ทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ร่วมกับกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (CIB) ร่วมแถลงผลการปฏิบัติการกรณีทลายโกดังทุนจีนขายเครื่องสำอางปลอม และเครื่องสำอางเถื่อน โดยลวงขายผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ ตรวจยึดของกลาง 60 รายการ จำนวนกว่า 31,922 ชิ้น ซึ่งมีการวางจำหน่ายผ่านช่องทางออนไลน์ โดยผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางที่จำหน่ายเป็นสินค้าไม่มีเลขจดแจ้งและไม่แสดงฉลากภาษาไทย นอกจากนี้ยังพบว่าร้านค้าดังกล่าวมีการจำหน่ายผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางอื่น ๆ ที่มีราคาถูกกว่าท้องตลาดอีกหลายรายการ (ข้อมูลจาก : ตำรวจสอบสวนกลาง (CIB) ร่วม อย. ทลายโกดังทุนจีนปลอม เครื่องสำอางแบรนด์ดังและเครื่องสำอางเถื่อน มูลค่ากว่า 20 ล้านบาท )
โดยช่วงที่ผ่านมาสภาองค์กรของผู้บริโภค (สภาผู้บริโภค) ได้มีการแจ้งเตือนภัยถึงผลิตภัณฑ์ครีมกันแดดยูเซอรินที่ต้องสงสัยว่าเป็นผลิตภัณฑ์ปลอมและได้ดำเนินการส่งข้อมูลแจ้งไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว สภาผู้บริโภคจึงขอเตือนให้ผู้บริโภคหลีกเลี่ยงการซื้อผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางดังกล่าวที่มีการวางจำหน่ายผ่านช่องทางออนไลน์และมีราคาถูกกกว่าท้องตลาด นอกจากนี้ผู้บริโภคควรตรวจสอบฉลากผลิตภัณฑ์ต้องมีภาษาไทย มีเลขที่จดแจ้ง อย. ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่เข้าข่ายไม่ปลอดภัยและอาจเป็นอันตรายต่อผู้บริโภคได้
หากพบปัญหาจากการใช้ผลิตภัณฑ์ ดำเนินการดังนี้
- หากต้องสงสัยว่าเป็นผลิตภัณฑ์ปลอมให้หยุดใช้ผลิตภัณฑ์โดยทันทีและเก็บตัวผลิตภัณฑ์ดังกล่าวไว้เป็นหลักฐาน
- รวบรวมหลักฐาน อาทิเช่น ภาพถ่ายผลิตภัณฑ์ที่ใช้ ใบเสร็จการสั่งซื้อ ภาพการโฆษณาสินค้าของร้านที่ซื้อผลิตภัณฑ์ เป็นต้น
- หากได้รับอันตรายจากการใช้ผลิตภัณฑ์ ทั้งที่ได้ปฏิบัติตามวิธีใช้ คำแนะนำ หรือข้อควรระวังตามที่ระบุบนฉลากแล้ว หรือไม่เป็นไปตามข้อความที่โฆษณา ควรรีบไปพบแพทย์ เพื่อให้แพทย์วินิจฉัยอาการและ ขอใบรับรองแพทย์เพื่อใช้เป็นหลักฐานว่าอาการแพ้เกิดขึ้นจากผลิตภัณฑ์ที่ใช้
- นำหลักฐานร้องเรียนไปยังสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ที่เบอร์สายด่วน 1556 หรือสำนักงานสาธารณะสุขจังหวัด (สสจ.) กรณีอยู่ในพื้นที่ต่างจังหวัด เพื่อให้ตรวจสอบผลิตภัณฑ์และชดเชยเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้น
สิ่งที่ต้องสังเกตบนฉลาก
- ชื่อเครื่องสำอาง ผู้บริโภคต้องพิจารณาชื่อผลิตภัณฑ์ให้ดีก่อนซื้อว่าเป็นผลิตภัณฑ์ที่น่าเชื่อถือหรือไม่และ
- ประเภทหรือชนิดของเครื่องสำอาง เช่น ครีมป้องกันแสงแดด สบู่ ครีมบำรุงผิว แชมพูสระผม เป็นต้น
- วิธีใช้ ต้องศึกษาวิธีใช้อย่างละเอียดเพื่อที่จะได้เกิด ประโยชน์อย่างคุ้มค่า ปลอดภัยและเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด
- ส่วนประกอบสำคัญ (ชื่อสารทุกชนิดที่เป็นส่วนผสม) เป็นข้อมูลที่ผู้บริโภคต้องใช้ตรวจสอบรายละเอียดของส่วนประกอบในเครื่องสำอางก่อนซื้อ เพื่อที่จะได้หลีกเลี่ยงสารเคมีที่แพ้ได้ง่ายขึ้น
- คำเตือน (ในบางกรณี) เครื่องสำอางบางประเภทจะต้องแสดงคำเตือนที่ฉลากด้วยเนื่องจากผลิตภัณฑ์นั้นอาจก่อให้เกิดความระคายเคืองได้ง่าย ผู้บริโภคศึกษาคำเตือนให้เข้าใจและปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัดเพื่อความปลอดภัยในการใช้ผลิตภัณฑ์
- ชื่อที่ตั้งผู้ผลิตและนำเข้า
- ปริมาณสุทธิ บนฉลากต้องแสดงปริมาณของผลิตภัณฑ์อย่างชัดเจน
- เลขที่แสดงครั้งที่ผลิต การแจ้งครั้งที่ผลิตจะทำให้ทราบถึงรุ่นที่ทำการผลิต เช่น ในกรณีที่ต้องอ้างอิงสินค้าที่เกิดปัญหาขึ้น
- วันเดือนปีที่หมดอายุ การแจ้งวันเดือนปีที่หมดอายุจะทำให้ทราบถึงอายุของผลิตภัณฑ์ เช่นกัน แต่กฎหมายให้ระบุวันเดือนปีวันหมดอายุ เฉพาะเครื่องสำอางที่มีอายุการใช้งานน้อยกว่า 30 เดือนเท่านั้น
- เลขที่ใบรับแจ้ง ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางจะไม่มีเครื่องหมายฉลาก อย. บนฉลาก แต่ต้องมีการแสดงเลขที่ใบรับแจ้งเป็นเลข 10 หลักและมีข้อความที่จำเป็นครบถ้วน โดยเลขดังกล่าวสามาถนำไปตรวจสอบเลขที่ใบรับแจ้งได้ที่เว็บไซต์สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา
หากผู้บริโภคท่านใดพบว่ามีการวางจำหน่าย สามารถแจ้งไปที่เบอร์สายด่วน อย. 1556 หรือร้องเรียนเข้ามายังสภาองค์กรของผู้บริโภคได้ที่เบอร์สายด่วน 1502 หรือตามช่องทางด้านล่าง ทางสภาผู้บริโภคจะรวบรวมข้อมูลและแจ้งไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป
- ร้องเรียนออนไลน์ผ่านเว็บไซต์ tcc.or.th คลิกลิงก์ https://crm.tcc.or.th/?entryPoint=Portal&action=complain…
- ไลน์ออฟฟิเชียล (Line Official) : @tccthailand คลิกลิงก์ https://lin.ee/uhDyO1U
- อินบ็อกซ์เฟซบุ๊ก (Facebook Inbox) : สภาองค์กรของผู้บริโภค
- อีเมล : [email protected]
- โทรศัพท์ : 02 239 1839 กด 1
ขอขอบคุณข้อมูล
ฉลากเครื่องสำอาง ต้องมีอะไรบ้าง เช็กลิสต์ 7 สิ่งที่ต้องมีบนฉลาก