
นักเรียน – นักวิชาการ – หน่วยงานด้านการศึกษา – พรรคการเมือง – สภาผู้บริโภค ทุกฝ่ายเห็นพ้องเปิดทางนักเรียนร่วมกำหนดอนาคตการศึกษา หนุนร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฉบับใหม่ เน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง
วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2568 สภาผู้บริโภคจัดเวทีสาธารณะเปิดพื้นที่ให้ตัวแทนจากภาคส่วนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับจุดเน้นและทิศทางของร่างกฎหมาย พร้อมทั้งมองหาแนวทางในการสร้างวิสัยทัศน์ร่วมเพื่อผลักดันให้เกิดการปฏิรูปการศึกษาที่ตอบโจทย์ผู้เรียนอย่างแท้จริง
ภาพรวมของการพูดคุย จุดเน้นร่วมของทุกฝ่ายคือ การให้ความสำคัญกับผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง โดยต้องมีความเท่าเทียมและคุณภาพทางการศึกษา โดยไม่มีภาระค่าใช้จ่ายแอบแฝง และต้องมุ่งเน้นไปที่คุณภาพการเรียนรู้ของผู้เรียนเป็นหลัก การกระจายอำนาจให้โรงเรียนและท้องถิ่นสามารถบริหารจัดการด้านการศึกษาได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น การส่งเสริมบทบาทของผู้มีส่วนได้เสีย เพิ่มช่องทางให้เด็ก ผู้ปกครอง และภาคเอกชนได้มีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทางของการศึกษาไทย และการพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษา โดยเสนอให้มีการลดภาระงานที่ไม่เกี่ยวข้องกับการสอน และพัฒนาระบบค่าตอบแทนและสวัสดิการให้เหมาะสม
การศึกษาเป็นเรื่องของทุกคน ต้องเปิดพื้นที่ให้ทุกเสียงมีส่วนร่วม
ด้าน อรรถพล อนันตวรสกุล ประธานคณะอนุกรรมการด้านการศึกษา เปิดเวทีด้วยการเน้นย้ำถึงความสำคัญของการมีส่วนร่วมจากทุกฝ่าย พร้อมทั้งระบุว่า ที่ผ่านมากระบวนการร่าง พ.ร.บ.การศึกษามักจะดำเนินไปอย่างไม่ต่อเนื่อง ทำให้สาธารณชนรับรู้ข้อมูลได้เพียงบางช่วงเวลา การเปิดเวทีเช่นนี้จึงเป็นโอกาสสำคัญในการเชื่อมต่อข้อมูลและมุมมองของแต่ละฝ่ายเข้าด้วยกัน
อีกทั้ง ยกมุมมองที่น่าสนใจเกี่ยวกับการศึกษา ของนักการเมืองท่านหนึ่งที่เคยเสนอว่า “หากเรามองการศึกษาเป็นบริการภาครัฐ หรือเป็นสินค้าอย่างหนึ่ง ก็อาจช่วยให้เข้าใจระบบการศึกษาได้ดีขึ้น เพราะที่ผ่านมา ไม่เปิดโอกาสให้เสียงของเด็กและผู้ปกครองได้มีส่วนร่วมมากนัก ควรมีช่องทางให้พวกเขาสะท้อนความคิดเห็นเกี่ยวกับระบบการศึกษาที่ต้องการได้ ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบการจัดการศึกษา หรือเป้าหมายของระบบการศึกษา”

ลดความเหลื่อมล้ำ กระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น

