จากปัญหาการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทวีความรุนแรงมากขึ้น จนเกิดภาวะขาดแคลนยารักษาในระบบบริการสุขภาพ โรงพยาบาลไม่สามารถรับผู้ป่วยได้ถึงขั้นต้องจัดระบบ Home isolation ทำให้ประชาชนต้องจัดหาซื้อยากินเอง ซึ่งล่าสุดราชกิจจานุเบกษา ประกาศ เรื่องบัญชียาหลักแห่งชาติด้านสมุนไพร ให้ฟ้าทะลายโจรอยู่ในบัญชียาหลัก เรื่อง บัญชียาหลักแห่งชาติด้านสมุนไพร ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2564 รักษาผู้ป่วยโรคโควิด-19 เพื่อให้ใช้ยาฟ้าทะลายโจรอย่างถูกต้อง และเกิดการกำกับติดตามดูแลคุณภาพผลิตภัณฑ์ฟ้าทะลายโจรอย่างถูกต้อง ต่อมาไม่นานพบว่าเกิดภาวะการขาดแคลนยาฟ้าทะลายโจร และมีราคาสูงขึ้น รวมถึงการจำหน่ายสินค้าปลอม อวดอ้างโฆษณาเกินจริง
สภาองค์กรของผู้บริโภค (สอบ.) หน่วยงานประจำจังหวัด และเครือข่ายองค์กรผู้บริโภค ซึ่งมีบทบาทภารกิจในการเฝ้าระวังและจัดทำข้อเสนอต่อการคุ้มครองผู้บริโภคให้ทันต่อสถานการณ์ จึงสำรวจสถานการณ์ของยาฟ้าทะลายโจร ระหว่างวันที่ 1 – 12 สิงหาคม 2564 ทั้งในส่วนของร้านขายยา และความคิดเห็นจากผู้บริโภค ที่เคยใช้ผลิตภัณฑ์ฟ้าทะลายโจรทั่วประเทศ รวม 37 จังหวัด ได้แก่
- ภาคเหนือ 9 จังหวัด : เชียงราย เชียงใหม่ พะเยา แพร่ แม่ฮ่องสอน ลำปาง ลำพูน อุตรดิตถ์ และน่าน
- ภาคกลาง 4 จังหวัด : นนทบุรี พระนครศรีอยุธยา สระบุรี และสิงห์บุรี
- ภาคใต้ 6 จังหวัด : กระบี่ ชุมพร ปัตตานี สงขลา สตูล และสุราษฎร์ธานี
- ภาคตะวันออก 5 จังหวัด : จันทบุรี ฉะเชิงเทรา สระแก้ว สมุทรปราการ และระยอง
- ภาคตะวันตก 7 จังหวัด : กาญจนบุรี ประจวบคีรีขันธ์ สมุทรสงคราม นครปฐม สุพรรณบุรี ราชบุรี และเพชรบุรี
- ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 5 จังหวัด : ขอนแก่น นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ และร้อยเอ็ด
กรุงเทพมหานคร 6 โซน : โซนศรีนครินทร์ โซนบูรพา โซนรัตนโกสินทร์ โซนธนบุรีเหนือ โซนธนบุรีใต้ และโซนเจ้าพระยา โดยมีผลการสำรวจดังนี้
1.แหล่งขายผลิตภัณฑ์ยาฟ้าทะลายโจร
