สภาองค์กรของผู้บริโภค (สอบ.) ร่วมกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ค้าน (ร่าง) ข้อบังคับจริยธรรมเสริมสวยของแพทยสภา ชี้หลักสูตรระยะสั้นเพื่อรับรองแพทย์เสริมความงาม กระทบความปลอดภัยผู้บริโภค
วันที่ 9 มิถุนายน 2565 “หลักสูตรศัลยกรรมเสริมความงามห้องแถว ไม่ใช่หน้าที่แพทยสภา” คือ หัวข้อร้อนในการแถลงข่าวที่ สอบ.ร่วมกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ จัดขึ้นเพื่อคัดค้าน (ร่าง) ข้อบังคับจริยธรรมเสริมสวยของแพทยสภา ซึ่งมีเนื้อหาเน้นการรับรองหลักสูตรเสริมความงามระยะสั้น 3 เดือน และเปิดโอกาสให้มีการอบรมแพทย์ตามหลักสูตรนี้ในคลินิกเสริมสวยได้
ในขณะเดียวกัน การแถลงข่าวยังสะท้อนภาพมาตรฐานการแพทย์และจริยธรรมด้านเสริมความงามที่ลดลงอย่างเห็นได้ชัด จากจำนวนที่เพิ่มขึ้นของเรื่องร้องเรียนของผู้ที่ได้รับความเสียหายจากการรับบริการเสริมสวยทางการแพทย์ต่อองค์กร จึงมีความกังวลต่อผลกระทบด้านลบจากการ “อบรมผ่าตัดเสริมสวยระดับห้องแถว” ต่อผู้บริโภค
นอกจากนั้น ร่างข้อบังคับฉบับนี้ ยังขาดการทำประชาพิจารณ์กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่ง สอบ.ส่งหนังสือคัดค้านถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (รมว.สธ.) ไปแล้วในวันที่ 20 พฤษภาคม 2565 (อ่านข่าวฉบับเต็มได้ที่ : https://www.tcc.or.th/20052565-news_surgical/) เมื่อแพทยสภาจัดทำ (ร่าง) ข้อบังคับแพทยสภาว่าด้วยการรักษาจริยธรรมแห่งวิชาชีพเวชกรรมเกี่ยวกับการเสริมสวย พ.ศ. …. และเสนอให้ รมว.สธ. ในฐานะสภานายกพิเศษ แพทยสภา ลงนาม
ผศ.ดร.นพ.สุธี รัตนมงคลกุล คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ กล่าวถึงเหตุผล 6 ข้อ ที่ต้องคัดค้าน (ร่าง) ข้อบังคับดังกล่าว คือ 1) ข้อบังคับฯ อาจทำให้เกิดผลประโยชน์ทับซ้อน เนื่องจากก่อนหน้านี้ราชวิทยาลัยจะเป็นผู้รับรองแหล่งฝึกแพทย์ ส่วนแพทยสภาจะเป็นผู้ขึ้นทะเบียนและออกใบรับรองให้แพทย์ที่ผ่านการฝึกแล้ว แต่หากข้อบังคับนี้กำหนดให้แพทยสภาทำหน้าที่เป็นผู้ออกใบรับรองให้ทั้งแหล่งฝึกสอนและแพทย์ด้วย จะทำให้เมื่อมีผู้ร้องเรียนปัญหาเกี่ยวกับแหล่งฝึกสอน แพทยสภาจะกลายเป็นทั้งผู้ถูกร้องเรียนและผู้ตัดสินคดีความ 2) การดำเนินการหลักสูตรระยะสั้นเกิดขึ้นก่อนการออกข้อบังคับที่ควบคุม
3) แม้จะใช้ชื่อว่า “ข้อบังคับแพทยสภาว่าด้วยการรักษาจริยธรรมแห่งวิชาชีพเวชกรรม” แต่เนื้อหาในข้อบังคับนี้พูดถึงเรื่องการอบรมวิชาชีพทั้งสิ้น ซึ่งแตกต่างจากข้อบังคับจริยธรรมที่ผ่านมา จึงอาจจะตั้งข้อสังเกตได้ว่า มีเจตนาหลบเลี่ยงการออกข้อบังคับว่าด้วยการอบรมระยะสั้นหรือไม่ 4) ควรทำประชาพิจารณ์ด้วย 5) มาตรฐานการฝึกอบรมแพทย์และครูแพทย์เป็นอย่างไร และ 6) บทบาทหน้าที่แพทยสภา คือ สร้างมาตรฐานของแพทย์ให้ดูแลประชาชนได้ แต่เมื่อออกข้อบังคับในลักษณะนี้มาแล้วจะดูแลประชาชนได้อย่างไร
