สภาผู้บริโภค เผยผลทดสอบชาผงสำเร็จรูป พบกว่าครึ่งแสดงฉลากไม่ครบถ้วน

สภาผู้บริโภค เผยผลทดสอบชา พบกว่าครึ่งแสดงฉลากไม่ครบถ้วน

สภาผู้บริโภค เปิดเผยผลทดสอบสีในชา ชาผงสำเร็จรูปและชาปรุงสำเร็จ ร้อยละ 50 พบแสดงฉลากไม่ครบถ้วน

วันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2568 สภาผู้บริโภค ร่วมกับนิตยสารฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค จัดงานแถลงข่าว “เปิดเผยผลทดสอบสีในชา ชาผงสำเร็จรูปและชาปรุงสำเร็จ” ที่ห้องประชุมมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เพื่อเฝ้าระวังสินค้าด้วยการทดสอบเพื่อยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยของสินค้า และคุ้มครองผู้บริโภค ตามวัตถุประสงค์โครงการเฝ้าระวังสินค้าด้วยการทดสอบสินค้า

ทีมฉลาดซื้อ ได้สุ่มสำรวจชาผงสำเร็จรูป เพื่อตรวจสอบวัตถุเจือปนอาหาร สีสังเคราะห์ เรื่อง สีในชา ชาผงสำเร็จรูปและชาปรุงสำเร็จ โดยเก็บตัวอย่างชาผงสำเร็จรูปและชาปรุงสำเร็จ ในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2567 สุ่มซื้อจากร้านจัดจำหน่ายออนไลน์ 17 ตัวอย่าง และซื้อที่ร้านจัดจำหน่าย 3 ตัวอย่าง ในพื้นที่กรุงเทพและปริมณฑล ทั้งหมด 20  ตัวอย่าง จากนั้นได้ส่งตัวอย่างเพื่อตรวจวิเคราะห์ วัตถุเจือปนอาหาร สีสังเคราะห์  (Synthetic food colour) ครอบคลุมสารสังเคราะห์จำนวน 10 รายการ

ผลทดสอบสีในชา ชาผงสำเร็จรูปและชาปรุงสำเร็จ

สำหรับตัวอย่างชาผงสำเร็จรูปและชาปรุงสำเร็จ ที่ส่งไปตรวจสอบมีดังนี้ 1. ม้าบิน ชาแดงอัสสัม, 2. เจดี ไทยชา ชาไทยผงปรุงสำเร็จ, 3. 6 6 6 ชาผงปรุงสำเร็จ (สูตรชาไทย), 4. บลูมอคค่า ชาแดงพรีเมียม ใบชาแดง อัสสัม, 5. ishi cha ชาแดงอัสสัม, 6. CHA PAK YOON ชาปากยูน ชาไทยสำเร็จรูป, 7. มังกรบิน ชาแดงผงปรุงสำเร็จ กลิ่นวานิลลา, 8. ช้างทอง ชาผงปรุงสำเร็จ สูตรชาไทย, 9. ชาตรามือ ชาผงปรุงสำเร็จ ต้นตำรับชาไทย, 10. ลองบีช ชาไทย

11. บอนกาแฟ ชาผงปรุงสำเร็จ สูตรต้นตำรับ, 12. ชาใต้ซีลอน ผงชาไทยปรุงสำเร็จ, 13. Queen bakery ผงชาไทย,14. BK บีเค เบฟเวอเรจ แอนด์ เบเกอรี่ ผงชาไทยสูตรเข้มข้น, 15. WorldWide Coffee ชาไทยสูตรพรีเมี่ยม,16. AROMA อโรม่า ชานมเย็น, 17. Cha WARA ชาแดง,18. WANJAI ชาไทย สูตรชาปักษ์ใต้ ไม่แต่งกลิ่นวนิลา, 19. 20KG ชาแดง, 20. Arcady อาเคดี้ ชาไทย เครื่องดื่มผงกลิ่นชาไทย

สภาผู้บริโภค เผยผลทดสอบชาผงสำเร็จรูป พบกว่าครึ่งแสดงฉลากไม่ครบถ้วน : ทัศนีย์ แน่นอุดร
ขอบคุณภาพจาก : https://www.matichonweekly.com/in-depth/article_119834

