกันมาก่อน ควรทำการตรวจสอบถึงตัวตนจริงของบุคคลนั้นโดยใช้วิธีการสืบค้นรูปภาพบนกูเกิลอิมเมจ https://images.google.com หากพบว่ารูปโปรไฟล์ที่ใช้เป็นรูปของบุคคลอื่นสามารถสันนิษฐานได้ว่าเป็นมิจฉาชีพ

หากตกเป็นเหยื่อของ Romance Scam ให้เก็บหลักฐานการโอนเงิน และเก็บภาพข้อความการพูดคุยกับคนร้ายผ่านช่องทางต่าง ๆ เก็บชื่อบัญชี ภาพโปรไฟล์ และข้อมูลของคนร้ายไว้ให้มากที่สุด นำไปแจ้งความกับสถานีตำรวจเพื่อดำเนินคดีหรือโทรสายด่วน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ 191 หรือสายด่วน ศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ 1599 แจ้งความออนไลน์ได้ทางเว็บไซต์ www.thaipoliceonline.go.th  ตลอด 24 ชั่วโมง โดยหลักฐานที่ต้องเตรียม มีดังนี้

  1. บัตรประจำตัวประชาชนเพื่อเป็นการแสดงตัวตนของผู้เสียหาย
  2. กรณีที่เสียหายต่อชื่อเสียง ให้เตรียมหลักฐานที่พบว่ามีการกระทำความผิด เช่น หน้าจอ หน้าเว็บไซต์ หน้าโปรแกรมไลน์ โปรแกรมเฟซบุ๊ก หรือหน้าเพจที่พบการกระทำความผิด พรินต์ออกจากระบบคอมพิวเตอร์แล้วนำไปด้วย
  3. กรณีที่เสียหายต่อทรัพย์ ให้เตรียมหลักฐานที่พบการกระทำความผิด การหลอกลวง รวมทั้งเอกสารหลักฐานการโอนเงินต่าง ๆ ด้วย

หากผู้บริโภคท่านใดได้รับความเสียหายจากกรณีดังกล่าวหรือในลักษณะเดียวกัน สามารถแจ้งความดำเนินคดีกับสถานีตำรวจในพื้นที่โดยเร็วที่สุดหรือแจ้งความออนไลน์ได้ทางเว็บไซต์ www.thaipoliceonline.com  หรือสามารถแจ้งเบาะแสมายังสภาองค์กรของผู้บริโภคได้ที่เบอร์สายด่วน 1502 หรือตามช่องทางด้านล่าง

  • ร้องเรียนออนไลน์ผ่านเว็บไซต์ tcc.or.th คลิกลิงก์ https://crm.tcc.or.th/?entryPoint=Portal&action=complain…  
  • ไลน์ออฟฟิเชียล (Line Official) : @tccthailand คลิกลิงก์ https://lin.ee/uhDyO1U
  • อินบ็อกซ์เฟซบุ๊ก (Facebook Inbox) : สภาองค์กรของผู้บริโภค
  • อีเมล : [email protected]
  • เบอร์สายด่วน 1502