
เจาะลึกคำพิพากษาคดีจำคุกสองปีไม่รอลงอาญา ต่อ กสทช. พิรงรอง รามสูต ในการทำหน้าที่คุ้มครองผู้บริโภค นักวิชาการด้านกฏหมายมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ตั้งคำถามด้านวิชาการต่อการพบสิ่งผิดปกติในคำพิพากษาที่ชี้ว่าไม่มีการนำข้อต่อสู้ของจำเลยมาหักล้างการกล่าวหาของโจทก์ มีการลงโทษที่รุนแรงโดยปราศจากการแสดงเหตุผล และมีเหตุทำให้เชื่อว่าการฟ้องของโจทก์อาจเป็นการฟ้องปิดปาก
สามนักวิชาการด้านกฏหมายมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ประกอบด้วย ผศ.ดร. รณกรณ์ บุญมี อาจารย์ประจำศูนย์กฏหมายอาญา ศ.ดร. ทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ อดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล ผู้อำนวยการศูนย์นิติศาสตร์ ตั้งวงแกะรอยจากเนื้อหาคำพิพากษา เทียบเคียงคำให้การพยานชั้นไต่สวน และกฏหมายอื่น ๆ ประกอบ พบหนึ่งในสิ่งผิดปกติที่น่าตกใจคือ การเลือกบันทึกคำให้การพยานปากเอกของโจทก์ที่ให้การปรักปรำ กสทช. พิรงรอง “คือผู้สั่งการ” และละเว้นการบันทึกคำให้การพยานฝ่ายจำเลยที่โดนอ้างถึงโดยยืนยันว่าเหตุการที่ตนถูกอ้างว่าตนเองเป็นผู้บอกว่าจำเลยเป็นผู้สั่งการนั้น “ไม่เคยเกิดขึ้น”
ในการบันทึกคำพิพากษาที่ยาว 25 หน้า ไม่ปรากฏคำให้การดังกล่าวหรือแม้แต่การแก้ต่างใด ๆ ของจำเลย มีแต่การบันทึกเฉพาะข้อกล่าวหาของโจทก์ และความเห็นของศาลอย่างละ 12 หน้าเท่า ๆ กัน โดยมีการกล่าวถึงข้อแก้ต่างของจำเลยในหน้าสุดท้ายเพียงสั้น ๆ ว่า เป็นข้อแก้ต่างที่ลอย ๆ ไม่มีน้ำหนักในการโต้แย้งข้อกล่าวหา จึงพิพากษาลงโทษจำคุกสองปีไม่รอลงอาญา โดยไม่มีคำอธิบายเหตุผลในการลงโทษขั้นรุนแรง
โดยภาพรวมสรุปได้ว่า นี่อาจเป็นเหตุที่ทำให้เชื่อว่าการฟ้องของโจทก์อาจเป็นการฟ้องปิดปาก ที่จะสร้างบรรทัดฐานใหม่ให้ผู้มีหน้าที่กำกับดูแลปล่อยเกียร์ว่างกับการคุ้มครองประโยชน์ประชาชน หากเสี่ยงต่อการสร้างความเสียหายแก่เอกชน

ผศ.ดร. ปริญญา ได้แสดงหลักฐานที่ปรากฏบนคำพิพากษา และเอกสารคำให้การพยานชั้นไต่สวนต่อสื่อมวลชนและประชาชนผู้เข้าร่วมรับฟังในเวทีวิชาการ โดยชี้ให้เห็นถึงสิ่งที่ปรากฏในคำพิพากษาขัดแย้งกับคำให้การของพยานจำเลยชั้นไต่สวนที่ยืนยันว่า ได้สอบถามเจ้าหน้าที่เลขาอนุกรรมการว่าไม่ได้รับคำสั่งใด ๆ จากจำเลยให้เร่งรัดการทำหนังสือที่เป็นข้อพิพาท แต่ชื่อของพยานคนนั้นกลับปรากฏในคำพิพากษายืนยันว่า จำเลยเป็นผู้สั่งการจริง
“จึงมีคำถามว่าได้มีคำสั่งจริงหรือไม่เมื่อพยานให้การไม่สอดคล้องกัน” ดร. ปริญญากล่าว “ทำให้เกิดคำถามว่า ในคำพิพากษามีทั้งรมิดาและกรกนก (พยาน) ยืนยันว่าพิรงรองสั่งผ่านชาญณรงค์ได้อย่างไร ในเมื่องกรกนกยืนยันว่าชาญณรงค์บอกว่าไม่ได้สั่งไม่ได้บอก หนักกว่านั้นผมก็ไปดูคำให้การของชาญณรงค์ ชาญณรงค์บอกว่า ในการทำหนังสือฉบับที่สองที่มีการระบุชื่อโจทก์ (บริษัททรูไอดี) ‘ไม่ได้มีการจัดพิมพ์กระดาษแล้วไปให้ผู้บังคับบัญชาลงนาม แล้วข้าพเจ้าไม่ได้ทำหนังสือฉบับนี้ แล้วข้าพเจ้าไม่เคยกล่าวกับนางรมิดาหรือนางกรกนกว่าจำเลยเป็นผู้สั่งการหรือเร่งรัดให้รีบลงนามแต่ประการใด’ ”
