สภาองค์กรของผู้บริโภค รวมพลัง สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ผลักดันให้รถยนต์ทุกคันที่ได้ติดตั้งถุงลมนิรภัยยี่ห้อทาคาตะ (Takata) ที่พบบกพร่องเป็นอันตราย ต้องได้เปลี่ยนถุงลมใหม่เพื่อความปลอดภัย หลังจากประกาศขอความร่วมมือศูนย์บริษัทรถยนต์ 8 บริษัท ตั้งแต่เดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา แต่ยังพบอุปสรรคปัญหาการร้องเรียนจากการเปลี่ยนถุงลมไม่ครบถ้วน และปัญหาเจ้าของรถยนต์จำนวนมากยังไม่นำรถมาเข้ารับบริการ
เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2565 ที่ผ่านมา สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภค ได้นำเจ้าหน้าที่สภาองค์กรของผู้บริโภค เข้าพบ ธสรณ์อัฑฒ์ ธนิทธิพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) เพื่อเข้าร่วมถกประเด็นปัญหา “สินค้าปลอดภัย” โดยยกกรณีการเปลี่ยนถุงลมนิรภัยยี่ห้อทาคาตะที่ได้ติดตั้งไปให้กับรถยนต์หลายรุ่นหลายยี่ห้อที่ขายในประเทศไทยระหว่าง ปี 2513 – 2516 ที่ก่อให้เกิดการบาดเจ็บและเสียชีวิตของผู้ขับขี่จากสาเหตุเศษโลหะจากถุงลมระเบิดกระเด็นใส่
ด้วยสาเหตุที่เกิดจากความบกพร่องของถุงลมนิรภัยยี่ห้อนี้ ซึ่งทั้งสองฝ่ายร่วมประสานพลังที่จะขจัดอุปสรรคปัญหาเพื่อให้รถยนต์ประมาณ 620,000 คัน ที่ยังมีถุงลมยี่ห้อนี้ติดตั้งอยู่ ได้รับการเปลี่ยนถุงลมโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย ตามที่ได้มีข้อตกลงไว้กับบริษัทรถยนต์ที่เป็นเจ้าของรถยนต์เหล่านั้น
อย่างไรก็ตาม ระหว่างช่วงรณรงค์สาธารณะให้ประชาชนที่เป็นเจ้าของรถยนต์ 8 ยี่ห้อ ที่ออกขายระหว่างปี 2513-2516 ที่ได้ติดตั้งถุงลมชำรุดยี่ห้อดังกล่าว เข้ารับการบริการเปลี่ยนถุงลมใหม่โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ก็ได้มีการร้องเรียนเข้ามาที่สภาองค์กรของผู้บริโภคเป็นจำนวนมากถึงอุปสรรคของการเปลี่ยนถุงลมนิรภัย
โดย ชนัญชิดา ตัณฑะผลิน เจ้าหน้าที่ฝ่ายคุ้มครอง และ พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค กล่าวว่า การร้องเรียนส่วนมากมาจากเจ้าของรถยนต์ 3ยี่ห้อ ได้แก่ โตโยต้า นิสสัน และบีเอ็มดับบลิว ซึ่งประเด็นหลัก ๆ ของปัญหา เช่น การปฏิเสธไม่รับเปลี่ยนถุงลมคู่หน้าทั้งคู่โดยไม่คิดค่าบริการ โดยศูนย์รถยนต์อ้างว่าการเปลี่ยนโดยไม่มีค่าใช้จ่ายนั้น ทำได้เฉพาะถุงลมด้านที่นั่งคนขับที่ไม่จำเป็นต้องมีการรื้อถอนภายใน แต่การเปลี่ยนถุงลมด้านผู้โดยสารเบาะหน้ามีความซับซ้อนกว่า เพราะต้องมีค่ารื้อถอนคอนโซลหน้าในการดำเนินการติดตั้งถุงลมชุดใหม่สำหรับเบาะผู้โดยสาร