สำหรับข้อเสนอเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าว ผศ.ดร.นพ.สุธี ระบุว่าแพทยสภาควรยุติกิจกรรมใด ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการฝึกอบรมผ่าตัดระยะสั้นเสริมความงามไว้ก่อน และควรทบทวนความจำเป็นในระบบสาธารณสุขของประเทศไทย ตามความเป็นจริงในปัจจุบันว่า ประเทศไทยและประชาชนคนไทยต้องการแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางสาขาใดมากน้อยตามลำดับของจำนวนผู้ป่วยจริง นอกจากนี้ ต้องสร้างมาตรฐานคุณภาพการรักษาด้านเสริมความงาม และควรปล่อยหน้าที่การฝึกอบรมแพทย์หลังปริญญาเป็นของราชวิทยาลัย ให้ดำเนินการตามมาตรฐานสากล
ด้าน พล.ต.ท.นพ.อรรถพันธ์ พรมณฑารัตน์ นายแพทย์ศัลยกรรม และกรรมการแพทยสมาคม แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับ (ร่าง) ข้อบังคับฯ ดังกล่าวว่า แม้จะระบุว่าเป็นเรื่องจริยธรรม แต่เนื้อหาข้างในกลับระบุถึงคุณสมบัติของผู้ที่จะเข้ามาเป็นแพทย์เสริมสวยมากกว่า จึงเกิดความรู้สึกขัดแย้งกันระหว่างชื่อและเนื้อหา อีกทั้งในเรื่องการรับรองหลักสูตรการอบรมระยะสั้นสำหรับการเสริมความงามที่ระบุใน (ร่าง) ข้อบังคับฯ นั้น มองว่า ไม่เห็นด้วยกับการฝึกอบรมแพทย์เสริมความงามด้วยหลักสูตรระยะสั้น ที่ภาคเอกชนได้นำเสนอในที่ประชุมคณะกรรมการร่างหลักสูตรระยะสั้นว่า การอบรมเสริมจมูกพื้นฐานเพียง 3 เดือนก็พอเพียงและปลอดภัยแล้ว มากไปกว่านั้นการที่สามารถฝึกอบรมในคลินิกได้ก็อาจไม่ปลอดภัยกับประชาชน เนื่องจากไม่มีหลักฐานทางการแพทย์ใด ๆ มารองรับหรือพิสูจน์เลย
พล.ต.ท.นพ.อรรถพันธ์ กล่าวว่า การฝึกอบรมแพทย์เฉพาะทางหนึ่งคนจะต้องมีความเคร่งครัด เพื่อให้ผลผลิตที่ออกมายืนยันกับประชาชนได้ว่าปลอดภัย อีกทั้งในระดับสากล แพทย์ก็จะต้องได้รับการรับรองมาตรฐานสากลสําหรับแพทยศาสตร์ศึกษาพื้นฐานของสหพันธ์แพทยศาสตรศึกษาโลก (World Federation for. Medical Education: WFME) เพื่อรับรองความน่าเชื่อถือสำหรับชาวต่างชาติที่เข้ามารักษาในไทย
ทั้งนี้ โดยปกติแพทย์จะต้องเรียนรู้ ศึกษาและปฏิบัติกับร่างกายคนไข้เพื่อให้รู้จักอวัยวะทั่วร่างกาย จากนั้นจะต้องสามารถวินิจฉัยโรคและวางแผนการรักษาให้ถูกต้อง ซึ่งแพทย์จะต้องเรียนพื้นฐานวิชาอายุรกรรมและวิชาศัลยกรรมอย่างน้อย 3 ปี เพื่อให้จบหลักสูตรแพทยศาสตร์บัณฑิต และหากแพทย์คนใดต้องการต่อยอดเฉพาะทางต่าง ๆ ก็จะต้องเรียนเพิ่มเติมอีก เช่น หากจะต่อเฉพาะทางด้านศัลยกรรม ต้องมีพื้นฐานอย่างน้อย 3 – 4 ปี และต่อด้วยศัลยกรรมพลาสติกอีก 2 ปี เป็นต้น
“จะเห็นว่ากว่าจะมาเป็นแพทย์หนึ่งคน หรือการผ่าตัดคนไข้หนึ่งคน จะต้องใช้ระยะเวลาในการเรียนพอสมควร เพื่อให้เกิดความชำนาญ ซึ่งการผ่าตัดต่าง ๆ ก็อาจมีโรคแทรกซ้อน รวมถึงผลข้างเคียงได้ตลอดเวลา แพทย์จึงจำเป็นต้องเรียนรู้พื้นฐานให้แน่นมากเพียงพอ เปรียบเหมือนบ้านที่จะแข็งแรงได้ต้องตอกเสาเข็ม และการตอกเสาเข็มต้องถูกต้องตามหลักวิศวกรรม กระทั่งสร้างความมั่นใจให้ผู้บริโภคได้ว่าการทำหัตถกรรมทั้งหลายมีความปลอดภัย มีคุณภาพ ได้มาตรฐานจริง ๆ ไม่ใช่ว่าอยู่ ๆ ก็มาเป็นหมอผ่าตัดหัวใจเลย” พล.ต.ท.นพ.อรรถพันธ์ กล่าว