จากการสำรวจแหล่งจำหน่ายผลิตภัณฑ์ยาฟ้าทะลายโจร ได้แก่ ร้านขายยา ร้านค้าทั่วไป ร้านสะดวกซื้อ และอื่น ๆ ทั่วประเทศจำนวน 879 แห่ง 527 ตัวอย่าง ครอบคลุม 37 จังหวัด เกี่ยวกับการเข้าถึงผลิตภัณฑ์ยาฟ้าทะลายโจรของผู้บริโภค ทั้งในประเด็นสถานที่จำหน่าย การมีสินค้าจำหน่าย รูปแบบสินค้าที่จำหน่าย ข้อมูลฉลากบนสินค้า (ชื่อ แบบ/ชนิดของยา เลขที่หรือทะเบียนตำรับยา ปริมาณยา และจำนวนที่บรรจุ ราคาต่อหน่วยบรรจุ ปริมาณสารแอนโดรกราโฟไลด์ วัน เดือน ปีที่ผลิตและหมดอายุ การระบุคำสำหรับยาสามัญประจำบ้าน วิธีรับประทาน คำเตือน/ข้อควรระวัง) และประเด็นปัญหาที่พบในพื้นที่ พบว่า ร้านขายยายังคงเป็นแหล่งที่จัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ยาฟ้าทะลายโจรมากถึงร้อยละ 82.8 รองลงมาคือ ร้านสะดวกซื้อ ร้านค้าชุมชน อื่น ๆ เช่น ร้านค้าแผงลอย ร้านถ่ายเอกสาร สถานพยาบาล และผลิตเอง และร้านค้าทั่วไป ดังภาพที่ 1
โดยสถานะสินค้าผลิตภัณฑ์ยาฟ้าทะลายโจร ร้านขายยายังคงมีจำหน่ายถึง ร้อยละ 63.2 และพบว่า ส่วนใหญ่จำหน่ายในรูปแบบกระปุก ซึ่งช่วงสินค้าหมดจะเกิดเป็นช่วงเวลาสั้น ๆ เท่านั้น โดยผลิตภัณฑ์ที่จำหน่ายส่วนใหญ่จะเป็นฟ้าทะลายโจรแบบเม็ดมากที่สุด ร้อยละ 45.04 รองลงมาคือ ผงบด สารสกัดธรรมดา สารสกัดเข้มข้น ลูกกลอน และมีบางส่วนที่ไม่ทราบข้อมูล ตามลำดับดังภาพที่ 2 ซึ่งผู้ขายส่วนใหญ่จะให้คำแนะนำผู้บริโภคเกี่ยวกับการใช้ผลิตภัณฑ์ เช่น ข้อควรระวังในการใช้ผลิตภัณฑ์อย่างต่อเนื่อง หรือควรใช้ยาตามฉลาก เป็นต้น
ในส่วนของฉลากจะพบว่า ผลิตภัณฑ์ยาฟ้าทะลายโจรส่วนใหญ่ร้อยละ 90.9 แสดงฉลากบนผลิตภัณฑ์ และมีเพียงร้อยละ 9.1 ที่เป็นผลิตภัณฑ์ซึ่งไม่มีฉลาก จะพบได้จากการสำรวจในพื้นที่ภาคต่าง ๆ ดังตารางที่ 1
ตารางที่ 1 พื้นที่รายภาคที่สำรวจพบผลิตภัณฑ์ยาฟ้าทะลายโจรที่ไม่มีฉลากบนผลิตภัณฑ์ สำรวจระหว่างวันที่ 1-12 สิงหาคม 2564
ที่ | ภาค | จังหวัด/เขต |
1 | เหนือ | แม่ฮ่องสอน ลำปาง เชียงราย พะเยา เชียงใหม่ ลำพูน และอุตรดิตถ์ |
2 | กลาง | สระบุรี และสิงห์บุรี |
3 | ใต้ | สตูล ปัตตานี สุราษฎร์ธานี และชุมพร |
4 | ตะวันออก | – |
5 | ตะวันตก | ประจวบคีรีขันธ์ และกาญจนบุรี |
6 | ตะวันออกเฉียงเหนือ | บุรีรัมย์ และนครราชสีมา |
7 | กทม. | จตุจักร คลองสาน มีนบุรี คลองสามวา หนองจอก และพระนคร |
ฉลากของยาฟ้าทะลายโจรส่วนใหญ่จะมีข้อมูลแสดงเกี่ยวกับชื่อ เลขที่ หรือทะเบียนตำรับยา ปริมาณยา และจำนวนที่บรรจุ วัน เดือน ปีที่ผลิตและหมดอายุ และข้อควรระวังในการใช้ผลิตภัณฑ์ ทั้งนี้ มีเพียงร้อยละ 22 เท่านั้น ที่ฉลากแสดงปริมาณสารแอนโดรกราโฟไลด์ และมีการระบุคำว่า “ยาสามัญประจำบ้าน” เพียงร้อยละ 56.4
