สภาผู้บริโภค หนุนกรมการขนส่งทางบก ยึดการบังคับใช้ประกาศกรมการขนส่งทางบกที่บังคับการติดตั้งระบบห้ามล้อที่มีระบบป้องกันการล็อกของล้อ (ระบบเบรกแบบเอบีเอส : ABS) ตามกำหนดเดิม ทั้งรุ่นที่มีกระบอกสูบมากกว่า 125 ซีซี และต่ำกว่า 125 ซีซี ในวันที่ 1 มกราคม 2567 นี้ ระบุ หากเลื่อนออกไปอีกจะทำให้ผู้บริโภค ผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ หรือผู้ใช้รถใช้ถนนต้องเสี่ยงอันตราย และภาครัฐจะไม่บรรลุแผนแม่บทด้านความปลอดภัยของรถจักรยานยนต์ที่ต้องการลดอัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน ภายในปี 2570
จากการที่กรมการขนส่งทางบกได้ออกประกาศกรมการขนส่งทางบก เรื่อง กำหนดคุณสมบัติ คุณลักษณะ สมรรถนะ และกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการรับรองแบบระบบห้ามล้อสำหรับรถจักรยานยนต์ พ.ศ. 2564 เพื่อบังคับการติดตั้งระบบห้ามล้อที่มีระบบป้องกันการล็อกของล้อ (ระบบเบรกแบบเอบีเอส : ABS) ในรถจักรยานยนต์ที่มีความจุกระบอกสูบเกินกว่า 125 ลูกบาศก์เซนติเมตร และให้ติดตั้งระบบห้ามล้อร่วม (ระบบเบรกแบบซีบีเอส : CBS) หรือระบบห้ามล้อที่มีระบบป้องกันการล็อกของล้อระบบใดระบบหนึ่งหรือทั้งสองระบบ ในรถจักรยานยนต์ขนาดต่ำกว่า 125 ลูกบาศก์เซนติเมตร โดยจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 มกราคม 2567 ที่จะถึงนี้นั้น
วันนี้ (7 กรกฎาคม 2566) คงศักดิ์ ชื่นไกรลาศ ผู้ช่วยเลขานุการอนุกรรมการด้านขนส่งและยานพาหนะ สภาผู้บริโภค ระบุว่า จากการประชุมหารือแนวทางการบังคับใช้ประกาศฯ ของกรมการขนส่งทางบกดังกล่าวที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2566 สมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยได้แจ้งว่าขอเลื่อนการบังคับติดตั้งระบบห้ามล้อร่วม (CBS) สำหรับรถจักรยานยนต์ที่มีขนาดกระบอกสูบต่ำกว่า 125 ลูกบาศก์เซนติเมตร ออกไปเป็นการบังคับใช้ในวันที่ 1 มกราคม 2569 และอ้างว่าอยู่ระหว่างการพัฒนาและวิจัยสำหรับการออกแบบระบบห้ามล้อให้เป็นไปตามข้อกำหนดของประกาศฯ
แต่สภาผู้บริโภคเห็นว่าไม่ควรมีการเลื่อนการบังคับใช้ออกไปอีก เนื่องจากจะทำให้ผู้ที่ขับขี่รถจักรยานยนต์ รวมถึงผู้ที่ใช้รถใช้ถนนต้องอยู่กับความเสี่ยงของรถจักรยานยนต์ที่ไม่มีอุปกรณ์ป้องกันความปลอดภัยออกสู่ตลาดเพื่อจำหน่ายต่อไปอีกสองปีกว่า ซึ่งการไม่ติดตั้งอุปกรณ์ดังกล่าวจะเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่ก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้บริโภคจากมาตรฐานรถจักรยานยนต์ที่ไม่ปลอดภัย และจะทำให้ตัวเลขอุบัติเหตุบนท้องถนนสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะกระทบต่อแผนแม่บทด้านความปลอดภัยของรถจักรยานยนต์ ของกระทรวงคมนาคม ที่ได้กำหนดเป้าหมายการลดอัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนให้ได้ 12 คนต่อหนึ่งแสนประชากร ภายในปี 2570
ดังนั้น สภาผู้บริโภค จึงมีหนังสือถึงกรมการขนส่งทางบก ขอให้เร่งบังคับใช้ประกาศตามกำหนดเดิมและให้มีมาตรการสนับสนุนการติดตั้งระบบห้ามล้อที่มีระบบป้องกันการล็อกของล้อ หรือระบบเบรกเอบีเอส สำหรับรถจักรยานยนต์ใหม่ทุกคันที่เข้าสู่ตลาด โดยมีข้อเสนอแนะดังต่อไปนี้ 1. การกำกับติดตามให้ผู้ผลิตรถจักรยานยนต์ ติดตั้งระบบเบรก ABS ตามกรอบเวลาเดิมที่ประกาศฯ กำหนด 2. การกำหนดให้รถจักรยานยนต์ที่มีขนาดกระบอกสูบต่ำกว่า 125 ลูกบาศก์เซนติเมตร ต้องติดตั้งระบบเบรกแบบเอบีเอสเช่นเดียวกับรถจักรยานยนต์มีขนาดกระบอกสูบเกินกว่า 125 ลูกบาศก์เซนติเมตร
3. การออกมาตรการสร้างแรงจูงใจให้แก่ผู้ผลิตและจำหน่ายรถจักรยานยนต์เพื่อติดตั้งระบบเบรกแบบเอบีเอส อาทิ การให้สิทธิประโยชน์ด้านภาษี และการอุดหนุนทางด้านการเงิน และ 4. การเร่งกำหนดหลักสูตรการพัฒนาทักษะของผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ เพื่อให้การขับขี่มีมาตรฐานมีคุณภาพและความปลอดภัย
“ระบบเบรกแบบเอบีเอสจำเป็นต้องถูกติดตั้งจากต้นทางการผลิตไม่สามารถติดตั้งเพิ่มเติมภายหลังได้ ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ของภาครัฐที่ต้องกำกับดูแลให้รถจักรยานยนต์ที่จำหน่ายในประเทศไทยทุกรุ่นติดตั้งระบบเบรกแบบเอบีเอส ควบคู่ไปกับการพัฒนาทักษะของผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ เพื่อการมีมาตรฐานรถจักรยานยนต์ที่มีคุณภาพและความปลอดภัยจะช่วยลดโอกาสในการเกิดอุบัติเหตุทางถนน รวมถึงลดจำนวนผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตลงได้อย่างยั่งยืน” คงศักดิ์ ระบุ
ผู้ช่วยเลขานุการอนุกรรมการด้านขนส่งฯ ระบุอีกว่า ระบบเบรกแบบเอบีเอสได้รับการพิสูจน์แล้วว่าสามารถปกป้องชีวิตของผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ได้ โดยในคณะทำงานที่ 29 ว่าด้วยการประสานข้อกำหนดทางเทคนิคยานยนต์ (the World Forum for Harmonization of Vehicle Regulations Working Party – WP.29) ได้กำหนดให้ระบบเบรกแบบเอบีเอสเป็น 1 ใน 8 มาตรการหลักที่ยานพาหนะทั้งหมดควรมี อีกทั้งในกฎเรื่องยานพาหนะขององค์การสหประชาชาติ (the UN Vehicles Regulation) ได้แนะนำให้ใช้ข้อกำหนดที่มีอยู่ในเรื่องระบบเบรกแบบเอบีเอสกับยานพาหนะทั้งหมดด้วย