สภาองค์กรของผู้บริโภค (สภาผู้บริโภค) ได้รับการแจ้งเบาะแสจากผู้บริโภค กรณีสั่งซื้อปลาหมึกสามรสจากเพจเฟซบุ๊กที่น่าเชื่อถือ มีรีวิวที่ดี จึงทำให้ตัดสินใจสั่งมาและเมื่อสินค้ามาถึงผู้เสียหายทานปลาหมึกได้ครึ่งซองก็พบว่ามีแมลงสาปทั้งตัวอบกรอบผสมอยู่กับแผ่นปลาหมึกสามรส จึงได้ทักไปแจ้งร้าน แต่ร้านค้าพยายามซักไซร้เพราะคิดว่าเป็นแมลงสาปจากบ้านผู้บริโภค ผู้บริโภคยืนยันว่าไม่ใช่แมลงสาปจากที่บ้านเพราะตัวแมลงสาปที่เจอนั้นได้ถูกอบกรอบเหมือนกับปลาหมึกสามรส โดยปลาหมึกสามรสที่ผู้เสียหายซื้อมานั้น บนบรรจุภัณฑ์ไม่มีฉลากติดอยู่เพราะการซื้อในลักษณะของการชั่งกิโลแบ่งขายจากถุงใหญ่ สภาผู้บริโภคขอเตือนภัยให้ผู้บริโภคระมัดระวังการเลือกซื้อสินค้าในลักษณะดังกล่าว เนื่องจากเป็นสินค้าที่ไม่มีฉลากและระหว่างการแบ่งขายอาจมีการปนเปื้อนหรือมีสิ่งแปลกปลอมที่ไม่ปลอดภัยต่อผู้บริโภคได้
สิ่งที่ผู้บริโภคควรทำเมื่อได้รับความเสียหาย
- ควรเก็บตัวอย่างอาหารที่พบปัญหาไว้ในสภาพที่สมบูรณ์มากที่สุด และถ่ายรูปไว้เป็นหลักฐาน รวมถึงเก็บข้อมูลสำคัญอื่น ๆ ไว้ ได้แก่ ชื่อสินค้า ชื่อ – ที่อยู่ผู้ผลิต วันเวลาที่ซื้อสินค้า สถานที่ซื้อสินค้า การระบุสถานที่ซื้อสินค้าควรเจาะจงให้ชัดเจน เช่น ห้างใด เพจใด รวมถึงใบเสร็จ หรือบทสนทนาที่ใช้คุยกับคนขาย
- หากได้รับความเสียหายจากการบริโภคอาหารนั้น ๆ ให้ไปพบแพทย์เพื่อตรวจร่างกาย และขอใบรับรองแพทย์ พร้อมเก็บใบเสร็จรับเงินค่ารักษาพยาบาลไว้เป็นหลักฐาน
- รีบนำตัวอย่างอาหารและหลักฐานทั้งหมดแจ้งไปที่ร้านอาหารหรือแหล่งที่ซื้ออาหารมา
- หลักฐานตัวจริงทั้งหมดให้เก็บไว้ที่ตนเอง ห้ามให้หน่วยงานหรือผู้ประกอบการโดยเด็ดขาด
- หากแจ้งให้ร้านแก้ไขแต่ไม่ได้รับการแก้ไข ผู้บริโภคสามารถแจ้งความที่สถานีตำรวจในพื้นที่ หรือหากไม่มีความคืบหน้าสามารถร้องเรียนกับหน่วยงานรับเรื่องร้องเรียน ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ที่เบอร์สายด่วน 1556 หรือทางอีเมล [email protected] โดยต้องระบุปัญหาและความต้องการให้ชัดเจน เช่น ขอเปลี่ยนสินค้า ขอคืนเงิน หรือให้ชดเชยเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้น
บนฉลากอาหาร ควรแสดงข้อมูลอะไรบ้าง
อาหารทุกประเภทที่มีการวางจำหน่าย จำเป็นต้องมีสัญลักษณ์และตัวเลขบริเวณบรรจุภัณฑ์ที่เป็นข้อมูลสำคัญ ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข พ.ศ.2557 ทั้งนี้สำนักงานมาตรฐานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้มีการกำหนดไว้ว่าอาหารที่จำหน่ายต้องมีข้อความภาษาไทยและภาษาต่างประเทศ ต้องแสดงข้อมูลบนฉลากอย่างถูกต้องและครบถ้วนซึ่งแสดงรายละเอียด โดยมีสาระสำคัญได้แก่
- ชื่ออาหาร
- สารบบอาหาร โดยมีเครื่องหมายแสดงทะเบียนหรือเลขอนุญาตใช้ฉลากอาหาร สัญลักษณ์ของ อย.ตามด้วยเลขทะเบียนและปีที่ได้รับอนุญาตให้ขึ้นทะเบียน
- ชื่อและที่ตั้งของผู้ผลิตหรือผู้แบ่งบรรจุ
- ปริมาณสุทธิของอาหารเป็นระบบเมตริก
- ส่วนประกอบที่สำคัญ หรือ ฉลากโภชนาการแบบจีดีเอ (GDA) การแสดงค่าพลังงาน น้ำตาล ไขมัน และโซเดียม ที่มีอยู่จริงในผลิตภัณฑ์อาหารนั้น
- ข้อความว่า “ใช้วัตถุกันเสีย” ถ้ามีการใช้
- ข้อความว่า “เจือสีธรรมชาติ” หรือ “เจือสีสังเคราะห์” แล้วแต่กรณีที่มีการใช้
- แสดงข้อมูลสำหรับผู้แพ้อาหาร
- การแสดงวัน เดือนและปีที่ผลิตและหมดอายุ ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญและควรอยู่บนผลิตภัณฑ์ทั้งอาหารสำเร็จรูปแบบแห้งและแบบปรุงสุก
- ราคาของสินค้าพร้อมระบุหน่วยบาท
หากผู้บริโภคท่านใดได้รับความเสียหายเช่นเดียวกับกรณีดังกล่าว สามารถแจ้งร้องเรียนไปยังสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาได้ผ่านสายด่วน อย. 1556 หรือทางอีเมล [email protected] และสามารถยื่นเรื่องร้องเรียน แจ้งเบาะแสเข้ามายังสภาองค์กรของผู้บริโภคได้ผ่านสายด่วน 1502 หรือตามช่องทางด้านล่าง เพื่อที่ทาง สภาผู้บริโภคจะดำเนินการประสานเรื่องร้องเรียนไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อแก้ไขปัญหาของผู้บริโภคต่อไป
- ร้องเรียนออนไลน์ผ่านเว็บไซต์ tcc.or.th คลิกลิงก์ https://crm.tcc.or.th/?entryPoint=Portal&action=complain…
- ไลน์ออฟฟิเชียล (Line Official) : @tccthailand คลิกลิงก์ https://lin.ee/uhDyO1U
- อินบ็อกซ์เฟซบุ๊ก (Facebook Inbox) : สภาองค์กรของผู้บริโภค
- อีเมล : [email protected]
- โทรศัพท์ : เบอร์สายด่วน 1502
ข้อมูลจาก : จี้ อย. ทำหน้าที่คุ้มครองผู้บริโภค เอาผิดร้านค้าติดฉลากลวง ฉลากไม่ถูกต้อง ชี้ ผิด พ.ร.บ.อาหาร