ทั้งนี้ นายแพทย์ศัลยกรรม และกรรมการแพทยสมาคม ยังฝากไปยังผู้บริโภคที่จะเข้ารับบริการเสริมความงามว่า ผู้บริโภคต้องให้ความใส่ใจทุกครั้งเวลาที่จะเสริมความงาม โดยควรถามแพทย์ว่าจบแพทยศาสตร์บัณฑิต หรือจบเฉพาะทางทางใด เพื่อสร้างความมั่นใจก่อนที่จะเสริมความงาม แต่ทั้งนี้ หากแพทย์ไม่ตอบก็ไม่ควรรักษาด้วย และต้องบอกต่อว่าคลินิกดังกล่าวไม่มีหลักฐานเป็นที่ประจักษ์ หรือไม่สามารถสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคได้
อีกเรื่องที่สำคัญ คือ การผ่าตัดจะมีผลข้างเคียงหรืออาจมีโรคแทรกซ้อนเกิดขึ้นได้ ซึ่งแพทย์ทุกคนก็จะต้องเรียนรู้วิธีแก้ไข ดังนั้น ผู้บริโภคจะต้องสอบถาม รวมทั้งพูดคุยถึงวิธีการรักษาก่อนผ่าตัด และก่อนที่จะเซ็นหนังสือยินยอมให้ผ่าตัด
นอกจากนี้ นายแพทย์ศัลยกรรม และกรรมการแพทยสมาคม ระบุว่า เมื่อช่วงเช้ามีการจัดประชุมของแพทยสภา ซึ่งได้ทราบข้อมูลว่าจะยกเลิกคณะทำงานพิจารณาหลักสูตรระยะสั้นนี้ แต่แนวทางใหม่จะเป็นอย่างไร คงจะต้องติดตามกันต่อไป
ขณะที่ สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการ สอบ. ระบุว่า ก่อนหน้านี้ สอบ.ส่งจดหมายถึง รมว.สธ. เพื่อคัดค้านข้อบังคับดังกล่าว ด้วยเหตุผลว่าเนื้อหาในข้อบังคับเน้นรับรองหลักสูตรการอบรมระยะสั้น ที่ต่ำกว่ามาตรฐานสากล อาจทำให้เกิดผลกระทบต่อผู้บริโภคจำนวนมาก และกลายเป็นภาระต่อระบบบริการสาธารณสุข นอกจากนี้ ยังไม่มีกระบวนการประชาพิจารณ์รับฟังความคิดเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ จึงตั้งข้อสังเกตว่าการดำเนินการดังกล่าวอาจจะทำให้สิ่งที่ผิดกฎหมายกลายเป็นถูกกฎหมายหรือไม่
สารี กล่าวต่ออีกว่า สอบ.มีข้อเสนอต่อเรื่องดังกล่าว 5 ข้อดังนี้ 1) แพทยสภาควรมีส่วนร่วมในการเพิ่มแรงจูงใจในการผลิตแพทย์ ในสาขาที่ขาดแคลนในระบบบริการสาธารณสุข 2) ต้องสร้างความเป็นธรรมในการกระจายแพทย์ในพื้นที่ต่าง ๆ โดยเฉพาะความพอเพียงของแพทย์ในพื้นที่ต่างจังหวัด 3) บทบาทในการควบคุมและกำกับการโฆษณาบริการเสริมความงามต่าง ๆ เช่น แพทย์ผู้ให้บริการโฆษณาคลินิกเสริมความงามเอง ซึ่งอาจจะผิดกฎหมาย 4) สัญญาที่เป็นธรรมในการให้บริการ ผู้บริโภคควรทราบว่าแพทย์ที่ตัวเองรับบริการนั้นผ่านการเรียนหลักสูตรศัลยกรรมตกแต่งโดยตรง หรือเป็นแพทย์ทั่วไปที่ผ่านการอบรมระยะสั้น และ 5) ควรมีกองทุนชดเชยความเสียหายให้กับผู้บริโภคที่ได้รับผลกระทบ
“ในช่วงที่ผ่านมา องค์กรผู้บริโภครับเรื่องร้องเรียนที่เกี่ยวกับการเข้ารับบริการเสริมความงาม 118 เรื่อง และเมื่อลงรายละเอียดจะพบว่า ปัญหาที่ถูกร้องเรียนมากที่สุดคือเรื่องสัญญาไม่เป็นธรรม และอันดับต่อมา คือ เรื่องการได้รับความเสียหายจากการใช้บริการ เช่น ทำจมูก พบว่ามีหนองไหลออกมาจากโพรงจมูก การยกกระชับริมฝีปากทำให้ปากเบี้ยว หน้าชา การดูดไขมัน การแปลงเพศแล้วพบรอยรั่วที่ทวารหนัก การผ่าตัดหน้าอกแล้วลืมผ้าก็อซทิ้งไว้ คำถาม คือ หากลดมาตรฐานการอบรมลงอีก จะเกิดความเสียหายต่อผู้บริโภคมากขึ้นหรือไม่” เลขาธิการ สอบ.กล่าว