สฤษดิ์ บุตรเนียร เลขานุการคณะกรรมาธิการการศึกษา ในนามตัวแทนจากพรรคภูมิใจไทย ได้เน้นย้ำถึงความจำเป็นในการปรับปรุงกฎหมายการศึกษา เนื่องจากกฎหมายฉบับเดิมใช้มานานกว่า 26 ปี และไม่สอดคล้องกับสังคมและเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว จึงต้องปรับตัวให้เท่าทันและตอบสนองต่อวิถีชีวิตของผู้เรียนในยุคใหม่
นอกจากนี้ ร่างฉบับพรรคภูมิใจไทย ได้ให้ความสำคัญกับแนวคิด “ความทั่วถึง เท่าเทียม และทันยุค” โดยมุ่งเน้นให้การศึกษาเข้าถึงได้สำหรับทุกคน ลดความเหลื่อมล้ำระหว่างเมืองและชนบท พร้อมส่งเสริมการศึกษาสายอาชีวะและระบบทวิภาคีที่ช่วยให้ผู้เรียนสามารถเข้าสู่ตลาดแรงงานได้เร็วขึ้น
“ควรให้กระจายอำนาจให้ท้องถิ่นและชุมชนได้ดูแล เนื่องจากเป็นผู้ที่ใกล้ชิดเด็กที่สุด แต่ปัจจุบันท้องถิ่นดูแลเด็ก 2 – 4 ขวบ หลังจากนั้นก็เข้าสู่โรงเรียนในระบบของกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งกระทรวง มีโครงสร้างใหญ่มากเกินกว่าที่จำทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ ประสิทธิผลได้ และเชื่อว่าหากร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้เข้าสู่สภา สามารถดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในหนึ่งปี” สฤษดิ์กล่าว
ปรับหลักสูตรให้ทันโลกดิจิทัล
ขณะที่ ดร.เทอดชาติ ชัยพงษ์ จากพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงปัญหาทางการศึกษาที่พบจากการลงพื้นที่เก็บข้อมูล ซึ่งหนึ่งในประเด็นหลักที่พรรคเพื่อไทยให้ความสำคัญคือความจำเป็นในการปรับปรุงหลักสูตรให้ทันสมัยและสอดคล้องกับยุคดิจิทัล เพื่อให้ผู้เรียนสามารถปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลงของโลกได้ นอกจากนี้ ยังมุ่งเน้นให้ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาฉบับใหม่เป็นไปตามมาตรา 54 ของรัฐธรรมนูญปี 2560 ที่กำหนดให้การศึกษาขั้นพื้นฐาน 12 ปีต้องมีคุณภาพและไม่มีค่าใช้จ่าย ตลอดจนต้องให้ความสำคัญกับการศึกษาตั้งแต่ก่อนวัยเรียนไปจนถึงระดับภาคบังคับ
พรรคเพื่อไทยยังได้เสนอแนวทางแก้ไขปัญหาการศึกษาในประเด็นสำคัญ เช่น ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา โดยเฉพาะการจัดสรรงบประมาณที่ไม่เท่าเทียมระหว่างโรงเรียนในเมืองและชนบท อีกทั้งการกระจายอำนาจทางการศึกษาที่ยังคงอยู่ส่วนกลาง ทำให้การจัดการหลักสูตร งบประมาณ และการบริหารบุคลากรครูมีข้อจำกัด

ดร.เทอดชาติ ยังเน้นย้ำถึงปัญหาโรงเรียนขนาดเล็กที่เพิ่มขึ้นและต้องการแนวทางแก้ไข เช่น การควบรวมโรงเรียน และการปรับโครงสร้างให้เหมาะสมกับจำนวนประชากรที่ลดลง และให้ความสำคัญกับการพัฒนาวิชาชีพครู การลดภาระงานที่ไม่จำเป็น และการบริหารทรัพยากรให้ไปถึงตัวผู้เรียนอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้ระบบการศึกษาสามารถตอบสนองความต้องการของประเทศได้อย่างแท้จริง