ด้วยคำให้การดังกล่าวทำให้ ผศ.ดร. ปริญญาตั้งคำถามว่า ทำไมประเด็นสำคัญเช่นนี้ถึงไม่ถูกนำมาพิจารณาถือเป็นข้อต่อสู้เพื่อหักล้างข้อกล่าวหาตามฟ้อง แต่กลายเป็นข้อต่อสู้ไม่มีน้ำหนักลอย ๆ ได้อย่างไร
“ผมไม่บอกว่าจำเลยถูกหรือผิด” ผศ.ดร. ปริญญาเน้นย้ำ “แต่ในแง่พยานหลักฐานบอกแต่เพียงว่า รมิดากับกรกนกให้การยืนยันกับศาลว่าจำเลยเป็นคนสั่งผ่านชาญณรงค์ ทั้ง ๆ ที่กรกนกบอก ชาญณรงค์ ไม่ได้บอก และชาญณรงค์ก็ยืนยันโดยที่ผู้พิพากษาทั้งสองก็เซ็นเอกสารนี้” “เป็นคำให้การยืนยันข้อเท็จจริงของชาญณรงค์ ที่ทำให้เห็นว่าพยานขัดแย้งกัน ผมจึงสงสัยว่าทำไมจึงมีการรับฟังแต่ปากคำของรมิดา”
อำนาจ กสทช. เรื่อง OTT กับข้อถกเถียงทางกฎหมาย
ในประเด็นการกำกับดูแลกิจการ OTT (Over-the-Top) ในมุมมองของ ผศ.ดร. ปริญญา ระบุว่า ศาลพิจารณาว่าบริการของทรูไอดีเป็น OTT ซึ่งไม่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และไม่จำเป็นต้องขอใบอนุญาต อย่างไรก็ตาม มีข้อสังเกตว่า พ.ร.บ.การประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2551 กำหนดให้กิจการโทรทัศน์ต้องได้รับใบอนุญาต ไม่ว่าการออกอากาศจะใช้ระบบใดก็ตาม โดยไม่ได้กล่าวถึงบริการ OTT อย่างชัดเจน
คำถามจึงเกิดขึ้นว่ากิจการของทรูไอดีเข้าข่ายกิจการโทรทัศน์ตามกฎหมายหรือไม่ หากเข้าข่าย กสทช. อาจมีอำนาจกำกับดูแลได้มากกว่าที่ศาลพิจารณา นอกจากนี้ ทรูไอดีมีการนำเนื้อหาจากโทรทัศน์ปกติไปเผยแพร่ผ่านแพลตฟอร์มของตน พร้อมทั้งแทรกโฆษณา ซึ่งเป็นสิ่งที่อุตสาหกรรมโทรทัศน์ภาคปกติดำเนินการอยู่ภายใต้กฎระเบียบที่เข้มงวดการที่ทรูไอดีสามารถดำเนินการดังกล่าวได้โดยไม่ต้องขอใบอนุญาต อาจก่อให้เกิดความได้เปรียบทางการแข่งขันเมื่อเทียบกับผู้ให้บริการโทรทัศน์รายอื่น
“การที่ทรูไอดีบอกว่าตัวเองเป็น OTT จึงยังไม่มีหลักเกณฑ์ควบคุม อาจไม่ถูกต้องนัก เนื่องจากการประกอบการของเขาเข้าข่ายการเป็นกิจการโทรทัศน์ ถ้าดูไปตามกฎหมายกิจการโทรทัศน์ ไม่ว่าเผยแพร่วิธีใดก็ต้องได้รับอนุญาต” ผศ.ดร. ปริญญา ตั้งข้อสังเกต
ในขณะที่ ผศ.ดร. รณกรณ์ แสดงความคิดเห็นว่า ปัญหาหลักในคดีนี้คือ กสทช. มีอำนาจกำกับดูแล OTT หรือไม่ ซึ่งเป็นประเด็นที่ยังไม่มีความชัดเจนทางกฎหมาย เนื่องจากปัจจุบัน OTT ยังไม่ถูกกำหนดให้ต้องขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ ตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์ พ.ศ. 2551 และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง แต่ขณะเดียวกัน กสทช. มีอำนาจตามมาตรา 27 ของ พ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ พ.ศ. 2553 ที่ให้สิทธิกำกับดูแลกิจการโทรคมนาคมเพื่อคุ้มครองผู้บริโภค
