ภาคประชาชนด้านสุขภาพ และ FTA WATCH บุกกระทรวงการต่างประเทศ คัดค้าน ‘ดอน’ เตรียมชง CPTPP เข้า ครม. ส่อเอื้อนายทุน กลัวซ้ำรอยความตกลง JTEPA
20 ตุลาคมที่ผ่านมา เครือข่ายเฝ้าระวังธุรกิจสุรา พร้อมด้วยเครือข่ายรณรงค์ป้องกันภัยแอลกอฮอล์ เครือข่ายสร้างเสริมสุขภาพเยาวชน เครือข่ายความมั่นคงทางอาหารชุมชนเมือง และ FTA watch ยื่นจดหมายถึงดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (กนศ.) ที่กำลังผลักดันอย่างหนักเพื่อให้ไทยยื่นหนังสือแสดงเจตจำนงเข้าร่วมความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) และจะเสนอให้คณะรัฐมนตรีอนุมัติเห็นชอบในสัปดาห์หน้านั้น
คำรณ ชูเดชา ผู้ประสานงานเครือข่ายเฝ้าระวังธุรกิจสุรา กล่าวว่า รองนายกฯ ไม่สนใจข้อท้วงติงของหน่วยราชการ ภาควิชาการ สภาองค์กรของผู้บริโภค และภาคประชาสังคมอื่น รวมถึงข้อเสนอแนะหลักของคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ที่ว่า การเจรจาเข้าร่วม CPTPP ของรัฐบาลควรมีกรอบเจรจาที่เกิดจากการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนด้วย โดยเฉพาะประเด็นอ่อนไหว ซึ่งหากเจรจาไม่ได้ตามที่ระบุไว้ก็ไม่ควรเข้าร่วม นอกจากนี้ ยังปรับลดประเด็นจากสีแดงเป็นสีเหลือง สีเหลืองเป็นสีเขียว โดยไม่คำนึงถึงผลกระทบอย่างแท้จริง
คำรณ กล่าวอีกว่า ช่วงก่อนการลงนาม JTEPA* กระทรวงการต่างประเทศเคยปฏิเสธอย่างแข็งขันว่า ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการค้าของเสียอันตราย แต่เมื่อภาคประชาสังคมตรวจสอบและพบข้อเท็จจริงเรื่องนี้ จึงยอมรับถึงข้อผิดพลาดในการเจรจาความตกลง JTEPA เนื่องจากความตกลงที่ญี่ปุ่นทำกับประเทศอื่น ๆ ในอาเซียน เช่น ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย ในช่วงเวลาใกล้ ๆ กันนั้นไม่มีเนื้อหาที่ยอมรับขยะเป็นสินค้าเช่นไทย
และยังพบว่า ขณะนั้นมีการแต่งตั้งคณะบุคคลจากหน่วยงานราชการไทยในการเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งไม่ได้ให้ความสำคัญกับผู้แทนจากหน่วยงานด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ แต่กลับให้ความสำคัญกับผู้นำจากภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมมากกว่า ดังนั้น ในการเจรจาความตกลงระหว่างประเทศที่ผ่านมาจึงไม่มีการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมที่จะเกิดขึ้นกับประเทศไทย ทั้งด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ซึ่งการลงนาม JPETA ควรเป็นบทเรียนสำคัญของกระทรวงการต่างประเทศเพื่อไม่ให้เดินผิดพลาดเช่นที่ผ่านมาอีก