ทัศนีย์ แน่นอุดร รองผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า จากรายงานผลวิเคราะห์พบว่า ทุกตัวอย่างที่นำมาทดสอบพบวัตถุเจือปนอาหาร สีสังเคราะห์ โดยพบทั้งหมด 6 ชนิด ซึ่งเป็นสีที่อนุญาตให้ใช้ได้ ได้แก่ Tartrazine INS102 ,Ponceau 4R INS124  Sunset yellow FCF INS110  Carmoisine or Azorubine INS122 Brilliant blue FCF INS133 และ Allura Red AC INS129 ทั้งนี้พบการใส่สีสังเคราะห์ตั้งแต่ 1 สี ถึง 5 สี ต่อตัวอย่าง โดยพบว่ามีการใช้วัตถุเจือปนอาหาร สีสังเคราะห์ มากกว่า 1 สี ใน 17 ตัวอย่าง หรือร้อยละ 85

นอกจากนี้ จากการตรวจสอบพบว่า ชา 10 ตัวอย่างจาก 20 ตัวอย่าง ไม่พบสูตรส่วนประกอบบนฉลาก จึงไม่สามารถจัดประเภทอาหารได้ นอกจากนี้ยังไม่สามารถนำมาวิเคราะห์ชาแบบผงสภาพพร้อมบริโภค ตามปริมาณที่แนะนำหน้าฉลากได้ สะท้อนเรื่องปัญหาการแสดงฉลากและมีผลต่อการพิจารณาเรื่องการบังคับใช้กฎหมาย หากมีการใส่สีเกินมาตรฐาน

สภาผู้บริโภค เผยผลทดสอบชาผงสำเร็จรูป พบกว่าครึ่งแสดงฉลากไม่ครบถ้วน : ดร. แก้ว กังสดาลอำไพ
ขอบคุณภาพจาก : https://www.matichon.co.th/local/quality-life/news_2491627

ดร. แก้ว กังสดาลอำไพ ที่ปรึกษานิตยสารฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวถึงอันตรายของวัตถุเจือปนอาหาร สีสังเคราะห์ว่า การประเมินผลของวัตถุเจือปนอาหารในสัตว์ทดลองก่อนมีการใช้จริง แม้จะมีการประเมินว่าให้ใช้ได้ แต่นั่นคือการที่ผู้บริโภคยอมรับความเสี่ยงว่า ปริมาณที่ใส่ในอาหารนั้นมีความเสี่ยงต่ำที่สุดด้วยการคำนวณตัวเลข อย่างไรก็ตามผลกระทบก็ขึ้นกับการตอบสนองของร่างกายแต่ละบุคคลด้วย ดังนั้นสิ่งที่ผู้บริโภคควรคำนึงคือ “ไม่มีคำว่าปลอดภัยในเอกสารทางพิษวิทยาของสารเคมีที่เข้าสู่ร่างกายมนุษย์” แต่มีคำว่า ความเสี่ยงและประโยชน์ที่ได้ (risk and benefit) เท่านั้น

ดร. แก้ว มีข้อสังเกตและแนะนำเรื่องการบริโภคว่า ตัวอย่างชาผงปรุงสำเร็จที่นำมาทดสอบในครั้งนี้ ส่วนใหญ่เป็นชนิดที่ร้านขายชา – กาแฟโบราณ ซื้อจากร้านค้าออนไลน์ และร้านค้าทั่วไป เพื่อไปต้มชงขาย หลีกเลี่ยงสีสังเคราะห์ที่อยู่ในชาจึงเป็นเรื่องยาก สิ่งที่ทำได้อาจเป็นการลดการดื่มชา ทั้งชาดำเย็นและชานมเย็น เพื่อเลี่ยงสีสังเคราะห์ซึ่งหากได้รับเข้าสู่ร่างกายในปริมาณมากก็อาจเป็นอันตราย

“ถ้าหากอยากดื่มชา แนะนำว่าให้ซื้อมาชงรับประทานเอง โดยเลือกซื้อชาผงสำเร็จรูปที่ไม่ใส่สี มีบรรจุภัณฑ์สะอาดเรียบร้อย มีเลขที่อย.ถูกต้อง มีการแจ้งชื่อ – ที่อยู่ผู้ผลิต วันที่ผลิต วันหมดอายุ และส่วนประกอบต่าง ๆ ซึ่งนอกจากจะลดความเสี่ยงในการได้รับสีสังเคราะห์มากเกินไปแล้ว เรายังสามารถควบคุมเรื่องความหวานจากน้ำตาลและนมได้ด้วย”