ดังนั้น การที่จำเลย คือ กสทช. พิรงรอง มีการประชุมและออกหนังสือแจ้งเตือนผู้ประกอบการโทรทัศน์ให้ปฏิบัติตามแนวทางของ กสทช. อาจเป็นความพยายามในการกำกับดูแลเพื่อให้เกิดความชัดเจนในอุตสาหกรรมสื่อดิจิทัล มากกว่าที่จะเป็นการใช้อำนาจโดยมิชอบ
สร้างรายงานเท็จหรือเพียงแก้ไขข้อมูลให้ครบถ้วน
หนึ่งในข้อกล่าวหาจำเลยในคดีนี้ คือ การเปลี่ยนแปลงเนื้อหารายงานการประชุม ผศ.ดร. รณกรณ์ชี้ว่า แม้ศาลจะกล่าวถึงเรื่องนี้ แต่กลับไม่มีการฟ้องร้องในประเด็นดังกล่าวโดยตรง คำถามคือ การแก้ไขรายงานประชุมเป็นการบิดเบือนข้อเท็จจริง หรือเป็นการแก้ไขให้ข้อมูลถูกต้องครบถ้วน
ขณะที่เมื่อพิจารณา ลำดับเหตุการณ์และการประชุมของ กสทช. พบว่าการดำเนินการของจำเลย เป็นไปตามขั้นตอนและกระบวนการทางกฎหมาย ดังนี้
- 16 กุมภาพันธ์ 2566 – การประชุมคณะอนุกรรมการพิจารณาอนุญาตด้านกิจการโทรทัศน์ ครั้งที่ 3/2566 มีการหารือเรื่อง OTT โดยมติที่ประชุมไม่ได้ระบุชื่อทรูไอดี แต่มีการพูดถึงแพลตฟอร์มที่อาจต้องเข้าระบบการกำกับดูแล
- 24 กุมภาพันธ์ 2566 – กสทช. ออกหนังสือแจ้งเตือนไปยัง ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรทัศน์ 127 ราย ว่ามีการนำเนื้อหาไปเผยแพร่บนแพลตฟอร์มที่ไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งหนังสือนี้ไม่ได้ระบุชื่อทรูไอดี
- 27 กุมภาพันธ์ 2566 – กสทช. จัดประชุมร่วมกับผู้ประกอบการโทรทัศน์เพื่อชี้แจงเกี่ยวกับแนวทางการกำกับดูแลว่าต้องการให้ผู้รับใบอนุญาตดำเนินการอะไร
- 2 มีนาคม 2566 – การประชุมคณะอนุกรรมการพิจารณาอนุญาตด้านกิจการโทรทัศน์ ครั้งที่ 4/2566 จำเลยได้ถามฝ่ายเลขานุการว่าเหตุใดจึงไม่มีการระบุชื่อทรูไอดีในหนังสือแจ้งเตือนเนื่องจากหากไม่ระบุอาจทำให้ผู้ให้บริการโทรทัศน์เกิดความสับสน
- 3 มีนาคม 2566 – กสทช. ออกหนังสือใหม่ที่มีการระบุชื่อทรูไอดี ว่าเป็นผู้ประกอบการที่ยังไม่ได้รับใบอนุญาต (28 กุมภาพันธ์ 2566 – มีการร่างหนังสือและส่งถึงผู้รับใบอนุญาต 127 ราย ซึ่งศาลเชื่อว่าเป็นการร่างหนังสือภายใต้คำสั่งของจำเลย)
คำถามคือ การที่จำเลยสั่งให้ฝ่ายเลขานุการร่างหนังสือโดยระบุชื่อทรูไอดีและพูดในที่ประชุมว่าจะต้องระบุประโยค “ทรูไอดีเป็นผู้ประกอบการที่ยังไม่ได้รับอนุญาตประกอบกิจการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์” เป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบจริงหรือ หรือเป็นเพียงการตั้งคำถามในฐานะกรรมการที่ต้องการความชัดเจนในกระบวนการกำกับดูแล
ด้าน ศ.ดร. ทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ อดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ตั้งคำถามถึง การแก้ไขรายงานการประชุมย้อนหลังที่เป็นอีกหนึ่งข้อกล่าวหาที่สำคัญในคดีนี้ว่า ศาลพิจารณาว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการสร้างเอกสารที่อาจทำให้เกิดความเข้าใจผิด แต่ข้อเท็จจริงที่ปรากฏคือ การประชุมครั้งก่อนหน้ามีการพูดถึงทรูไอดีจริง เพียงแต่ไม่ได้มีการบันทึกไว้อย่างครบถ้วน เมื่อประธานที่ประชุมสอบถามว่าทำไมเนื้อหาส่วนนี้ไม่ถูกบันทึก จึงมีการเพิ่มเติมข้อมูลให้ตรงกับข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น สิ่งนี้เป็นเพียงการแก้ไขเพื่อให้ข้อมูลครบถ้วน หรือเป็นการบิดเบือนข้อเท็จจริงกันแน่คำถามนี้เป็นหัวใจสำคัญของคดี การแก้ไขรายงานการประชุมที่บันทึกตกหล่น หรือไม่ครบ ไม่ใช่การปลอมแปลงเอกสาร แต่เป็นการทำให้ข้อมูลสมบูรณ์ขึ้น ศาลควรพิจารณาความผิดในแง่นี้อย่างรอบคอบ
สอดคล้องกับ ผศ.ดร. ปริญญา ที่ตั้งข้อสังเกตถึงประเด็นจากคำพิพากษาเกี่ยวกับรายงานการประชุมที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นเท็จ ที่ศาลพิจารณาว่ามีการแก้ไขรายงานการประชุมเพื่อให้สอดคล้องกับวาระที่ไม่มีการกล่าวถึงจริงในที่ประชุม โดยระบุว่า เรื่องนี้สามารถพิสูจน์ได้ง่ายมากผ่านบันทึกเสียงของการประชุม หากพบว่าข้อมูลถูกบันทึกไม่ครบถ้วนและมีการแก้ไขให้ถูกต้องตามข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น การกระทำนั้นไม่น่าจะถือเป็นรายงานเท็จโดยทันที อีกทั้ง หากที่ประชุมรับรองการแก้ไขดังกล่าวในภายหลัง ก็ควรพิจารณาให้รอบด้านว่าการบันทึกข้อมูลที่เพิ่มเติมนั้นเป็นการกระทำโดยมิชอบจริงหรือไม่
ชี้นำ กดดัน หรือแค่ปฏิบัติหน้าที่

ในประเด็นที่ศาลตัดสินว่าจำเลยใช้อำนาจโดยมิชอบผ่านการชี้นำ กดดัน และบงการในการประชุม เรื่องนี้ ผศ.ดร. รณกรณ์ ตั้งข้อสังเกตว่าศาลวินิจฉัยว่าการที่จำเลยพูดในที่ประชุม กสทช. ครั้งที่ 4/2566 เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2566 โดยสอบถามฝ่ายเลขานุการว่าเหตุใดหนังสือแจ้งเตือนที่ออกเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2566 จึงไม่ระบุชื่อทรูไอดี เป็นการ “ชี้นำกดดัน หรือบงการ” และให้เจ้าหน้าที่ร่างหนังสือฉบับใหม่ที่มีการระบุชื่อทรูไอดีในวันที่ 3 มีนาคม 2566
อย่างไรก็ตาม คำถามสำคัญคือ การสอบถามและแสดงความคิดเห็นในที่ประชุม ซึ่งเป็นกระบวนการปกติของการบริหารงานและกำกับดูแล ถือเป็นการกดดันหรือบงการโดยมิชอบหรือไม่ ในที่ประชุมดังกล่าว มีการถกเถียงกันระหว่างกรรมการหลายคนเกี่ยวกับแนวทางในการออกหนังสือแจ้งเตือน โดยจำเลยในฐานะกรรมการ กสทช. และประธานอนุกรรมการที่เกี่ยวข้อง มีสิทธิและหน้าที่ในการสอบถามฝ่ายเลขานุการถึงเหตุผลในการออกหนังสือฉบับแรก และเพื่อให้เกิดความชัดเจนในแนวทางปฏิบัติ
อาจารย์ประจำศูนย์กฎหมายอาญาฯ มองว่า การตั้งคำถามในที่ประชุมเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นได้ในทุกองค์กร โดยเฉพาะในกรณีของกสทช. ที่ต้องใช้ดุลพินิจในการกำกับดูแลอุตสาหกรรมสื่อดิจิทัล คำถามคือ การที่จำเลยสอบถามและตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับการออกหนังสือ ควรถือเป็นเพียงการปฏิบัติหน้าที่ปกติของกรรมการ หรือเป็นการใช้อำนาจโดยมิชอบ