สำหรับราคาเฉลี่ยทั่วประเทศของผลิตภัณฑ์ยาฟ้าทะลายโจร ในรูปแบบต่าง ๆ ที่รวมภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว พบว่า
- แบบผงบด มีราคาเฉลี่ยต่อเม็ดเท่ากับ 2.59 บาท โดยพบว่าภาคตะวันออก ที่จังหวัดจันทบุรี ขายยาฟ้าทะลายโจร ยี่ห้อแอนดร็อกซิลราคาสูงสุด แผงละ 100 บาท (1 แผงมี 10 เม็ด) ซึ่งเฉลี่ยเท่ากับเม็ดละ 10 บาท
- แบบเม็ด มีราคาเฉลี่ยต่อเม็ดเท่ากับ 2.72 บาท โดยพบว่าพื้นที่ กทม. เขตบางขุนเทียน ขายยาฟ้าทะลายโจร ยี่ห้อแอนดร็อกซิลราคาสูงสุด กระปุกละ 280 บาท (30 เม็ด) ซึ่งเฉลี่ยเท่ากับเม็ดละ 9.33 บาท
- แบบสารสกัดธรรมดา ราคาเฉลี่ยต่อเม็ดเท่ากับ 2.99 บาท โดยพบว่าภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จังหวัดสุรินทร์ ขายยาฟ้าทะลายโจร ยี่ห้อฟ้าทะลายโจรแคปซูล ราคาสูงสุด แผงละ 100 บาท (1 แผงมี 10 เม็ด) ซึ่งเฉลี่ยเท่ากับเม็ดละ 10.00 บาท
- แบบสารสกัดเข้มข้น ราคาเฉลี่ยต่อเม็ดเท่ากับ 5.53 บาท โดยพบว่าภาคเหนือ จังหวัดแพร่ ขายยาฟ้าทะลายโจร ยี่ห้อยาแคปซูลสมุนไพรฟ้าทะลายโจรตราสามหมี ราคาสูงสุด แผงละ 150 บาท (1 แผงมี 10 เม็ด) ซึ่งเฉลี่ยเท่ากับเม็ดละ 15.00 บาท
- แบบลูกกลอน ราคาเฉลี่ยต่อหน่วยบริโภคเท่ากับ 1.18 บาท โดยพบว่าพื้นที่ กทม. เขตบางซื่อ ขายยาฟ้าทะลายโจร ยี่ห้อม้าปลาคู่ ราคาสูงสุด กระปุกละ 185 บาท (100 เม็ด) ซึ่งเฉลี่ยเท่ากับเม็ดละ 1.85 บาท รายละเอียดดังตารางที่ 2
จะเห็นได้ว่าจากการสำรวจราคาเฉลี่ยของผลิตภัณฑ์ยาฟ้าทะลายโจรทุกชนิด ที่รวมภาษีมูลค่าเพิ่มแล้วมีราคาสูงกว่าราคากลาง ตามประกาศคณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติ เรื่อง กำหนดราคากลางยาแผนไทย พ.ศ.2558 ที่แคปซูลละ 0.94 บาท (ราคาไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม)
ตารางที่ 2 ราคาตามแบบ/ชนิดของผลิตภัณฑ์ยาฟ้าทะลายโจรที่รวมภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว สำรวจระหว่างวันที่ 1-12 สิงหาคม 2564
นอกจากนี้ ประเด็นปัญหาจากการสำรวจที่พบมากที่สุดเกี่ยวกับยาฟ้าทะลายโจร ที่ขายในท้องตลาดทั่วไป คือ ผลิตภัณฑ์ฟ้าทะลายโจรมีราคาแพงเกินควร ร้อยละ 47.59 ดังตารางที่ 3
ตารางที่ 3 ประเด็นปัญหาเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ยาฟ้าทะลายโจร ที่พบจากการสำรวจระหว่างวันที่ 1-12 สิงหาคม 2564