ดร. แก้ว ยังกล่าวถึงข้อแนะนำสำหรับการเลือกชาปรุงสำเร็จในภาชนะบรรจุ จากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา 3 ข้อ คือ 1. เลือกที่มีเลข อย. 2. อ่านฉลากผลิตภัณฑ์ กรณีที่มีการใช้สีจะแสดงคำว่า “สีสังเคราะห์ หรือสีธรรมชาติ (INS…หรือ ชื่อของสี) และ 3. เลือกเครื่องดื่มที่หลากหลายเพื่อลดการได้รับสีผสมอาหารชนิดเดิมซ้ำ ๆ

สภาผู้บริโภค เผยผลทดสอบชาผงสำเร็จรูป พบกว่าครึ่งแสดงฉลากไม่ครบถ้วน : โสภณ หนูรัตน์

โสภณ หนูรัตน์ หัวหน้าฝ่ายคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค สภาผู้บริโภค กล่าวว่า กลไกเฝ้าระวังสินค้าและบริการด้วยการทดสอบสินค้านั้นมีความจำเป็นมาก และเป็นสิทธิผู้บริโภคข้อหนึ่ง ดังนั้นเพื่อเป็นการยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยของสินค้า และคุ้มครองผู้บริโภค บทบาทของสภาผู้บริโภค ในการเฝ้าระวังสินค้า โดยเลือกเฝ้าระวังในประเด็นความปลอดภัยของสินค้า เนื่องจากเป็นสิ่งที่ผู้บริโภคไม่สามารถตรวจสอบได้เองโดยง่าย และข้อมูลบนฉลาก ที่ไม่ถูกต้องครบถ้วน อาจนำมาซึ่งอันตรายในการบริโภค และการแจ้งข้อมูลที่ไม่ครบ บอกไม่หมดถือเป็นการหลอกลวงผู้บริโภค และอาจผิดลวงขาย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 271

ทั้งนี้ สภาผู้บริโภคจะนำข้อมูลผลวิเคราะห์ที่ได้ส่งต่อให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)  ไปดำเนินการต่อกับผู้ผลิต พร้อมทั้งมีข้อเสนอต่อ อย. ดังนี้

  • เสนอ อย. บังคับใช้กฎหมาย เพื่อจัดการสินค้าที่เข้าข่ายหลอกลวงผู้บริโภค และขอณรงค์ให้ผู้ประกอบธุรกิจ มีทางเลือกให้ผู้บริโภค เข้าถึงชาที่ใช้สีธรรมชาติ เพื่อคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคให้มีอิสระในเลือกซื้อสินค้า
  • เสนอให้มีการเฝ้าระวังตรวจสอบผลิตภัณฑ์ชาผงในตลาด ทั้งในแง่ปริมาณสีผสมอาหาร และความครบถ้วนของฉลาก
  • อย. ควรจะพัฒนาร่วมมือกับเครือข่ายภาคประชาชน ในการเฝ้าระวังผลิตภัณฑ์ต่างๆ
  • เสนอให้ปรับปรุงทบทวน ประกาศเกี่ยวกับการใช้สีผสมอาหาร ทั้งในแง่วิชาการ และประโยชน์กับผู้บริโภค ให้เป็นมิตรและคุ้มครองผู้บริโภค เช่น ระบุสีที่ใส่ให้ครบถ้วน เพราะจากผลทดสอบพบว่า บางตัวอย่างไม่ระบุสีที่ใส่ แต่ตรวจพบ, บางตัวอย่างยังพบปัญหาการแสดงฉลากไม่ครบถ้วน จึงทำให้จัดประเภทอาหารไม่ได้ โดยหลายตัวอย่าง ไม่มีเลข อย. , ใช้ผสมได้กี่สี, บางประเทศห้ามใช้สีสังเคราะห์ แต่ในไทยให้ใส่ ควรมีการทบทวนโดยนักวิชาการร่วมกันว่าควรเป็นอย่างไร จำเป็นต้องใส่หรือไม่ฯลฯ
  • การแสดงฉลาก ให้แสดง หน้าที่สี และตามด้วย INS no แม้จะตรวจสอบได้ แต่น่าจะเป็นเจ้าหน้าที่ที่มีความรู้ แต่สำหรับผู้บริโภคอาจจะยากเกินไป จะไม่รู้ว่า INS no นั้นๆ คืออะไร การระบุแบบนี้จึงเป็นประโยชน์ต่อเจ้าหน้าที่ที่มีความเชี่ยวชาญมากกว่า และขอให้ร่วมกันปรับปรุงและพัฒนา ระบบเฝ้าระวังให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
  • พัฒนาความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ พัฒนาแผนเฝ้าระวังร่วมกัน และนำข้อมูลผลวิเคราะห์ไปใช้ในการวางแนวทางการแก้ไขปัญหาเชิงระบบ ฯลฯ