อีกปัญหาหนึ่งที่มีการร้องเรียนเข้ามามาก คือ เจ้าของรถยนต์พบว่ารถยนต์ของตนอยู่ในข่ายติดตั้งถุงลมบกพร่อง แต่พอนำรถเข้ารับบริการ ก็ถูกปฎิเสธจากศูนย์รถยนต์ โดยอ้างว่าไม่พบว่ารถขอผู้ร้องอยู่ในระบบที่ตรวจสอบได้ ซึ่งฝ่ายคุ้มครองฯ ได้มีการขอให้ศูนย์รถยนต์ออกหนังสือยืนยันสิทธิ์การเปลี่ยนฟรีเฉพาะฝั่งคนขับเท่านั้นจำนวนและปัญหาการร้องเรียนเหล่านี้ ชนัญชิดากล่าวว่า สะท้อนให้เห็นว่าผู้บริโภคยังต้องพบกับอุปสรรคและปัญหาของการเข้ารับการเปลี่ยนถุงลมที่เป็นสินค้าที่บกพร่องและอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้
ประเด็นความอันตรายของการขับขี่รถยนต์ที่มีถุงลมชำรุดบกพร่องยี่ห้อนี้ ผศ.นพ.สมิทธิ์ ศรีสนธ์ หัวหน้าสาขาวิชานิติเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี และนายกสมาคมแพทย์นิติเวชแห่งประเทศไทย ได้ให้ความเห็นว่าเป็นเรื่องเร่งด่วนที่จำเป็นต้องมีการแก้ไขอย่างจริงจังเพราะเป็นเหตุที่อาจถึงแก่ชีวิต นพ.สมิทธิ์ เป็นผู้ชันสูตรพลิกศพผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางรถยนต์ ที่ยืนยันได้ว่าสาเหตุการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุรถยนต์เมื่อเร็วๆ นี้ เกิดจากชิ้นส่วนที่กระเด็นออกมาจากถุงลมนิรภัย
“เหมือนลูกกระสูญเหล็กขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 2 เซนติเมตร กระเด็นเข้าได้หลายตำแหน่งตั้งแต่หน้าถึงหน้าอก สามารถทะลุได้ถึงกระดูกสันหลัง ซึ่งทำให้เสียชีวติทันทีแม้จะชนไม่แรง” นพ.สมิทธิ์กล่าว
จากกรณีดังกล่าวได้มีการเผยแพร่ความรู้ให้กับแพทย์นิติเวช ถึงการสังเกตอาการบาดเจ็บบางอย่างที่ไม่เคยเห็นมาก่อน ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ได้เผยแพร่ระดับโลกมากนัก จึงไม่มีการร้บรู้กันอย่างกว้างขวาง หลังจากนั้นก็ได้มีการแบ่งปันประสบการณ์ระหว่างแพทย์นิติเวช จึงพบว่า มีกรณีเดียวกันของการบาดเจ็บเสียชีวิตที่เกิดจากเศษโลหะเข้าไปที่ร่างกายของผู้ขับขี่และผู้โดยสารเช่นกัน
นพ.สมิทธิ์ได้อ้างถึงกรณีเศษโลหะจากถุงลมกระเด็นเข้าไปที่กรามผู้ประสบอุบัติเหตุจนทำให้เกือบเสียชีวิต หากเศษนั้นเข้าไปฝังที่สมอง ส่วนอีกกรณีหนึ่งพบเศษโลหะกระเด็นทะลุหลอดคอด้านหลัง ซึ่งในกรณีนี้ หากแพทย์ไม่ได้รับความรู้มาก่อน อาจจำเป็นต้องไปตรวจหาเศษวัสดุจากถุงลมนิรภัยจากรถที่มีอุบัติเหตุจึงจะยืนยันได้
ด้วยความตระหนักถึงความรุนแรงที่คาดไม่ถึงจากถุงลมนิรภัยที่ควรเป็นอุปกรณ์เพื่อการช่วยชีวิต นพ. สมิทธิ์จึงเน้นย้ำความสำคัญที่ต้องให้ผู้ทีมีรถยนต์ที่ติดตั้งถุงลมชำรุดดังกล่าว ควรต้องรีบมานำรถมาเปลี่ยนถุงลมที่ไม่ปลอดภัยออกทันที โดยแนะนำว่าผู้ประกอบบริษัทรถยนต์ 8 บริษัท อาจจะต้องลงทุนซื้อพื้นที่โฆษณา เพื่อประชาสัมพันธ์ผ่านสำนักข่าว สื่อมวลชน เพื่อสร้างความเข้าใจให้แก่เจ้าของรถรุ่นดังกล่าวทราบถึงอันตรายที่อาจเกิดขึ้นต่อชีวิตได้จากอุบัติเหตุธรรมดา
ในขณะเดียวกัน เลขาธิการ สคบ. ธสรณ์อัฑฒ์ ระบุว่า สคบ.ได้มีการทำบันทึกความเข้าใจ (Memorandum Of Understanding : MOU) ร่วมกับ กรมขนส่งทางบกในนามสมาคมยานยนต์ไทย เพื่อหาแนวทางในการเรียกคืนรถยนต์รุ่นที่มีปัญหาและ สคบ. แจ้งว่า ตัวเลขของรถยนต์ที่ต้องเข้ารับการเปลี่ยนถุงลมนิรภัยของผู้ประกอบการธุรกิจรถยนต์ 8 บริษัท ซึ่งขณะนี้ มีรถยนต์อีกประมาณ 620,000 คัน ที่ยังไม่ได้เข้ามารับบริการเปลี่ยนถุงลม
อย่างไรก็ตาม สคบ. ได้มีข้อสรุปเบื้องต้นเกี่ยวกับมาตรการการจัดการประเด็นดังกล่าวด้วยการเรียกประชุมผู้ประกอบการธุรกิจรถยนต์ 8 บริษัท ซึ่งแต่ละบริษัทได้รับทราบข้อมูลเรื่องถุงลมอันตรายจากต่างประเทศในช่วง ปี 2013 – 2016 ซึ่งแต่ละบริษัทได้ทำการชี้แจงแนวทางการป้องกันแก้ปัญหาโดย แบ่งออกเป็น 2 กรณี ดังนี้
- แนวทางแก้ปัญหาของผู้ประกอบการธุรกิจรถยนต์ 7 บริษัท ได้แก่ บีเอ็มดับบลิว นิสัน โตโยต้า มิตซูบิชิ มาสด้า เชฟโรเลต และฟอร์ด ยกเว้นบริษัทฮอนด้า โดย การเตรียมความพร้อมในการเปลี่ยนถุงลมนิรภัยให้กับรถรุ่นที่มีปัญหาของแต่ละบริษัท การกระจายข่าวเตรียมการไปยังศูนย์บริการของแต่ละบริษัท และสาขาบริการ เพื่อเตรียมอะไหล่ในการเปลี่ยนถุงลมนิรภัยที่มีปัญหา มีมาตรการในการกระจายข่าวการเรียกคืนรถยนต์ที่มีปัญหา เช่น ส่งหนังสือไปยังผู้ถือครองรถยนต์รุ่นที่มีปัญหา กระจายข่าวผ่านสื่อโซเชียลต่างๆ จัดจ้างแต่ละเพจลงกระจายข่าว จัดทำแผ่นพับกระจายข่าวสาร จัดทำแคมเปญคูปองต่าง ๆ เพื่อดึงดูดให้คนสนใจเข้ารับการเปลี่ยนมากขึ้น ขอร่วมมือไปยังเต้นท์รถมือสองในการตรวจสอบรุ่นรถที่มีปัญหาโดยทำการจัดการสัมมนาเต้นท์รถมือสอง
- แนวทางแก้ปัญหาของบริษัทฮอนด้า ที่พบกรณีมีผู้เสียชีวิตจากถุงลมนิรภัย ชี้แจงกรณีเคสที่เกิดขึ้นแก่ สคบ. โดยแจ้งว่าได้มีการส่งหนังสือเตือนไปยังผู้ถือครองรถยนต์ที่เกิดเหตุด้วยกันทั้งหมด 3 ครั้ง แต่ทุกครั้งผู้คือครองก็ไม่ได้มีการติดต่อไปยังศูนย์เพื่อทำการเปลี่ยนถุงลมนิรภัยแต่อย่างใด ภายหลังจากเกิดเหตุทางบริษัทได้ทำการเยียวยาให้กับครอบครัวของผู้ที่เสียชีวิตแล้ว ในส่วนของมาตรการเรียกคืนรถยนต์ที่พบปัญหาถุงลมนิรภัยนั้นฮอนด้าได้ใช้มาตรการเช่นเดียวกับอีก 7 บริษัท
โดยสรุป คณะกรรมการสินค้าไม่ปลอดภัยมีมติเห็นชอบที่จะให้ บริษัทรถยนต์ 8 บริษัทส่งรายงานความคืบหน้ามาตรการการเปลี่ยนถุงลมนิรภัยอันตราย พร้อมทั้งรายงานทุกทุกรอบเดือน
ด้านเลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภค ได้มีข้อเสนอแนะต่อ สคบ. เกี่ยวกับมาตรการการผลักดันให้มีการเปลี่ยนถุงลมนิรภัยบกพร่องอันตรายออกจากรถทุกคันใน 2 ประเด็น คือ
- ขอให้ปรับปรุงคณะกรรมการด้านความปลอดภัยโดยให้มีตัวแทนผู้บริโภค
- ขอให้ทำแผน หรือ หาแนวทางที่จะทำให้สามารถเปลี่ยนถุงลมอันตรายออกจากรถทุกคันในประเทศไทย ซึ่งขณะนี้จำนวนรถที่ยังไม่ได้รับการเปลี่ยนถุงลมอยู่ที่ 620,000 คัน