ร่างพระราชบัญญัติอาหาร (ฉบับที่…) พ.ศ. …..

แสดงความคิดเห็น

ร่างพระราชบัญญัติอาหาร (ฉบับที่…) พ.ศ. ….

ประเภทร่าง เสนอโดยประชาชน เป็นร่างการเงิน
เสนอโดย นางสาวสารี อ๋องสมหวัง กับผู้มีสิทธิเลือกตั้ง จำนวน 21,345 คน เป็นผู้เสนอ

โดยที่พระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 มีบทบัญญัติบางประการที่เป็นข้อจำกัดในการควบคุมความปลอดภัยอาหารและการโฆษณาอาหาร สมควรแก้ไขเพิ่มเติมมาตรการควบคุมอาหารโดยกำหนดควบคุมอาหารตามระดับความเสี่ยงที่อาจก่อให้เกิดอันตรายหรือผลกระทบต่อผู้บริโภค แก้ไขเพิ่มเติมหลักเกณฑ์การดำเนินการเกี่ยวกับการพิจารณาอาหารและกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขในการโฆษณาอาหาร กำหนดให้มีผู้เชี่ยวชาญ องค์กรผู้เชี่ยวชาญ หน่วยงานของรัฐหรือองค์กรเอกชนทั้งในและต่างประเทศ ทำหน้าที่ในกระบวนการพิจารณาอนุญาตอาหารเพื่อให้ทางธุรกิจ กำหนดหน้าที่ของผู้ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับอาหารให้รับผิดชอบต่อผู้บริโภค ตลอดจนแก้ไขบทกำหนดโทษและอัตราค่าธรรมเนียมให้เหมาะสมและสอดคล้องกับสภาวการณ์ปัจจุบัน จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้


1.ท่านเห็นด้วยหรือไม่ อย่างไร กับการยกเลิกบทนิยามคำว่า “อาหารควบคุมเฉพาะ” “ตำรับอาหาร” “โรงงาน” และแก้ไขบทนิยามคำว่า “ผลิต” และ “ผู้อนุญาต” และเพิ่มบทนิยามคำว่า “วัตถุสัมผัสอาหาร” “เอกสารกำกับอาหาร” “ข้อความ” “ผู้ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับอาหาร” “โฆษณา” “สื่อโฆษณา” “สถานที่” “กระบวนการพิจารณาอนุญาตอาหาร” และ “เลขาธิการ” 
ถามเห็นด้วยหรือไม่กับการปรับเปลี่ยนบทนิยามในกฎหมาย ให้มีความชัดเจน และเป็นปัจจุบันมากขึ้น
ตอบ+ เห็นด้วย เพราะ จะช่วยลดความคลุมเครือในการตีความกฎหมาย
+ เห็นด้วย เพื่อให้ผู้บริโภคได้รับการคุ้มครองที่เป็นธรรม เช่น นิยามให้ “สื่อโฆษณา” ครอบคลุมถึงสื่ออิเล็กทรอนิกส์ตามยุคสมัยปัจจุบันด้วย

2.ท่านเห็นด้วยหรือไม่ อย่างไร กับการกำหนดให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขมีอำนาจประกาศกำหนดกลุ่มอาหารโดยแบ่งเป็นอาหารควบคุมเฉพาะ อาหารควบคุม และอาหารจดแจ้ง กำหนดอาหารที่ต้องประเมินความปลอดภัย และกำหนดหลักเกณฑ์การใช้วัตถุสัมผัสอาหาร การจำหน่ายอาหาร การขนส่ง การเก็บรักษาและการโฆษณา 
ถามเห็นด้วยหรือไม่ ในการเพิ่มอำนาจให้รมต.สาธารณสุข สามารถกำหนดกลุ่มอาหารที่ต้องควบคุม รวมทั้งหลักเกณฑ์เกี่ยวกับความปลอดภัยของอาหาร และการโฆษณา
ตอบ+ เห็นด้วย เพราะ รัฐจะได้มีอำนาจในการการปราบปรามอาหารที่เป็นอันตรายต่อผู้บริโภคได้มากขึ้น

