Getting your Trinity Audio player ready... |

สภาผู้บริโภคยื่น กสทช. ชะลอประมูลคลื่นความถี่ หวั่นผลกระทบต่อผู้บริโภค ชี้ ประมูลคลื่นความถี่ครั้งนี้อาจกลายเป็นการประเคนผลประโยชน์ให้ผู้ให้บริการรายใหญ่
จากการที่สภาผู้บริโภคยื่นหนังสือถึงกรรมาธิการ (กมธ.) พัฒนาเศรษฐกิจ สภาผู้แทนราษฎร เพื่อขอให้ตรวจสอบการประมูลคลื่นความถี่ ที่อาจเกิดการผูกขาดในอนาคต เมื่อ 6 มีนาคม 2568 ที่ผ่านมานั้น
วันนี้ (12 มีนาคม 2568) สภาผู้บริโภคและเครือข่ายผู้บริโภค ได้เข้ายื่นหนังสือต่อคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (คณะกรรมการ กสทช.) อีกคณะหนึ่งเพื่อคัดค้านการประมูลคลื่นความถี่ที่กำลังจะเกิดขึ้นในไตรมาส 2/2568 โดยมี พล.อ.สิทธิชัย มากกุญชร ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำ ประธาน กสทช. เป็นตัวแทนรับมอบหนังสือ
สุภิญญา กลางณรงค์ ประธานอนุกรรมการด้านการสื่อสาร โทรคมนาคม และเทคโนโลยีสารสนเทศ สภาผู้บริโภค เปิดเผยว่า สภาผู้บริโภคมีความกังวลอย่างยิ่งต่อการตัดสินใจของ กสทช. ที่มีมติให้จัดประมูลคลื่นความถี่พร้อมกันถึง 6 ย่านความถี่ และทราบว่าในวันที่ 12 มีนาคม 2568 ที่ กสทช. จะมีการจัดประชุมประกาศหลักเกณฑ์การประมูลคลื่นความถี่ ดังนั้น สภาผู้บริโภคจึงมายื่นหนังสือคัดค้านก่อนการประชุมดังกล่าว เพื่อเรียกร้องให้ชะลอการประมูล พร้อมทั้งทบทวนหลักเกณฑ์ เพื่อคุ้มครองผู้บริโภค
“การมายื่นคัดค้านถึง กสทช. เนื่องจากสภาผู้บริโภคมองว่าการประมูลครั้งนี้อาจส่งผลกระทบต่อการแข่งขันในตลาดโทรคมนาคม โดยเฉพาะเมื่อมีผู้เข้าร่วมประมูลเพียงสองรายหลัก อีกทั้งการประมูลดังกล่าวไม่มีหลักประกันที่ชัดเจนว่าผู้บริโภคจะได้รับประโยชน์สูงสุด ไม่ว่าจะเป็นด้านคุณภาพบริการ ราคา หรือความคุ้มครองจากภาครัฐ และอาจนำไปสู่การผูกขาดที่กระทบต่อผู้บริโภคในระยะยาว” สุภิญญา ระบุ
นอกจากนี้ สุภิญญา ได้ให้ความเห็นว่า การประมูลคลื่นความถี่ครั้งนี้อาจเป็นโอกาสสำหรับบริษัทโทรคมนาคมรายใหญ่ที่จะทำให้ได้รับผลประโยชน์อย่างมาก ขณะที่อนาคตของบริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ NT ยังคงไม่แน่นอน อีกทั้ง การออกหลักเกณฑ์การประมูลความถี่ดังกล่าวมีลักษณะคล้ายกับการประเคนมากกว่าการประมูลแข่งขัน ซึ่งอาจสวนทางกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ที่กำหนดให้ กสทช. มีบทบาทในการจัดการประมูลคลื่นความถี่เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประเทศและประชาชน พร้อมทั้งสร้างสมดุลระหว่างผลประโยชน์ของภาครัฐและความเป็นธรรมสำหรับผู้ประกอบการ โดยมีเงื่อนไขการประมูลที่กระตุ้นการแข่งขัน รวมถึงต้องมีมาตรการที่ชัดเจนในการคุ้มครองผู้บริโภคหลังการประมูลเพื่อประโยชน์ของประชาชนและผู้ใช้บริการในอนาคต
ทั้งนี้ เหตุหลักที่สภาผู้บริโภคเสนอให้มีการชะลอการประมูลคลื่นความถี่ 2 ประเด็นหลัก ดังนี้
