สภาองค์กรของผู้บริโภค
สภาองค์กรของผู้บริโภค (สภาผู้บริโภค) เกิดจากการรวมตัวขององค์กรผู้บริโภค ตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 46 และตามพระราชบัญญัติการจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค พ.ศ. 2562 มีสถานะองค์กรเป็นนิติบุคคล เป็นตัวแทนผู้บริโภคที่มีความเป็นอิสระ และมีวัตถุประสงค์เพื่อคุ้มครองผู้บริโภคในทุกด้าน
วิสัยทัศน์
“เป็นกลไกผลักดันนโยบายเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคให้ได้รับความเป็นธรรม”
ยุทธศาสตร์ 5 ปี (พ.ศ.2567-2570) สภาองค์กรของผู้บริโภค
พันธกิจ
- ส่งเสริมให้ผู้บริโภคคุ้มครองสิทธิตนเองได้ และสภาองค์กรของผู้บริโภคเป็นกลไกเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค
- ผลักดันนโยบาย กฎหมาย และมาตรการ เพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค
- สนับสนุนองค์กรสมาชิกและองค์กรของผู้บริโภคให้มีประสิทธิภาพและได้รับความเชื่อถือ
- สร้างวัฒนธรรมและมุมมองใหม่ว่าการคุ้มครองผู้บริโภคเป็นประโยชน์กับทุกฝ่าย
- สนับสนุนให้มีการบริโภคที่ยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
- สื่อสารและสร้างเครือข่ายกับทุกภาคส่วนเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค
ยุทธศาสตร์
- คุ้มครองและพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภค
- เสนอแนะและผลักดันนโยบายเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค
- สร้างความเข้มแข็งให้กับสมาชิกและองค์กรของผู้บริโภค
- การสื่อสารสาธารณะเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค
- พัฒนาการดำเนินงานและบริหารจัดการสภาองค์กรของผู้บริโภค
ที่มาของรายได้
- ทุนประเดิมเบื้องต้นที่รัฐบาลจ่ายอุดหนุนจำนวน 350 ล้านบาท สำหรับดำเนินการให้องค์กรของผู้บริโภครวมตัวกันอย่างทั่วถึงและเกิดพลังอย่างแท้จริง
- เงินอุดหนุนทั่วไปที่รัฐบาลจัดสรรให้โดยตรงเป็นรายปี
- เงินค่าใช้จ่ายและค่าป่วยการ ที่ศาลสั่งให้ผู้ประกอบธุรกิจชำระแก่สภาผู้บริโภค
- เงินค่าธรรมเนียมหรือค่าบริการในการดำเนินงานของสภาผู้บริโภค
กว่าจะเป็นสภาองค์กรของผู้บริโภค
23 ปี เส้นทางสภาองค์กรของผู้บริโภค การต่อสู้ของประชาชนเพื่อให้มีตัวแทนผู้บริโภคระดับประเทศ
พ.ศ.2540
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 มาตรา 57 ระบุว่า สิทธิของผู้บริโภคย่อมได้รับการคุ้มครองตามที่กฎหมายบัญญัติ ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นของเจตนารมณ์ที่ให้มีการจัดตั้ง “องค์กรอิสระของผู้บริโภค” ไว้ในกฎหมายแม่บทของประเทศไทย
พ.ศ.2550
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 มาตรา 61 บัญญัติรับรองสิทธิของบุคคลในฐานะผู้บริโภค มีสิทธิรวมตัวกันเพื่อพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค ซึ่งเป็นการยืนยันเจตนารมณ์อย่างต่อเนื่องที่จะให้มีองค์กรอิสระของผู้บริโภคกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ
พ.ศ.2552
ประชาชน 13,000 คนเข้าชื่อเสนอร่างกฎหมายองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค แต่ท้ายที่สุด รัฐบาลในขณะนั้นยุบสภา ทำให้ร่างกฎหมายนี้ตกไป
พ.ศ.2560
ประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 มาตรา 46 รับรองสิทธิของประชาชนที่จะรวมกันจัดตั้งองค์กรของผู้บริโภค ให้เป็นองค์กรที่เป็นอิสระ และเป็นหน้าที่ของรัฐที่จะต้องสนับสนุนด้านการเงิน เพื่อให้องค์กรของผู้บริโภคที่จัดตั้งเกิดพลังในการคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภค
พ.ศ.2561
วันที่ 5 มิถุนายน 2561 คณะรัฐมนตรีเห็นชอบหลักการร่างกฎหมายตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 มาตรา 46 โดยใช้ชื่อกฎหมายว่า “สภาองค์กรผู้บริโภคแห่งชาติ” ตามที่เครือข่ายองค์กรผู้บริโภคเสนอ ที่ต้องการให้มีสภาเดียว และเป็นตัวแทนของผู้บริโภคที่เป็นทางการ โดยส่งร่างกฎหมายดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเพื่อตรวจแก้
คณะกรรมการกฤษฎีกาตั้งคณะพิเศษขึ้น เพื่อตรวจแก้ร่างกฎหมาย เปลี่ยนเนื้อหา และชื่อกฎหมายใหม่ เป็น “พ.ร.บ.การจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค” โดยแก้ไขหลักการที่ให้มีสภาองค์กรผู้บริโภคแห่งชาติสภาเดียว เป็นให้เกิดได้หลายสภา พร้อมกับให้ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีและผู้ว่าราชการจังหวัดต่าง ๆ เป็นนายทะเบียนรับจดแจ้งสถานะองค์กรของผู้บริโภค
พ.ศ.2562
วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2562 ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เห็นชอบให้ออกกฎหมาย “พ.ร.บ.การจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค พ.ศ…..” ด้วยคะแนนเสียงเอกฉันท์ 159 เสียง งดออกเสียง 3 เสียง และไม่ลงคะแนนเสียง 1 เสียง
วันที่ 22 พฤษภาคม 2562 พ.ร.บ.การจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค พ.ศ.2562 ถูกประกาศในราชกิจจานุเบกษา มีผลบังคับใช้ในวันที่ 20 กรกฎาคม 2562
พ.ศ.2563
วันที่ 8 ตุลาคม 2563 องค์กรของผู้บริโภคที่ผ่านการจดแจ้งสถานะจากทางการจำนวน 152 องค์กรร่วมกันเข้าชื่อยื่นหนังสือต่อปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีในฐานะนายทะเบียนกลาง แสดงตนตามกฎหมายเป็นผู้เริ่มก่อการจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค
วันที่ 9 ธันวาคม 2563 ราชกิจจานุเบกษาประกาศจัดตั้ง “สภาองค์กรของผู้บริโภค” ให้สาธารณชนรับทราบ เพื่อทำหน้าที่เป็นตัวแทนของผู้บริโภคในทุกด้าน
ในทุก ๆ ปี สภาองค์กรของผู้บริโภค จะจัดประชุมองค์กรสมาชิกและผู้บริโภคทั่วไปที่สนใจ อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง เพื่อรายงานผลการทำงาน และรับฟังความคิดเห็น ข้อเสนอแนะ ที่เป็นประโยชน์กับการคุ้มครองผู้บริโภคในประเทศไทย