3.ท่านเห็นด้วยหรือไม่ อย่างไร กับการแก้ไขเพิ่มเติมองค์ประกอบคณะกรรมการอาหาร หน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการอาหาร คุณสมบัติ ลักษณะต้องห้าม และการพ้นจากตำแหน่งของกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ตลอดจนองค์ประกอบของคณะอนุกรรมการที่แต่งตั้งเพื่อปฏิบัติการเกี่ยวกับกระบวนการพิจารณาอนุญาตอาหาร 
ถามเห็นด้วยหรือไม่ กับการเพิ่มให้มีตัวแทนของผู้บริโภคอยู่ในคณะกรรมการอาหาร และกำหนดคุณสมบัติต้องห้ามของคณะกรรมการ เช่น ต้องไม่ทำธุรกิจเกี่ยวกับอาหาร
ตอบ+ เห็นด้วย เพราะ จะทำให้ข้อเสนอต่าง ๆ ส่งผลดีกับผู้บริโภคมากขึ้นและป้องกันไม่ให้เกิดผลประโยชน์ทับซ้อน เอื้อให้ภาคธุรกิจ

4.ท่านเห็นด้วยหรือไม่ อย่างไร กับการแก้ไขเพิ่มเติมหลักเกณฑ์การขอรับใบอนุญาตผลิตอาหารเพื่อจำหน่าย กำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงแก้ไขใบอนุญาต และกำหนดหลักเกณฑ์ในการขอผ่อนผันการต่ออายุใบอนุญาต 
ถามเห็นด้วยหรือไม่ ในการเพิ่มเกณฑ์การขอรับใบอนุญาต การขอแก้ไข รวมทั้งการผ่อนผันการต่ออายุใบอนุญาตผลิตอาหาร
ตอบ+ เห็นด้วย เพื่อให้ผู้บริโภคทานอาหารที่ผ่านการผลิตอย่างมีคุณภาพ
+ เห็นด้วย เพื่อควบคุมโรงงานเถื่อนที่ยังไม่ได้รับใบอนุญาตอีกจำนวนมาก

5.ท่านเห็นด้วยหรือไม่ อย่างไร กับการแก้ไขเพิ่มเติมให้ผู้รับอนุญาตผลิตเพื่อการส่งออกต้องจัดทำข้อมูลเกี่ยวกับอาหารนั้นต่อผู้อนุญาต และต้องจัดเก็บเอกสารหรือหลักฐานเพื่อให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบ รวมทั้งกำหนดห้ามจำหน่ายอาหารเพื่อการส่งออกในราชอาณาจักร 
ถามเห็นด้วยหรือไม่ ที่จะเพิ่มเติมให้ผู้รับอนุญาตส่งออก ต้องทำข้อมูลเกี่ยวกับอาหาร และจัดเก็บหลักฐานให้จนท.ตรวจสอบ รวมทั้งกำหนดอาหารที่ห้ามจำหน่ายในประเทศ
ตอบ+ เห็นด้วย เพราะ หากเกิดปัญหา จะได้มีหลักฐานไว้ยืนยันให้ชัดเจน และหาสาเหตุ รวมทั้งแก้ไขได้อย่างตรงจุด

6.ท่านเห็นด้วยหรือไม่ อย่างไร กับการกำหนดการควบคุมอาหารเสื่อมคุณภาพ ลักษณะของอาหารปลอมและอาหารผิดมาตรฐาน หน้าที่และอำนาจของผู้อนุญาตเกี่ยวกับการดำเนินการตามกฎหมายเพื่อการควบคุมอาหาร 
ถามเห็นด้วยหรือไม่ ในการกำหนดอำนาจหน้าที่ของผู้อนุญาตเกี่ยวกับการควบคุมคุณภาพอาหาร และกำหนดลักษณะของอาหารปลอม/ผิดมาตรฐานที่ชัดเจน
ตอบ+ เห็นด้วย เพื่อแก้ไขปัญหาอาหารหมดอายุถูกวางขายบนชั้น ผู้บริโภคอาจเผลอหยิบไปได้โดยไม่ได้ดู
+ เห็นด้วย เพราะ จะช่วยให้ผู้บริโภคปลอดภัยจากอันตรายในการบริโภคอาหารที่เสื่อมสภาพได้

7.ท่านเห็นด้วยหรือไม่ อย่างไร กับการกำหนดมาตรการเพื่อควบคุมอาหาร โดยกำหนดให้อาหารควบคุมเฉพาะต้องขึ้นทะเบียน อาหารควบคุมต้องแจ้งรายการ และอาหารจดแจ้งต้องจดแจ้ง และกำหนดการขอรับใบแทนใบสำคัญของอาหารดังกล่าว รวมทั้ง กำหนดหลักเกณฑ์ในการดำเนินการและการแก้ไขเปลี่ยนแปลง
ถามเห็นด้วยหรือไม่ ในการกำหนดให้อาหารที่ควบคุมบางประเภทต้องขึ้นทะเบียน แจ้งรายการ หรือจดแจ้ง
ตอบ+ เห็นด้วย เพราะอาหารหลายอย่างควรต้องมีการควบคุมอย่างเคร่งครัด
+ เห็นด้วย เพื่อความโปร่งใสในการดำเนินการขึ้นทะเบียนอาหาร

8.ท่านเห็นด้วยหรือไม่ อย่างไร กับการกำหนดมาตรการในการควบคุมการโฆษณาอาหาร กำหนดหลักเกณฑ์การโฆษณา และกำหนดให้การโฆษณาคุณประโยชน์ คุณภาพ หรือสรรพคุณของอาหารต้องได้รับใบอนุญาต
ถามเห็นด้วยหรือไม่ ว่าการโฆษณาที่เกี่ยวข้องกับประโยชน์ คุณภาพ หรือสรรพคุณของอาหาร ต้องได้รับใบอนุญาตและมีการควบคุมอย่างชัดเจน
ตอบ+ เห็นด้วย เพราะ การโฆษณามีผลต่อผู้บริโภค หากสามารถควบคุมการโฆษณาเกินจริงได้จะช่วยลดการจ่ายเงินซื้อสินค้าที่ไม่ได้เป็นไปตามโฆษณา
+ เห็นด้วย เพราะ จะช่วยให้ผู้บริโภคมีชุดข้อมูลจากโฆษณาที่ตรงไปตรงมาในการซื้อสินค้า และช่วยลดการซื้อสินค้าที่ไม่เป็นประโยชน์ได้

9.ท่านเห็นด้วยหรือไม่ อย่างไร กับการแก้ไขเพิ่มเติมหน้าที่และอำนาจของพนักงานเจ้าหน้าที่เกี่ยวกับเรียกให้หยุดหรือเข้าไปในยานพาหนะเพื่อตรวจสอบอาหาร การค้น การยึดหรืออายัด และแก้ไขเพิ่มเติมหลักเกณฑ์การดำเนินการกับสิ่งที่ยึดหรืออายัดไว้
ถามเห็นด้วยหรือไม่ กับการเพิ่มอำนาจเจ้าหน้าที่ ให้สามารถเรียกค้น ยึด หรืออายัดเพื่อตรวจสอบอาหารที่ขนส่งในยานพาหนะได้
ตอบ+ เห็นด้วย เพราะ ถ้ามีเหตุสงสัยว่ามีการกระทำผิด เจ้าหน้าที่จะได้ช่วยตรวจสอบได้อย่างทันท่วงที

10.ท่านเห็นด้วยหรือไม่ อย่างไร กับการเพิ่มเติม หมวด 7 การพักใช้ใบอนุญาตและการเพิกถอนใบอนุญาต และ หมวด 7/1 การอุทธรณ์
ถามเห็นด้วยหรือไม่ กับการเพิ่มเติมกฎหมาย ให้มีการพักใช้ใบอนุญาต และการเพิกถอนใบอนุญาต และการอุทธรณ์คำสั่ง
ตอบ+ เห็นด้วย เพราะ เป็นการกำหนดบทลงโทษให้เหมาะสมกับปัจจุบัน
+ เห็นด้วย เพราะ จะช่วยสร้างแรงจูงใจในการปฏิบัติตามกฎหมายให้ภาคธุรกิจ เพื่อหลีกเลี่ยงการถูกลงโทษ

11.ท่านเห็นว่าพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 มีบทบัญญัติบางประการที่เป็นข้อจำกัดในการควบคุมความปลอดภัยอาหารและการโฆษณาอาหารหรือไม่ อย่างไร และร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้จะแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้หรือไม่ เพียงใด
ถามท่านเห็นว่าร่างที่เสนอ สามารถแก้ไขการควบคุมความปลอดภัยอาหาร และการโฆษณาอาหารได้หรือไม่
ตอบ+ เห็นด้วย เพราะปัจจุบันมีอาหารเสริมที่โฆษณาเกินจริงอยู่จำนวนมาก
+ เห็นด้วย เพราะตอนนี้โทษทางกฎหมายน้อยไป ทำให้ผู้ประกอบการไม่รู้สึกเข็ดหลาบ และกลับมากระทำความผิดซ้ำ

คลิกเพื่อแสดงความคิดเห็น
ร่างพระราชบัญญัติอาหาร (ฉบับที่ …) พ.ศ. …..
(เปิดรับฟังตั้งแต่วันที่ 27 มกราคม 2568 ถึงวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2568)