2.ผู้ที่เคยบริโภคผลิตภัณฑ์ยาฟ้าทะลายโจร
จากการสำรวจผู้บริโภคที่เคยใช้ผลิตภัณฑ์ฟ้าทะลายโจรทั่วประเทศจำนวน 2,074 คน ครอบคลุม 37 จังหวัด พบว่า ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่มีอายุมากกว่า 50 ปี และมีรายได้ต่ำกว่าหรือเท่ากับ 15,000 บาทต่อเดือน โดยวัตถุประสงค์หลักที่ผู้บริโภคเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ยาฟ้าทะลายโจรคือ เพื่อรักษาโรค ร้อยละ 48.9 (เมื่อมีอาการไข้ ไอ ตัวร้อน ท้องเสีย และเจ็บคอ) ต่อมา คือ เพื่อสร้างเสริมภูมิคุ้มกัน ร้อยละ 44.1 ใช้เพื่อรักษาโรคและเสริมภูมิคุ้มกันร้อยละ 6.2 และเพื่อป้องกันโควิด-19 ร้อยละ 0.6
ทั้งนี้ ผลจากการสำรวจจะเห็นได้ว่า ยังมีผู้บริโภคอีกจำนวนหนึ่ง ที่เข้าใจผิดว่าผลิตภัณฑ์ยาฟ้าทะลายโจรสามารถป้องกันหรือเสริมภูมิคุ้มกันของร่างกายในการต้านเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้ ดังภาพที่ 3
ด้านแหล่งที่ผู้บริโภคสามารถหาซื้อผลิตภัณฑ์ฯ ดังกล่าวได้นั้น ส่วนใหญ่ยังคงซื้อได้ตามร้านขายยา ร้านค้าทั่วไป แพลตฟอร์มออนไลน์ และร้านสะดวกซื้อ นอกจากส่วนที่ผู้บริโภคสามารถหาซื้อได้เองแล้ว ยังมีบางส่วนได้รับจัดสรรผลิตภัณฑ์ยาฟ้าทะลายโจรจากโรงพยาบาลรัฐ และปลูกต้นฟ้าทะลายโจร เพื่อนำไว้ใช้บริโภคภายในครัวเรือนเองอีกด้วย ดังภาพที่ 4
ราคาผลิตภัณฑ์ยาฟ้าทะลายโจรที่สำรวจพบว่า มีการปรับราคาเพิ่มขึ้นทั่วประเทศ เฉลี่ยร้อยละ 48.46 จากราคาเดิมที่ผู้บริโภคเคยซื้อเมื่อ 1 เดือนก่อนหน้า เช่น เดิมเคยซื้อที่ราคากระปุกละ 120 บาท (60 แคปซูล) แต่เดือนสิงหาคม 2564 หาซื้อได้ในราคา 160 บาท เพิ่มขึ้น 40 บาท เป็นต้น ซึ่งวิธีการรับประทานยาของผู้บริโภคส่วนใหญ่ ทั้งกลุ่มที่รับประทานเพื่อรักษาโรค บางคนเชื่อว่าเป็นยาบำรุงสุขภาพของผู้สูงวัย และรับประทานเพื่อสร้างภูมิคุ้มกัน จะรับประทานผลิตภัณฑ์ยาฟ้าทะลายโจรหลังอาหารตามคำแนะนำบนฉลาก ผู้บริโภคส่วนใหญ่มีความพึงพอใจและไม่กังวลเกี่ยวกับผลกระทบจากการใช้ผลิตภัณฑ์ฯ เนื่องจากใช้ยาตามวิธีที่แสดงบนฉลากผลิตภัณฑ์ มีผู้บริโภคเพียงบางส่วนเท่านั้นที่มีความกังวลใจ เนื่องจากเกรงว่าจะมีผลต่อร่างกาย หากใช้ผลิตภัณฑ์อย่างต่อเนื่อง