นอกจากนี้ กระทรวงการต่างประเทศจะต้องปรับเปลี่ยนทั้งทัศนคติและพฤติกรรมการทำงาน โดยตระหนักถึงผลเสียของการเจรจาที่จะเกิดตามมาต่อประชาชนคนไทยให้มาก และพึงมีวิสัยทัศน์ที่กว้างไกลต่อการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนไทยให้มากกว่าที่ผ่านมา รวมทั้งหยุดผลักดันให้ไทยไปเข้า CPTPP ทันที เนื่องจากสถานการณ์ของความตกลงดังกล่าวมีบริบทที่เปลี่ยนไป ซึ่งรัฐบาลต้องศึกษาใหม่ให้รอบคอบและไม่ควรเร่งรัดดำเนินการด้วยข้อมูลเก่า
อย่างไรก็ตาม ภาคประชาชนมีความกังวลในประเด็นนโยบายด้านสาธารณสุขและสุขภาพที่จะได้รับผลกระทบจาก CPTPP โดยเฉพาะการเปิดตลาดเครื่องมือแพทย์มือสอง ระบบสิทธิบัตรและระบบขึ้นทะเบียนยา ผลกระทบต่อการออกมาตรการควบคุมยาสูบและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพื่อให้สอดคล้องกับข้อกำหนดของ CPTPP ภูมิปัญญาท้องถิ่นและสมุนไพร ความหลากหลายทางชีวภาพ การแบ่งปันผลประโยชน์ ผลกระทบจากการบังคับเข้าเป็นภาคีสมาชิกอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ (UPOV1991) การขอยกเว้นกำหนดเป็นข้อสงวนการใช้กลไกเอกชนฟ้องรัฐในการออกมาตรการด้านสาธารณสุข (ยาสูบ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และการใช้ CL)
ประเด็นเหล่านี้จะสร้างผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อสังคมไทย ในทำนองเหล้าจะถูก ยาจะแพง พืชเมล็ดพันธ์ุจะถูกผูกขาด
* ในอดีตกระทรวงการต่างประเทศเคยสร้างความผิดพลาดอย่างใหญ่หลวงในการเจรจาความตกลง JTEPA ไทย – ญี่ปุ่น จากของเสียอันตรายที่อยู่ในพิกัดภาษีศุลกากรของ JTEPA เช่น ขี้แร่ ขี้ตะกอน เศษอื่น ๆ ที่ได้จากการผลิตเหล็กหรือเหล็กกล้า ตะกอนของน้ำมันเบนซินชนิดเติมสารตะกั่ว ตะกอนของสารกันเครื่องยนต์เคาะที่มีตะกั่ว เถ้าและกากที่ได้จากการเผาขยะเทศบาล ของเสียทางเภสัชกรรม ของเสียจากสถานพยาบาล ผลิตภัณฑ์ที่เหลือจากอุตสาหกรรมเคมีหรือจากอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกัน ขยะเทศบาล ตะกอนจากน้ำเสียและของเสียอื่น ๆ ของเสียที่เป็นของเหลวกัดล้างโลหะ น้ำมันไฮดรอลิก น้ำมันเบรกและของเหลวกันการเยือกแข็ง ของเสียอื่น ๆ จากอุตสาหกรรมเคมีหรือจากอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกันตั้งแต่ปี 2551 ที่ประเทศไทยลงนามทำความตกลง JTEPA ถือเป็นความตกลงฯ ฉบับแรกที่แสดงอย่างชัดเจนถึงการเปิดเสรีให้เคลื่อนย้ายข้ามแดนสำหรับของเสียอันตรายทุกประเภท ซึ่งนิยามของเสียนั้นหมายรวมถึงของเสียที่รีไซเคิลได้และที่รีไซเคิลไม่ได้ (นำเข้ามาทิ้ง) โดยกำหนดเป็นพิกัดศุลกากรอย่างเป็นทางการ ซึ่งมีผลให้ต้องเปิดเสรีต่อมาในความตกลงฉบับต่าง ๆ จนประเทศไทยมีสภาพใกล้เคียงกับถังขยะโลก
#สภาองค์กรของผู้บริโภค #NoCPTPP #ไม่เอาCPTPP #ผู้บริโภค #ประชาชน #เครือข่ายเฝ้าระวังธุรกิจสุรา #ftawatch #กระทรวงการต่างประเทศ