เตือนภัย : ผู้บริโภคโอนเงินผิดบัญชี ทำอย่างไรให้ได้เงินคืน

ปัจจุบันการโอนเงินสามารถทำได้โดยง่ายผ่าน Application ของธนาคารที่เราเป็นลูกค้า การโอนเงินผิดบัญชีจึงเป็นเรื่องที่สามารถเกิดขึ้นได้ในชีวิตประจำวัน ในกรณีที่มีการโอนเงินผิดบัญชี ไม่ว่าจะเป็น การใส่หมายเลขบัญชีธนาคารผิด,ใส่เลขพร้อมเพย์ผิด หรือ โอนผิดธนาคาร แล้วได้มีการติดต่อให้ผู้ที่รับโอนคืนเงินแล้ว แต่ทางเจ้าของบัญชีผู้รับโอนกลับเพิกเฉย และนำเงินที่ได้มาไปใช้เองโดยไม่ส่งคืนเจ้าของ สภาผู้บริโภคจึงขอให้ผู้บริโภคระมัดระวังตรวจสอบข้อมูลเลขบัญชีธนาคาร จำนวนเงินที่จะโอนให้ดีก่อนทำการโอนเงินทุกครั้ง และมีข้อแนะนำเมื่อผู้บริโภคโอนเงินผิดบัญชีเพื่อขอเงินคืน ดังนี้

กรณี “เรา” เป็นคนโอนเงินผิดบัญชี

  • เมื่อรู้ว่าโอนเงินไปผิดบัญชี ให้ตั้งสติ รวบรวมหลักฐาน หรือเอกสารต่าง ๆ เช่น  สลิปใบบันทึกรายการโอนเงิน สำเนาบัตรประชาชน ข้อมูลวันเวลาและจำนวนเงินที่ทำรายการ ชื่อบัญชีและเลขที่บัญชีที่เราโอนผิด เป็นต้น  และรีบไปแจ้งความเพื่อลงบันทึกประจำวันที่สถานีตำรวจโดยเร็ว
  • นำหลักฐานพร้อมบันทึกแจ้งความ ติดต่อไปที่ธนาคารต้นทาง เพื่อให้ตรวจสอบการโอนเงิน และติดต่อไปยังบัญชีปลายทางที่เราโอนเงินผิด เพื่อแจ้งปัญหาและให้โอนเงินคืนมาให้เรา กรณีเป็นบัญชีธนาคารเดียวกัน ธนาคารจะดำเนินการติดต่อให้โดยตรง แต่หากต่างธนาคาร จะมีการประสานข้อมูลระหว่างธนาคาร
  • ถ้ามีการคืนเงิน ให้เราตรวจสอบว่ามีการโอนยอดเงินมาตรงกันหรือไม่ ถ้าตรง เรื่องก็ยุติ แต่ถ้าไม่มีการโอนเงินคืน จะต้องติดต่อแจ้งความเพื่อดำเนินคดีความผิดฐานยักยอกทรัพย์ที่สถานีตำรวจ เพื่อให้มีการอายัดบัญชีของผู้รับโอนและติดตามจับกุมผู้กระทำผิด

กรณี “เขา” โอนเงินผิดมาบัญชีของเรา

  • เมื่อมีคนติดต่อมาแจ้งเรื่องโอนเงินผิด ให้สอบถามให้ชัดเจนว่า โอนมาจากธนาคารอะไร วันและเวลาอะไร จำนวนเงินเท่าไร และไม่ควรโอนเงินคืนทันที
  • เราควรจะไปติดต่อธนาคารของเราโดยตรง เพื่อตรวจสอบข้อมูล ถ้าพบว่า เงินที่โอนเข้ามาผิดบัญชีจริง ๆ ก็ให้ความยินยอมแก่ธนาคารในการโอนเงินกลับไปให้เจ้าของบัญชี มิฉะนั้น อาจโดนดำเนินคดีข้อหายักยอกทรัพย์และถูกอายัดบัญชีธนาคารและย้ำว่าถ้าหากได้รับการติดต่อโดยตรงจากเจ้าของบัญชี ห้ามโอนเงินคืนเอง อาจตกเป็นเครื่องมือคนร้ายฟอกเงิน ต้องให้ธนาคารทำการดึงเงินคืนบัญชีต้นทางเพื่อความปลอดภัย
  • การโอนเงินผิดบัญชีอาจเป็นกลลวงของมิจฉาชีพได้ ดังนั้นผู้บริโภคควรดำเนินการทุกอย่างผ่านธนาคารที่ใช้บริการเท่านั้น (รายละเอียดเพิ่มเติม : มี ‘เงินโอนเข้าผิดบัญชี’ อย่าเพิ่งรีบโอนกลับ อาจเป็นกลลวงมิจฉาชีพได้! )

เกร็ดความรู้

ความผิดอาญาฐานยักยอกทรัพย์ ตามมาตรา 352 ประมวลกฎหมายอาญา บัญญัติว่า “ผู้ใดครอบครองทรัพย์ซึ่งเป็นของผู้อื่นหรือซึ่งผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย เบียดบังเอาทรัพย์นั้นเป็นของตนหรือบุคคลที่สามโดยทุจริต ผู้นั้นกระทำความผิดฐานยักยอกทรัพย์ …”   ความผิดฐานนี้มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 6,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

หากผู้บริโภคท่านใดได้รับความเสียหายจากกรณีดังกล่าวหรือขอคำปรึกษาแนวทางการแก้ไขปัญหาได้ที่สภาองค์กรของผู้บริโภคได้ที่เบอร์สายด่วน 1502 หรือตามช่องทางด้านล่าง ดังนี้

  • ร้องเรียนออนไลน์ผ่านเว็บไซต์ tcc.or.th คลิกลิงก์ https://crm.tcc.or.th/?entryPoint=Portal&action=complain…  
  • ไลน์ออฟฟิเชียล (Line Official) : @tccthailand คลิกลิงก์ https://lin.ee/uhDyO1U
  • อินบ็อกซ์เฟซบุ๊ก (Facebook Inbox) : สภาองค์กรของผู้บริโภค
  • อีเมล : [email protected]
  • โทรศัพท์ : 1502