เตือนภัย : 9.9 Double Day 4 ภัยออนไลน์ตัวร้ายที่ผู้บริโภคควรระวัง

เทศกาลซื้อสินค้าออนไลน์ 9.9 หรือ Double Day เป็นช่วงที่เหล่าแพลตฟอร์มซื้อ-ขายออนไลน์ต่างจัดโปรโมชันทั้งการลดแลกแจกแถม โดยเฉพาะการแจกโค้ดส่วนลดและให้โค้ดส่งฟรีเป็นจำนวนมาก

แต่อย่างไรก็ตามแม้จะมีโปรโมชั่นดึงดูดใจมากมายและแม้ว่าการซื้อสินค้าออนไลน์จะสะดวกสบาย แต่สิ่งที่ตามมาด้วยคือปัญหาต่างๆที่อาจส่งผลให้ผู้บริโภคได้รับความเสียหายหรือทำให้หงุดหงิดใจ วันนี้สภาผู้บริโภคได้รวบรวมภัยร้ายออนไลน์มาเพื่อเป็นแนวทางแก่ผู้บริโภคให้ระมัดระวังในการซื้อสินค้าออนไลน์ในวันนี้ด้วย

1. การซื้อของแล้วไม่ได้ของ เรียกได้ว่าเป็นปัญหาที่มีผู้บริโภคพบเจอเป็นจำนวนมากซึ่งมิจฉาฉาชีพจะมาในรูปแบบของการสร้างเพจปลอมจำหน่ายสินค้าหรือเปิดเพจปลอมขึ้นเลียนแบบเพจที่มีอยู่จริง จะมีการลงโฆษณาจำหน่ายสินค้าต่างๆในราคาถูกหรือมีโปรโมชั่นดึงดูดผู้บริโภค เมื่อผู้บริโภคโอนเงินแล้วทางเพจก็จะมีข้ออ้างต่างๆเพื่อให้โอนเงินเพิ่ม เช่น ค่าประกันสินค้า ชำระค่าภาษีขนส่ง โดยภายหลังจากที่ผู้บริโภคโอนเงินแล้ว ทางเพจก็จะส่งสินค้าและระงับช่องทางการติดต่อกับผู้บริโภคไป ( ชุดข้อมูลความรู้เพิ่มเติม : สั่งของไม่ได้ของ )
2. การซื้อของแต่ได้รับสินค้าไม่ตรงปก เป็นอีกปัญหาที่มีผู้บริโภคพบเจอเป็นจำนวนมากเช่นกัน โดนการได้รับสินค้าไม่ตรงปกนั้นทางร้านค้าจะมีการส่งสินค้าให้กับผู้บริโภคจริง แต่สินค้าที่ได้รับกลับไม่เป็นไปตามที่โฆษณา เช่น สั่งแล้วสีไม่หรือแบบไม่ตรงตามที่สั่ง คุณภาพต่างกัน เป็นต้น (ชุดข้อมูลความรู้เพิ่มเติม : ได้รับสินค้าไม่ตรงปก !!!)
3. การซื้อของแต่ได้รับสินค้าผิดจากที่สั่ง มีความต่างกับการได้รับสินค้าไม่ตรงปก คือ การได้รับสินค้าผิดจากที่สั่งเป็นการสั่งสินค้าประเภทนึงแต่ได้รับอีกประเภท เช่น สั่งซื้อโทรศัพท์แต่ได้ก้อนหิน สั่งซื้อลำโพงแต่ได้ทิชชู่ เป็นต้น ซึ่งกรณีอาจเข้าข่ายเป็นการฉ้อโกงได้ (ชุดข้อมูลความรู้เพิ่มเติม : ได้รับสินค้าผิดจากที่สั่ง )
4. การโฆษณาที่เป็นเท็จหรือเกินจริง เป็นการโฆษณาสินค้าโดยใช้ข้อความที่เป็นเท็จหรือเกินจริงและส่งผลให้ผู้บริโภคเกิดความเข้าใจผิดในสาระสำคัญเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการ เช่น การโฆษณาจำหน่ายเสริมอาหารที่ช่วยรักษาโรคได้ การโฆษณาคุณสมบัติของสินค้านั้นๆแต่ไม่สามารถทำได้จริง เป็นต้น (ชุดข้อมูลความรู้เพิ่มเติม : โฆษณาเป็นเท็จเกินจริง )

ข้อควรรู้ : บริโภคควรเก็บหลักฐานในการซื้อขาย เพื่อใช้ประกอบการดำเนินคดีในกรณีที่โดนโกง หรือ ถูกหลอกลวง ไว้กับตัวด้วย หลักฐานที่ควรเก็บไว้ มีดังนี้

  • เก็บหรือขออีเมลของร้านค้าไว้เพื่อเป็นประโยชน์ในการดำเนินคดี
  • รูปสินค้าและโฆษณาที่แสดงรายละเอียดของสินค้า
  • ข้อความการสนทนาระหว่างการซื้อ – การขายไว้เป็นหลักฐาน
  • สลิปการโอนเงินและเลขที่บัญชีร้านค้า
  • เก็บหลักฐานอื่น ๆ เช่น บัตรประจำตัวประชาชนของผู้ขายไว้ (ถ้ามี)

ทั้งนี้ หากผู้บริโภคท่านใดได้รับความเสียหายจากการซื้อสินค้าออนไลน์ สามารถโทร 1441 เพื่อแจ้งระงับ/อายัดบัญชีคนร้ายและแจ้งความดำเนินคดีกับสถานีตำรวจในพื้นที่โดยเร็วที่สุดหรือแจ้งความออนไลน์ได้ทางเว็บไซต์ www.thaipoliceonline.go.th หรือสามารถแจ้งเบาะแสมายังสภาองค์กรของผู้บริโภคได้ที่เบอร์สายด่วน 1502 หรือตามช่องทางด้านล่างดังต่อไปนี้

  • ร้องเรียนออนไลน์ผ่านเว็บไซต์ tcc.or.th คลิกลิงก์ https://crm.tcc.or.th/?entryPoint=Portal&action=complain…  
  • ไลน์ออฟฟิเชียล (Line Official) : @tccthailand คลิกลิงก์ https://lin.ee/uhDyO1U
  • อินบ็อกซ์เฟซบุ๊ก (Facebook Inbox) : สภาองค์กรของผู้บริโภค
  • อีเมล : [email protected]
  • โทรศัพท์ : 1502