นอกจากนี้ ผู้บริโภคส่วนใหญ่ยังสะท้อนความคิดเห็นที่ตรงกันว่า ราคาขายที่แพงเกินควรของผลิตภัณฑ์ยาฟ้าทะลายโจร ที่ขายตามท้องตลาดนั้น เป็นประเด็นที่มีความสำคัญที่หน่วยงานภาครัฐควรเข้ามาดำเนินการควบคุมราคา รองลงมาคือ รัฐควรส่งเสริมสินค้าภูมิปัญญาชาวบ้าน อย่างการเพาะปลูก แปรรูป และขึ้นทะเบียน ส่วนปัญหาสินค้าปลอม สินค้าโฆษณาเกินจริง และฉลากควรระบุปริมาณสารแอนโดรกราโฟไลด์ ดังตารางที่ 4 โดยผู้บริโภคส่วนใหญ่ ร้อยละ 93.8 เห็นว่า ราคาขายของผลิตภัณฑ์ยาฟ้าทะลายโจรโดยเฉลี่ยที่ประชาชนซื้อไม่ควรเกินแคปซูลละ 1.12 บาท (ราคาที่ยังไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม)
ตารางที่ 4 ประเด็นข้อเสนอแนะจากมุมมองของประชาชนที่มีต่อหน่วยงานรัฐเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ยาฟ้าทะลายโจร สำรวจระหว่างวันที่ 1-12 สิงหาคม 2564
3.ข้อเสนอแนะจาก สอบ. หน่วยงานประจำจังหวัด และเครือข่ายองค์กรผู้บริโภค ที่มีต่อสถานการณ์ผลิตภัณฑ์ยาฟ้าทะลายโจร
- กระทรวงพาณิชย์ควรเข้ามามีบทบาทควบคุมราคาจำหน่ายของผลิตภัณฑ์ยาฟ้าทะลายโจรในท้องตลาดให้มีราคาขายไม่เกินแคปซูลละ 1.12 บาท (ราคาที่ยังไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) ซึ่งราคาดังกล่าวมีความใกล้เคียงกับราคากลาง ตามประกาศคณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติ เรื่อง กำหนดราคากลางยาแผนไทย พ.ศ.2558 ที่แคปซูลละ 0.94 บาท (ราคาที่ยังไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม)
- กระทรวงพาณิชย์และพาณิชย์จังหวัดควรเข้มงวดกวดขันในการตรวจสอบและดำเนินคดีกับผู้ขายที่กักตุนสินค้าเพื่อเก็งกำไร และสินค้าที่โฆษณาเกินจริง
- รัฐควรมีมาตรการตรวจสอบผลิตภัณฑ์ให้มีปริมาณสารแอนโดรกราโฟไลด์ตามที่โฆษณาแก่ผู้บริโภค เพื่อเป็นการคุ้มครองสิทธิผู้บริโภค
- กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงสาธารณสุขควรส่งเสริมสินค้าฟ้าทะลายโจรที่เป็นภูมิปัญญาชาวบ้าน ทั้งในด้านการเพาะปลูก และการขึ้นทะเบียนยาอย่างถูกต้อง
- รัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรปรับรูปแบบการสื่อสารให้มีประสิทธิภาพ เพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับเป้าหมายการใช้ผลิตภัณฑ์ยาฟ้าทะลายโจรให้แก่ประชาชน เนื่องจากยังมีประชาชนบางส่วนที่เข้าใจว่าฟ้าทะลายโจรสามารถเสริมภูมิคุ้มกันและป้องกันเชื้อไวรัส COVID-19 ได้