รื้อ-ลด-ปลด-สร้าง ปฏิรูปการศึกษาเพื่อตอบโจทย์อนาคต

รศ.(พิเศษ) ดวงฤทธิ์ เบ็ญจาธิกุล ชัยรุ่งเรือง จากพรรครวมไทยสร้างชาติ เผยว่า หัวใจหลักของ พ.ร.บ.การศึกษา คือเน้นเรื่องการศึกษาที่ตอบโจทย์ผู้เรียนและตอบโจทย์พื้นที่ มุ่งเน้นการปฏิรูปผ่านแนวทาง “รื้อ-ลด-ปลด-สร้าง” โดยรื้อกฎหมายการศึกษาที่ล้าสมัย ลดภาระงานครู ปลดล็อกข้อจำกัดทางการศึกษา และสร้างหลักสูตรที่สอดคล้องกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจ
นอกจากนี้ การพัฒนาหลักสูตรควรคำนึงถึงจุดแข็งของแต่ละพื้นที่ เช่น จังหวัดที่มีเศรษฐกิจขับเคลื่อนด้วยการท่องเที่ยวควรเน้นการเสริมทักษะภาษาและการบริการ เพื่อให้นักเรียนสามารถเข้าสู่ตลาดแรงงานหรือสร้างรายได้ตั้งแต่ยังเรียนอยู่ หากหลักสูตรสามารถตอบสนองทั้งความต้องการของภาคธุรกิจและศักยภาพเฉพาะของแต่ละพื้นที่ ก็จะช่วยให้นักเรียนพัฒนาได้อย่างเต็มที่ และกลายเป็นแรงงานที่มีคุณภาพ พร้อมขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศในอนาคต
“สิ่งที่สำคัญที่สุดของครู คือการถ่ายทอดความรู้ให้กับนักเรียน เพราะฉะนั้นการประเมินต่าง ๆ ถ้าเราไม่ไปมุ่งเน้นเรื่องการทำวิจัย แต่เน้นการพัฒนาการสอน และการพัฒนาศักยภาพเด็ก ที่ไม่จำกัดแค่เรื่องวิชาการ เพราะเด็กทุกคนไม่ต้องการเป็นนักวิชาการ เรียนเพื่อหาความฝัน และประกอบอาชีพ”
สิทธิของผู้เรียนต้องมาก่อน เรียนฟรีต้องเป็นจริง
คุณปารมี ไวจงเจริญ จากพรรคประชาชน กล่าวว่า สิ่งที่น่าสังเกตคือ พรรคการเมืองทั้ง 4 พรรคที่เสนอร่างพ.ร.บ.การศึกษาฉบับใหม่ต่างมีแนวทางร่วมกันในการให้ความสำคัญกับผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง ถือเป็นสัญญาณที่ดีต่อการปฏิรูปการศึกษา พรรคประชาชนเองให้ความสำคัญกับ 5 ด้านหลักที่ต้องตอบโจทย์ผู้เรียน ได้แก่ สิทธิและสวัสดิการด้านการศึกษา ครูและบุคลากร หลักสูตร โรงเรียนที่ปลอดภัย และกระทรวงศึกษาธิการที่สนับสนุนการเรียนรู้โดยไม่เป็นอุปสรรคต่อผู้เรียน และต้องไม่มีการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติ ศาสนา หรือสถานะทางเศรษฐกิจ
นอกจากนี้ พรรคประชาชนยังให้ความสำคัญกับรายละเอียดของ “การเรียนฟรี” อย่างแท้จริง เพื่อให้รัฐต้องจัดสรรงบประมาณรองรับค่าใช้จ่ายที่จำเป็น เช่น อุปกรณ์การเรียน อาหารกลางวัน อินเทอร์เน็ต การรักษาพยาบาล และค่าที่พักหรือค่าเดินทางในบางกรณี อีกทั้งยังเน้นเรื่องสิทธิของผู้เรียนในการออกแบบกฎระเบียบของสถานศึกษาและเข้าถึงช่องทางร้องเรียนเมื่อถูกละเมิดสิทธิ ในส่วนของหลักสูตร