อย่างไรก็ตาม ศาลไม่ได้ระบุหลักฐานที่ชัดเจนในคำพิพากษาว่า คำพูดของจำเลยมีลักษณะเป็นการบังคับหรือข่มขู่เจ้าหน้าที่ให้ต้องดำเนินการตามคำสั่งโดยไม่มีทางเลือกหรือหลักฐานว่ากรรมการท่านอื่นถูกกดดันหรือได้รับผลกระทบจากการกระทำของจำเลยหรือไม่ ซึ่งเป็นเงื่อนไขสำคัญของคำว่า “บงการ” หรือ “กดดัน” ในทางกฎหมาย ดังนั้น คำตัดสินที่ใช้ถ้อยคำว่า “ชี้นำ กดดัน หรือบงการ” อาจเป็นการตีความกว้างเกินไป และก่อให้เกิดผลกระทบต่อขอบเขตของการทำหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐในองค์กรอิสระ ที่ต้องอาศัยการอภิปรายและการแสดงความเห็นอย่างอิสระในที่ประชุม
ส่วน ผศ.ดร. ปริญญา ตั้งคำถามว่าเกี่ยวกับการพิจารณาเจตนาในการกระทำผิด โดยชี้ว่าข้อโต้แย้งที่สำคัญของจำเลยจึงไม่ถูกนำมาพิจารณาอย่างรอบด้าน เพราะหากได้อ่านคำพิพากษาหน้าสุดท้าย จะพบว่าข้อต่อสู้ของจําเลยมาปรากฏอยู่เพียงน้อยนิด โดยในคำพิพากษาระบุว่าจําเลยให้การต่อสู้ลอย ๆ ขัดแย้งกับข้อเท็จจริงที่ปรากฏ พฤติกรรมและข้อต่อสู้ที่เป็นหลักฐานของจําเลย จึงไม่มีน้ำหนักหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์
ข้อสังเกตในทางนิติศาสตร์ คือ ศาลสรุปคำแก้ฟ้องของจำเลยไม่มีน้ำหนัก แต่ไม่ได้บอกว่าไม่มีน้ำหนักอย่างไร หักล้างไม่ได้อย่างไร และอีกข้อสังเกตหนึ่งคือ ทั้ง 4 ประเด็นที่โจทก์ยื่นฟ้อง ไม่ว่าจะเป็น 1) เป็นเจ้าพนักงานของรัฐที่มีอำนาจหน้าที่ในเรื่องนั้น 2) รายงานการประชุมที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นเท็จ 3) มีเจตนาทำให้เกิดความเสียหาย หรือกลั่นแกล้งให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด และ 4) การตีความว่าจำเลยปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ซึ่งศาลเห็นตามโจทก์ทั้ง 4 ประเด็นเลย
ถ้อยคำสะท้อนมุมมอง หรือบ่งชี้เจตนา
ขณะที่ประเด็นที่ศาลได้วินิจฉัยว่าคำว่า “ล้มยักษ์” และ “ตลบหลัง” ที่จำเลยกล่าวขึ้นภายหลังการประชุม เป็นหลักฐานที่สะท้อนเจตนาพิเศษในการกระทำผิดตามมาตรา 157 โดยศาลตีความว่าคำพูดดังกล่าวแสดงถึงความต้องการให้เกิดความเสียหายแก่ทรูไอดี อย่างไรก็ตาม ผศ.ดร. รณกรณ์ ตั้งคำถามสำคัญคือ คำพูดที่เกิดขึ้นภายนอกการประชุม สามารถใช้เป็นหลักฐานชี้เจตนาในการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบได้หรือไม่ ในการพิจารณาคดีอาญาโดยเฉพาะมาตรา 157 เจตนาในการกระทำผิดต้องแสดงให้เห็นว่าผู้กระทำใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหาย
ในกรณีนี้ คำว่า “ล้มยักษ์” และ “ตลบหลัง” ไม่ได้ถูกกล่าวขึ้นในระหว่างการประชุมที่มีมติออกหนังสือแจ้งเตือน OTT จึงไม่อาจกล่าวได้ชัดเจนว่าคำพูดดังกล่าวเป็นแรงจูงใจที่ส่งผลต่อการตัดสินใจของ กสทช.
ตัวอย่างจากคดีนี้แสดงให้เห็นว่า คำพูดดังกล่าวเกิดขึ้นภายหลังจากที่การประชุมสิ้นสุดลงและไม่มีผลผูกพันต่อการตัดสินใจของที่ประชุมนอกจากนี้ คำพิพากษาไม่ได้แสดงหลักฐานว่า การพูดคำว่า “ล้มยักษ์”และ “ตลบหลัง” มีอิทธิพลโดยตรงต่อการออกหนังสือแจ้งเตือนของ กสทช. แต่เป็นการใช้คำพูดที่อาจสะท้อนมุมมองหรือความเห็นของจำเลยเกี่ยวกับกระบวนการกำกับดูแล OTT เท่านั้น ยิ่งไปกว่านั้นหากพิจารณาบริบทของคำพูดทั้งหมด ผศ.ดร. รณกรณ์ เห็นว่า จำเลยอาจสะท้อนถึงเจตนาที่ต้องการให้ทรูไอดีเข้าสู่ระบบการกำกับดูแลของ กสทช. มากกว่าการต้องการให้เกิดความเสียหาย
ดังนั้น การที่ศาลใช้คำพูด “ล้มยักษ์” และ “ตลบหลัง” เป็นหลักฐานสำคัญในการชี้เจตนาตามมาตรา 157 อาจเป็นการตีความที่กว้างเกินไปเพราะคำพูดดังกล่าวไม่ได้มีผลกระทบโดยตรงต่อการตัดสินใจในที่ประชุมและ ไม่มีหลักฐานว่าคำพูดดังกล่าวเป็นการสั่งการหรือมีอิทธิพลต่อการดำเนินงานของ กสทช. ในทางที่ผิดกฎหมาย
คำถามสำคัญจึงอยู่ที่ว่า ศาลสามารถใช้คำพูดที่เกิดขึ้นภายนอกกระบวนการประชุมเป็นหลักฐานที่ชัดเจนเพียงพอในการชี้เจตนากระทำผิดตามมาตรา 157 ได้หรือไม่ หรือแท้จริงแล้ว คำพูดดังกล่าวควรถูกมองว่าเป็นเพียงความคิดเห็นส่วนบุคคล มากกว่าการสะท้อนเจตนาพิเศษในการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ
ขณะที่เรื่องของคำพูดที่ถูกตีความเป็นหลักฐานมัดตัวจำเลย เป็นอีกหนึ่งประเด็นที่ ศ.ดร. ทวีเกียรติ ให้ความสำคัญเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะคำว่า “ล้มยักษ์” และ “ตลบหลัง” ที่ถูกนำมาเป็นหลักฐานว่าจำเลยมีเจตนาทำให้ทรูไอดีได้รับความเสียหาย ซึ่ง ศ.ดร. ทวีเกียรติ ตั้งข้อสังเกตว่า คำพูดในบริบทของหน่วยงานกำกับดูแลมักถูกใช้เพื่อสื่อสารถึงการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด ไม่จำเป็นต้องมีเจตนาทำลายผู้ประกอบการรายใดรายหนึ่ง คำถามที่สำคัญคือ การใช้คำพูดดังกล่าวเป็นหลักฐานเพียงพอหรือไม่ที่จะพิสูจน์ว่าจำเลยมีเจตนาในการกระทำความผิด และหากการตีความคำพูดในลักษณะนี้กลายเป็นแนวปฏิบัติของศาลในอนาคต อาจนำไปสู่ปัญหาในการบริหารงานของเจ้าหน้าที่รัฐที่ต้องใช้ถ้อยคำเข้มข้นในการทำงานหรือไม่
ออกหนังสือแจ้งเตือนตามอำนาจหน้าที่ หรือใช้อำนาจโดยมิชอบ

ในประเด็นสำคัญที่ต้องพิจารณาอีกสำหรับมุมมองของอดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ คือ องค์ประกอบของมาตรา 157 ที่ใช้เป็นฐานในการพิพากษา โดยมาตรานี้กำหนดเงื่อนไขว่าผู้ถูกกล่าวหาต้องมี “เจตนา” ที่จะใช้ตำแหน่งโดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหาย หรือเพื่อแสวงหาผลประโยชน์ที่มิชอบแก่ตนเองหรือบุคคลอื่น อย่างไรก็ตาม ในกรณีนี้จำเลยเป็นกรรมการ กสทช. ซึ่งมีอำนาจกำกับดูแลกิจการโทรคมนาคมตามกฎหมาย
ดังนั้น การออกหนังสือแจ้งเตือนถึงผู้ได้รับอนุญาตกิจการโทรทัศน์กว่า 127 รายให้ปฏิบัติตามกฎหมาย จึงอาจเป็นเพียงการปฏิบัติหน้าที่ตามอำนาจที่ได้รับมอบหมาย ไม่ใช่การใช้อำนาจโดยมิชอบ แต่ศาลกลับวินิจฉัยว่าจำเลยมีเจตนาให้ทรูไอดีได้รับความเสียหาย ซึ่งเป็นข้อวินิจฉัยที่อาจขยายขอบเขตของมาตรา 157 มากเกินไป
การตีความว่าจำเลยปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบตามมาตรา 157 ของประมวลกฎหมายอาญา มีองค์ประกอบ 3 ประการ คือ 1) เป็นเจ้าพนักงานของรัฐที่มีอำนาจหน้าที่ในเรื่องนั้น ซึ่งในกรณี กสทช. อำนาจกำกับดูแลกิจการเป็นของเลขาธิการและรองเลขาธิการ 2) มีการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ แต่จำเลยมีพยานหักล้างว่าไม่ได้สั่งให้ทำหนังสือ และไม่ได้ทำความเสียหายให้กับผู้หนึ่งผู้ใด 3) มีเจตนาทำให้เกิดความเสียหาย หรือกลั่นแกล้งให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด ซึ่งแม้ว่าจะไม่ทำให้เสียหาย แต่เป็นการทำหน้าที่เพื่อประโยชน์สาธารณะ ก็ไม่ใช่การกลั่นแกล้ง รศ.ดร. ปริญญาได้ตั้งข้อสังเกตว่า ในกรณีของจำเลยหากอิงตามสิ่งที่กล่าวไปด้านบนก็จะไม่เข้าข่ายการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ที่สำคัญคือการทำหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 60 วรรคสาม คือป้องกันมิให้มีการหาประโยชน์จากผู้บริโภคโดยไม่เป็นธรรม เช่น มีโฆษณาในรายการที่ไม่ควรมีโฆษณา หรือ การกำกับดูแลการแพร่ภาพเนื้อหาที่อาจมีผลกระทบต่อผู้บริโภค ก็ควรมีการพิจารณาอย่างรอบด้านว่าเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบจริงหรือไม่
ปฏิบัติหน้าที่หรือเสี่ยงคุก? ข้อกังวลของเจ้าหน้าที่รัฐ
ศ.ดร. ทวีเกียรติ ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับกระบวนการพิจารณาของศาลที่อาจมีลักษณะเป็นการพิจารณาความข้างเดียว ศาลได้พิจารณาพยานหลักฐานของโจทก์และนำมาใช้ในการตัดสินอย่างมีน้ำหนัก แต่เมื่อพิจารณาเนื้อหาของคำพิพากษากลับพบว่า มีความคล้ายคลึงกับคำฟ้องของโจทก์มากถึง 30% ข้อเท็จจริงนี้ทำให้เกิดข้อสงสัยว่า ศาลได้ทำการวิเคราะห์และตรวจสอบพยานหลักฐานอย่างเป็นอิสระเพียงพอหรือไม่ หรือเพียงแค่นำข้อกล่าวหาของโจทก์มาเป็นแนวทางในการตัดสิน
อีกหนึ่งหลักการสำคัญที่ ศ.ดร.ทวีเกียรติ กล่าวถึงคือหลัก “สงสัยยกประโยชน์ให้จำเลย” ซึ่งเป็นหลักพื้นฐานของกฎหมายอาญา หากยังมีข้อสงสัยเกี่ยวกับเจตนาของจำเลย ศาลควรพิจารณายกฟ้อง แต่ในคดีนี้ ศาลกลับลงโทษจำเลยโดยไม่รอลงอาญา ทั้งที่ไม่ใช่เรื่องทุจริต คำถามที่สำคัญคือ เหตุใดศาลจึงเลือกใช้แนวทางการลงโทษที่เข้มงวดเช่นนี้ และหากพิจารณาคดีอื่นที่เกี่ยวข้องกับเจ้าหน้าที่รัฐในลักษณะเดียวกัน หลายกรณีศาลให้รอลงอาญาทำให้เกิดข้อเปรียบเทียบว่า การพิจารณาลงโทษในคดีนี้มีมาตรฐานที่เป็นธรรมและสอดคล้องกับหลักกฎหมายหรือไม่
ขณะที่ ผศ.ดร. ปริญญาตั้งข้อสังเกตว่า คดีนี้อาจส่งผลกระทบต่อข้าราชการและเจ้าหน้าที่รัฐในอนาคต หากการดำเนินการใด ๆ ที่กระทบต่อประโยชน์หรือเกิดความเสียหายต่อเอกชน สามารถถูกตีความว่าเป็น “การปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ” ได้โดยง่ายอาจทำให้เจ้าหน้าที่รัฐเกิดความกังวลและหลีกเลี่ยงการใช้อำนาจหน้าที่ของตนเพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยงทางกฎหมาย ซึ่งอาจส่งผลต่อประสิทธิภาพของการทำงานในภาครัฐ
“เป็นสิทธิของโจทก์ที่จะฟ้องร้องคดี แต่การที่ศาลเห็นตามโจทก์โดยไม่ให้น้ำหนักกับพยานหลักฐานจากฝ่ายจำเลย หรือไม่ชี้แจงว่าข้อต่อสู้ของจำเลยรับฟังไม่ได้อย่างไร เพราะอะไร อาจนำไปสู่ข้อสงสัยในกระบวนการยุติธรรม” ผศ.ดร. ปริญญากล่าว พร้อมเน้นย้ำถึงความสำคัญของการพิจารณาคำพิพากษาอย่างรอบด้าน เพื่อให้กระบวนการยุติธรรมมีความยุติธรรมและเป็นไปตามหลักนิติธรรมอย่างแท้จริง
