เตือนภัย : มิจฉาชีพสร้างเพจปลอมตำรวจออนไลน์

สภาองค์กรของผู้บริโภค (สภาผู้บริโภค) ได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้บริโภคกรณีถูกหลอกซื้อโทรศัพท์มือถือผ่านบัญชีเฟซบุ๊กส่วนบุคคล ชื่อ ” กิติ” โดยได้ตกลงสั่งซื้อโทรศัพท์ไอโฟน 13 ในราคา 16,900 บาท ผู้ร้องได้โอนจ่ายจากบัญชีธนาคารของผู้ร้องไปยังบัญชีปลายทาง ธนาคารซีไอเอ็มบี นายจิรภัณฑ์ ปัญญา 701-3-62273-7 จำนวน 16,900 บาท และทางคุณกิติได้แอดไลน์มายังผู้ร้องเพื่อให้โอนค่าประกัน ค่าเลขพัสดุ ไปที่บัญชีธนาคารไทยธนชาต เลขบัญชี 919-7-240709 ชื่อบัญชี น.ส. สรารัตน์ ไตรล้ำ จำนวน 1,200 บาท เมื่อมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมผู้ร้องจึงรู้ตัวว่าโดนมิจฉาชีพหลอกและไม่ได้โอนเงินไปเพิ่มเติม

ภายหลังผู้ร้องต้องการแจ้งความเพื่อดำเนินคดีกับมิจฉาชีพ จึงได้หาข้อมูลเพื่อขอความช่วยเหลือจากการค้นหาข้อมูลผ่าน Facebook ได้เจอเพจชื่อ กองบังคับการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี1-CCID1 เข้าใจว่าเป็นเพจแจ้งความออนไลน์จึงได้สอบถามไปยังกล่องข้อความ โดยมิจฉาชีพได้ให้ผู้ร้องแอดไลน์ไปยังไลน์ที่มิจฉาชีพแอบอ้างเป็นทนายความชื่อทนายความนุ จากนั้นมิจฉาชีพได้แจ้งกับผู้ร้องว่าจากกรณีของผู้ร้องจะต้องดำเนินการพูดคุยกับฝ่าย IT จึงได้เชิญให้ผู้ร้องเข้ากลุ่มไลน์ชื่อ IT supports CYBER CRIME  ซึ่งมิจฉาชีพได้เกลี้ยกล่อมชักชวนให้ผู้ร้องทำการลงทุนออนไลน์ เทรดหุ้น โดยอ้างว่าจะได้เงินปันผลเพิ่มจากการลงทุน ผู้ร้องจึงหลงเชื่อและร่วมลงทุนออนไลน์เนื่องจากหวังจะได้เงินจากการลงทุนเพื่อชดเชยกับเงินที่เสียไปจากการโดนหลอกซื้อโทรศัพท์ โดยผู้ร้องได้โอนเงินลงทุนในครั้งแรกเป็นเงินจำนวน 5,000 บาทและได้รับเงินคืนพร้อมส่วนแบ่ง จึงหลงเชื่อและได้โอนเงินในการลงทุนเพิ่มอีกเป็นจำนวนเงิน 20,000 บาทและ 61,821บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้นกว่า 81,000 บาท แต่ไม่ได้รับเงินคืน จึงทราบว่าเป็นเพจตำรวจปลอมและโดนมิจฉาชีพหลอกอีกครั้ง ผู้ร้องจึงได้ร้องเรียนมายังสภาผู้บริโภค

สภาผู้บริโภคขอเตือนภัยผู้บริโภคหลีกเลี่ยงการโอนเงินไปยังบัญชี ดังต่อไปนี้

  1. ธนาคารซีไอเอ็มบี ชื่อบัญชี นายจิรภัณฑ์ ปัญญา เลขบัญชี 701-3-62273-7
  2. ธนาคารไทยธนชาต ชื่อบัญชี น.ส. สรารัตน์ ไตรล้ำ เลขบัญชี 919-7-240709
  3. ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย ชื่อบัญชี จุฑาทิพย์ แสนสุข  (ไม่มีข้อมูลเลขบัญชี)
  4. ธนาคารกรุงไทย ชื่อบัญชี นางพรม ป้องขันธ์ (ไม่มีข้อมูลเลขบัญชี)

การป้องกันระวังเพจปลอม

  1. เพจปลอมโดยส่วนมากจะไม่มีการยืนยันตัวตนหรือ verify badge ที่จะปรากฏอยู่ด้านหลังชื่อเป็นเครื่องหมายติ๊กถูกสีขาว
  2. ดูความน่าเชื่อถือของเพจ รีวิวจากผู้ซื้อสินค้า รวมถึงการกดรีแอคชั่นเนื่องจากผู้ขายปิดการคอมเม้นหรือลบคอมเม้นที่ไม่ดีออกไป เช่น หากมีการกดโกรธจำนวนมากอาจหมายถึงผู้ซื้อไม่พึงพอใจในสินค้าที่ได้รับหรือสั่งซื้อสินค้าแล้วไม่ได้รับสินค้า
  3. ควรตรวจสอบสถานะเพจก่อนทุกครั้ง โดยเข้าไปที่ หัวข้อ “เกี่ยวกับ” ดูหมวดหมู่ว่าสอดคล้องกับเนื้อหาภายในเพจหรือไม่  และไปที่ “ความโปร่งใสของเพจ” และกดเลือก “ดูทั้งหมด” ให้สังเกตตรงประวัติ หากพบว่ามีการสร้างขึ้นมาไม่นาน หรือเพิ่งมีการเปลี่ยนชื่อ อาจสงสัยไว้ก่อนว่าเป็นเพจที่สร้างขึ้นมาเพื่อหลอกลวง
  4. ก่อนโอนเงินควรตรวจสอบเลขบัญชีก่อนว่ามีชื่ออยู่ในรายการคนโกงหรือไม่ โดยนำชื่อ-นามสกุลของหรือเลขบัญชีธนาคาร หรือเบอร์พร้อมเพย์ ค้นหาในเว็บไซต์ https://www.blacklistseller.com/   หรือเว็บไซต์ https://www.chaladohn.com/  
  5. หลีกเลี่ยงการซื้อสินค้าผ่านทาง Facebook เนื่องจากไม่สามารถตรวจสอบเจ้าของบัญชีได้โดยง่าย

ทั้งนี้ หากผู้บริโภคท่านใดได้รับความเสียหายจากการซื้อสินค้าออนไลน์ สภาผู้บริโภคแนะนำให้แจ้งความดำเนินคดีกับสถานีตำรวจในพื้นที่โดยเร็วที่สุดหรือแจ้งความออนไลน์ได้ทางเว็บไซต์ www.thaipoliceonline.com หรือโทร 1441 เพื่อความมั่นใจและความปลอดภัยของผู้บริโภค หรือสามารถแจ้งเบาะแสมายังสภาองค์กรของผู้บริโภคได้ตามช่องทางด้านล่างดังต่อไปนี้

  • ร้องเรียนออนไลน์ผ่านเว็บไซต์ tcc.or.th คลิกลิงก์ https://crm.tcc.or.th/?entryPoint=Portal&action=complain…  
  • ไลน์ออฟฟิเชียล (Line Official) : @tccthailand คลิกลิงก์ https://lin.ee/uhDyO1U
  • อินบ็อกซ์เฟซบุ๊ก (Facebook Inbox) : สภาองค์กรของผู้บริโภค
  • อีเมล : [email protected]
  • โทรศัพท์ : 02 239 1839 กด 1