พรรคประชาชนเสนอให้มีโครงสร้างแบบ 3 ระดับ ได้แก่ หลักสูตรการศึกษาแห่งชาติ หลักสูตรที่สอดคล้องกับบริบทของพื้นที่ และหลักสูตรที่ออกแบบโดยสถานศึกษา เพื่อให้เกิดความยืดหยุ่นและตอบโจทย์ความต้องการของผู้เรียนอย่างแท้จริง พร้อมกำหนดให้มีการทบทวนและปรับปรุงหลักสูตรทุก 5 ปี รวมถึงส่งเสริมการศึกษาทางเลือกโดยให้ภาครัฐสนับสนุนอย่างเป็นรูปธรรม
รัฐบาลเดินหน้าผลักดันร่าง พ.ร.บ. แม้เคยสะดุดหลายครั้ง

ณัฐิกา นิตยาพร ผู้อำนวยการกลุ่มนิติการ สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา ได้กล่าวถึงกระบวนการทางกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับร่าง พ.ร.บ. และระบุว่าสภาการศึกษาจะมีบทบาทสำคัญในการพิจารณาและกลั่นกรองข้อเสนอจากทุกฝ่ายให้ครอบคลุมและสอดคล้องกับเป้าหมายของประเทศ และยังเน้นย้ำถึงความสำคัญของการรับฟังเสียงของประชาชน โดยเฉพาะเยาวชน ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักของร่างกฎหมายฉบับนี้
อีกประเด็นที่ณัฐิกาเน้นย้ำคือ มาตรฐานวิชาชีพครู ซึ่งต้องมีทั้งจรรยาบรรณและมาตรฐานความรู้ โดยครูไม่เพียงแต่ทำหน้าที่สอนเท่านั้น แต่ต้องช่วยทำให้โรงเรียนเป็นพื้นที่ปลอดภัย และพร้อมร่วมมือเพื่อผลักดันร่าง พ.ร.บ. การศึกษาแห่งชาติให้เกิดผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรม
“รัฐบาลไม่ได้นิ่งนอนใจในการเสนอร่าง พ.ร.บ. แม้ว่าจะเคยถูกตีตกหรือสะดุดหลายครั้ง แต่ก็ยังคงเดินหน้าผลักดันให้เข้าสู่กระบวนการพิจารณา ส่วนตัวคาดว่าอาจมีความคืบหน้าในเดือนหน้า ขึ้นอยู่กับการหารือและข้อตกลงของวิปรัฐบาล วิปฝ่ายค้าน และวิปอื่น ๆ ว่าให้ความสำคัญกับร่างฉบับนี้เพียงใด”
เสียงจากเยาวชน ความปลอดภัยและสิทธิในการมีส่วนร่วม
สำหรับช่วงท้ายมีการสะท้อนถึงมุมมองและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับร่าง พ.ร.บ.การศึกษา จากเยาวชนถึงประเด็นสำคัญ เช่น ความครอบคลุมของร่างกฎหมายต่อกลุ่มอาชีวศึกษาและโรงเรียนประเภทอื่น ๆ ความปลอดภัยในสถานศึกษา รวมถึงบทบาทของนักเรียนในการมีส่วนร่วม และยังมีข้อเสนอให้มีการเก็บข้อมูลความคิดเห็นของนักเรียนผ่านการสำรวจ เพื่อให้แน่ใจว่าการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นสอดคล้องกับความต้องการของผู้เรียนอย่างแท้จริง
อีกประเด็นสำคัญคือการพัฒนากลไกการมีส่วนร่วมของนักเรียน โดยเสนอให้สภานักเรียนมีบทบาทมากขึ้นในการนำเสนอปัญหาและแนวทางแก้ไขต่อคณะกรรมการสถานศึกษา อีกทั้งให้เยาวชนเข้าร่วมเป็นกรรมาธิการในการพิจารณาร่างกฎหมาย เพื่อให้เสียงของนักเรียนได้รับการรับฟังตั้งแต่ต้น พร้อมเน้นย้ำเรื่องการสนับสนุนเส้นทางอาชีพที่หลากหลาย การลดภาระงานของครู และการดูแลเยาวชนนอกระบบการศึกษา