ด้าน ผศ.ดร. รณกรณ์ ให้ความคิดเห็นไว้ว่า เหตุใดศาลจึงตัดสินให้จำเลยรับโทษจำคุกสองปี ทั้งที่ไม่มีหลักฐานว่ามีการทุจริต และเป็นเพียงการปฏิบัติหน้าที่ในฐานะผู้กำกับดูแล คดีลักษณะนี้ควรพิจารณาเรื่องการรอลงอาญาหรือไม่ โดยเฉพาะหากเป็นการดำเนินการเพื่อประโยชน์สาธารณะ
“การลงโทษ 2 ปี ไม่รอลงอาญา ผมคิดว่าเป็นการบั่นทอนกําลังใจการทำงานเจ้าหน้าที่ ที่พยายามจะผลักดันการคุ้มครองสิทธิผู้บริโภค”ผศ.ดร. รณกรณ์ กล่าว
ทั้งนี้ การลงโทษในลักษณะนี้อาจส่งผลกระทบต่อเจ้าหน้าที่ที่ทำหน้าที่กำกับดูแลสื่อ ซึ่งอาจเกิดความลังเลในการดำเนินงานเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคในอนาคต โดยเฉพาะกรณีนี้ไม่มีการทุจริตและไม่เห็นเหตุผลใดว่าทําไมการลงโทษจำคุกสองปี จึงเหมาะสม ซึ่งเป็นสิ่งที่จะต้องนําไปสู่การยกระดับหรือการแก้ไข
SLAPP ไม่ใช่แค่เรื่องของธุรกิจ แต่อาจกระทบความยุติธรรมทั้งระบบ
ศ.ดร. ทวีเกียรติ ตั้งข้อสังเกตว่าคดีนี้สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาของการใช้กระบวนการยุติธรรมเป็นเครื่องมือทางธุรกิจ หรือที่เรียกว่า “SLAPP” (Strategic Lawsuit Against Public Participation) ซึ่งเป็นการฟ้องร้องที่มีเป้าหมายเพื่อข่มขู่หรือปิดปากเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานเพื่อคุ้มครองผลประโยชน์สาธารณะ
“คดีนี้อาจมีลักษณะของการใช้คดีความเป็นเครื่องมือในการกดดันหน่วยงานกำกับดูแล มากกว่าการพิจารณาคดีในเชิงกฎหมายโดยแท้จริง” อดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ให้ความคิดเห็น
ประเด็นสำคัญในคดีนี้คือ บริษัทเอกชนที่เป็นโจทก์ได้ดำเนินคดีต่อเจ้าหน้าที่รัฐที่มีบทบาทในการกำกับดูแล โดยพยายามใช้กระบวนการศาลเพื่อขอให้จำเลยถูกระงับการปฏิบัติหน้าที่ทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับบริษัทโจทก์ ซึ่งถือเป็นกลยุทธ์ที่สามารถสร้างผลกระทบต่อระบบการกำกับดูแลโดยรวมได้
อดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญชี้ให้เห็นว่า วิธีการฟ้องร้องในลักษณะนี้มีลักษณะที่ไม่ได้มุ่งหวังผลทางกฎหมายเป็นหลัก แต่เป็นการใช้กระบวนการยุติธรรมเพื่อกดดันฝ่ายตรงข้าม โจทก์อาจไม่มีหลักฐานแน่ชัดตั้งแต่ต้น แต่ใช้การฟ้องร้องเพื่อให้จำเลยต้องเผชิญกับภาระทางกฎหมาย เสียเวลาและทรัพยากรในการต่อสู้คดี
กระบวนการนี้อาจทำให้เจ้าหน้าที่รัฐ นักวิชาการ หรือบุคคลที่มีบทบาทในการกำกับดูแลต้องชะลอหรือลังเลในการปฏิบัติหน้าที่ เพื่อหลีกเลี่ยงการตกเป็นเป้าของการฟ้องร้องในลักษณะเดียวกัน ก่อให้เกิดบรรยากาศแห่งความหวาดกลัวและการเซ็นเซอร์ตนเอง ซึ่งในระยะยาวจะส่งผลกระทบต่อการบังคับใช้กฎหมายและการตรวจสอบการทำงานของภาคธุรกิจ
อย่างไรก็ตาม หากไม่มีมาตรการทางกฎหมายที่มีประสิทธิภาพในการคัดกรองคดีที่มีลักษณะเป็น SLAPP ศาลอาจกลายเป็นเวทีที่ถูกใช้เพื่อจุดประสงค์ทางยุทธศาสตร์ของกลุ่มทุนหรือผู้มีอำนาจ มากกว่าที่จะเป็นกลไกเพื่ออำนวยความยุติธรรมให้กับสังคมโดยรวม คดีนี้จึงเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนเพื่อป้องกันการใช้กฎหมายในทางที่ผิด อดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้เสนอว่า ประเทศไทยควรมีกลไกที่สามารถคัดกรองคดีลักษณะนี้ตั้งแต่ต้น และป้องกันไม่ให้กระบวนการยุติธรรมถูกใช้เป็นเครื่องมือกดดันฝ่ายตรงข้ามในทางที่ไม่เป็นธรรม