1. การประมูลคลื่นความถี่ครั้งนี้อาจไม่มีการแข่งขันที่แท้จริง เนื่องจากมีผู้ให้บริการรายใหญ่เพียงสองรายเท่านั้น คือ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด หรือ ทรู กับ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส ซึ่งเกิดจากการที่ กสทช. อนุญาตให้มีการควบรวมกิจการในธุรกิจโทรคมนาคมก่อนหน้านี้ ผลการวิจัยจาก 101 Public Policy Think Tank พบว่า ผู้บริโภคที่ใช้บริการจากสองค่ายนี้ต้องจ่ายค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 5.9% หรือราว ๆ 100 บาทต่อคนต่อเดือน เมื่อเปรียบเทียบกับค่าบริการก่อนและหลังการรวมกิจการ ซึ่งแพ็กเกจราคาถูกที่สุดในปี 2565 ที่ราคา 299 บาท/เดือน หายไป และกลายเป็น 399 บาทต่อเดือน แทน ดังนั้น การประมูลคลื่นความถี่ในครั้งนี้ที่มีทั้งหมด 6 ย่านความถี่ จะส่งผลกระทบต่อคุณภาพและราคาของบริการที่ผู้บริโภคต้องรับในอนาคต ซึ่งไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้
2. การประมูลคลื่นความถี่ครั้งนี้ไม่มีการกำหนดเพดานราคาค่าบริการสูงสุดที่เหมาะสมกับปริมาณและคุณภาพการบริการที่จะเก็บจากผู้บริโภค รวมถึงผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบโครงข่ายเสมือน (MVNO) ที่ต้องแข่งขันในตลาดเดียวกัน ซึ่งหมายความว่า ไม่มีการรับประกันว่า ผู้บริโภคหรือผู้ประกอบการรายเล็กจะได้รับความคุ้มครองอย่างเป็นธรรมจากการประมูลครั้งนี้ในตลาดที่มีผู้ประกอบการรายใหญ่เหลือแค่สองรายเท่านั้น
นอกจากนี้ ได้มีเสียงสะท้อนจากตัวแทนเครือข่ายผู้บริโภค ให้ความเห็นถึงการประมูลครั้งนี้ที่มีผู้เข้าร่วมประมูลเพียงสองรายหลัก จะส่งผลให้ผู้บริโภคไม่มีทางเลือกในการเลือกบริการที่ดีที่สุด เนื่องจากอาจเกิดการผูกขาดในตลาด อีกทั้ง ได้สะท้อน ปัญหาหลังเกิดการควบรวม ที่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพบริการในหลายด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของการลดคุณภาพบริการและการเพิ่มค่าใช้จ่ายสำหรับผู้บริโภค ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ ผู้บริโภคมีความรู้สึกว่าเมื่อมีการควบรวมแล้ว คุณภาพของบริการลดลง เช่น สัญญาณอินเทอร์เน็ตที่แย่ลง และการต้องจ่ายเงินมากขึ้นสำหรับบริการที่มีคุณภาพต่ำกว่าเดิม ซึ่งทำให้ผู้บริโภคต้องจ่ายเงินมากขึ้นในขณะที่คุณภาพบริการกลับลดลง
ตัวแทนเครือข่ายผู้บริโภค เสริมว่า “ต้องการให้หน่วยงานกำกับดูแลดำเนินมาตรการที่เข้มงวดเพื่อปกป้องสิทธิของผู้บริโภค โดยเฉพาะในประเด็นการควบรวมกิจการ ซึ่งควรมีการตรวจสอบอย่างรอบคอบเพื่อให้แน่ใจว่าการควบรวมดังกล่าวก่อให้เกิดประโยชน์ต่อผู้บริโภค ไม่ใช่เพียงเพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มนายทุนขนาดใหญ่ และ ยังมีข้อเรียกร้องให้ยกเลิกการควบรวม เพื่อคงความหลากหลายของผู้ให้บริการและเปิดโอกาสให้ผู้บริโภคสามารถเลือกบริการที่ดีที่สุดได้”