เสียงจากผู้เข้าร่วม มุมมองและข้อเสนอแนะต่อร่าง พ.ร.บ. การศึกษา
นอกจากนี้ ผู้เข้าร่วมได้ตั้งข้อสังเกตว่าประเด็นการศึกษาที่ถูกพูดถึงมักเน้นไปที่โรงเรียนสายสามัญ ขณะที่โรงเรียนสายอาชีพและอาชีวศึกษากลับถูกมองข้าม พวกเขาต้องการทราบว่าผู้มีอำนาจในการกำหนดนโยบายได้สำรวจปัญหาและความต้องการของโรงเรียนสายอาชีพอย่างจริงจังหรือไม่ นอกจากนี้ กลุ่มเด็กที่เรียนรู้แบบ การศึกษานอกโรงเรียน หรือ กศน.ก็ถูกละเลยเช่นกัน ทั้งในกระบวนการรับฟังความคิดเห็นและการออกแบบนโยบาย ทำให้เกิดคำถามว่านโยบายใหม่นี้จะสามารถแก้ปัญหาการเข้าถึงการศึกษาได้อย่างแท้จริงหรือไม่ อีกหนึ่งข้อกังวลสำคัญคือ ปัญหาการกระจุกตัวของนักเรียนในเมืองใหญ่ โรงเรียนขนาดเล็กถูกยุบไปเรื่อย ๆ โดยไม่มีแนวทางแก้ไขที่ชัดเจน ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความไม่สมดุลในการพัฒนาระบบการศึกษา
หลักประกันด้านสิทธิของนักเรียน เป็นอีกประเด็นสำคัญที่ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดคุย โดยเฉพาะเรื่องความรุนแรงในโรงเรียน ซึ่งยังคงเกิดขึ้นในโรงเรียนขนาดเล็กและศูนย์การเรียน ที่ซึ่งเด็กไม่ได้รับการยอมรับอย่างเท่าเทียม รวมถึงเรื่องวุฒิการศึกษาจากศูนย์การเรียนยังไม่เป็นที่ยอมรับในบางมหาวิทยาลัย สะท้อนให้เห็นถึงความเหลื่อมล้ำที่ยังคงมีอยู่ อีกทั้งผู้เข้าร่วมเสนอให้มีมาตรการสนับสนุนนักเรียนที่ตั้งครรภ์ และให้ผู้ปกครองมีบทบาทมากขึ้นในการกำกับดูแลโรงเรียนเพื่อลดปัญหาความรุนแรงและละเมิดสิทธิเด็ก พร้อมทั้งเรียกร้องให้มีการจัดสรรงบประมาณที่เพียงพอและเหมาะสม เพื่อให้การปฏิรูปการศึกษาสามารถเกิดขึ้นได้อย่างเป็นรูปธรรม



ที่มาของเวที
พ.ร.บ.การศึกษาที่ใช้มาตั้งแต่ปี 2542 และได้รับการเสนอให้ปรับปรุงใหม่หลายครั้ง อย่างไรก็ตาม ร่างฉบับใหม่ยังคงเผชิญข้อถกเถียงเกี่ยวกับความสอดคล้องกับบริบททางการศึกษาในอนาคต พร้อมย้ำข้อเสนอจากสภาผู้บริโภค ที่เป็นประเด็นสำคัญคือ การเรียนฟรี 15 ปีอย่างแท้จริง การพัฒนาหลักสูตรให้ยืดหยุ่น การส่งเสริมความปลอดภัยในโรงเรียน และการมีส่วนร่วมของนักเรียน ผู้ปกครอง และครู ในการกำหนดนโยบายทางการศึกษา
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
8 ข้อเสนอ ปฏิรูปร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ
สภาผู้บริโภค เตรียมเสนอ นายกฯ ทบทวน “พ.ร.บ.การศึกษา” เหตุขาดการมีส่วนร่วม
เสียงจาก “เยาวชน-นักการเมือง” ขอร่วมร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ
ไม่ตอบโจทย์การศึกษาอนาคต วิพากษ์ ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติใหม่