เดินหน้าแจ้งความ OPPO – realme ทวงคืนสิทธิผู้บริโภค

สภาผู้บริโภคนำผู้เสียหาย OPPO และ realme แจ้งความดำเนินคดี กรณีละเมิดสิทธิผู้บริโภค พบแอปกู้เงินเถื่อนฝังในโทรศัพท์ พร้อมยื่น สคส. ตรวจสอบละเมิดข้อมูลส่วนบุคคล เร่งหน่วยงานรัฐออกมาตรการคุมเข้มและลงโทษผู้กระทำผิด

หลังจากสภาผู้บริโภคประกาศเดินหน้าฟ้องคดีกลุ่ม – แจ้งความดำเนินคดีกับออปโป้ (OPPO) – เรียลมี (realme) ที่ละเมิดสิทธิผู้บริโภคหลายข้อ ทั้งการละเมิดข้อมูลส่วนบุคคลและละเมิดสิทธิผู้บริโภค การติดตั้งแอปพลิเคชันกู้เงินเถื่อน การเรียกเก็บดอกเบี้ยและทวงหนี้ผิดกฎหมาย จนทำให้ผู้บริโภคได้รับความเสียหายนั้น

ล่าสุด (วันที่ 21 มกราคม 2568) สภาผู้บริโภคนำผู้เสียหายจากกรณีโทรศัพท์มือถือยี่ห้อ OPPO และ realme เข้าแจ้งความต่อผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง และยื่นเรื่องต่อสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (สคส.) เพื่อให้ตรวจสอบและดำเนินคดีกรณีละเมิดสิทธิผู้บริโภคและข้อมูลส่วนบุคคล โดยมีพ.ต.ท.ปริญญา ปาละ รองผู้กำกับกองกำกับการ 1 กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.) และ พ.ต.อ.สุรพงศ์ เปล่งขำ ผู้อำนวยการสำนักตรวจสอบและกำกับดูแล สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (สคส.) เป็นผู้รับหนังสือ

ภัทรกร ทีปบุญรัตน์ รองหัวหน้าฝ่ายคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค สภาผู้บริโภค ระบุว่า โทรศัพท์มือถือทั้งสองยี่ห้อถูกพบว่ามีการติดตั้งแอปฯ “สินเชื่อความสุข” และ “Fineasy” ตั้งแต่ออกจากโรงงาน โดยไม่สามารถลบออกได้ แอปฯ ดังกล่าวยังไม่ได้รับอนุญาตจากหน่วยงานรัฐ จนก่อให้เกิดความเสียหายต่อผู้บริโภคในหลายด้าน เช่น การส่งข้อความโฆษณาเกี่ยวกับการกู้ยืมเงิน การเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคล อาทิ รายชื่อผู้ติดต่อและเบอร์โทรศัพท์ รวมถึงมีการกู้ยืมเงินผ่านแอปฯ โดยไม่ได้รับสัญญาที่ชัดเจน การคิดดอกเบี้ยเกินกฎหมายกำหนด

“กรณีหนึ่งที่พบคือ ผู้บริโภคกู้เงิน 5,000 บาท แต่ได้รับเงินจริงเพียง 3,500 บาท โดยจำนวนเงินที่ถูกหักออกถูกระบุว่าเป็นดอกเบี้ย ซึ่งเมื่อนำมาคำนวณแล้วพบว่าอัตราดอกเบี้ยสูงถึง 1,500% ต่อปี เกินกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้ ซึ่งการกระทำดังกล่าวสภาผู้บริโภคเห็นว่าเข้าข่ายละเมิดสิทธิผู้บริโภคตามกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค และละเมิดข้อมูลส่วนบุคคลตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล” ภัทรกร ระบุ 

การดำเนินการครั้งนี้สะท้อนถึงความสำคัญของการคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคและการจัดการกับปัญหาแอปกู้เงินเถื่อนที่ยังไม่มีการกำกับดูแลอย่างเป็นระบบ โดยการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจังจะช่วยยกระดับความปลอดภัยและสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคในยุคดิจิทัล

ขณะที่ จิณณะ แย้มอ่วม อนุกรรมการด้านการเงินและการธนาคาร สภาผู้บริโภค กล่าวว่า หน่วยงานรัฐทั้งหมดต้องทำงานเชิงบูรณาการอย่างจริงจัง เพราะเรื่องนี้เป็นการแตกไลน์ธุรกิจของจีนเทาอย่างหนึ่ง ถ้าได้ติดตามเรื่องจะเห็นภาพชัดเจนว่ามีการส่งต่อข้อมูลและเอาข้อมูลไปใช้เพื่อหลอกลวงผู้บริโภค ซึ่งเรื่องนี้ทำให้ประเทศชาติสูญเสียเงินเป็นหลายหมื่นล้านบาทที่ออกไปนอกระบบ แล้วมิจฉาชีพได้เอาเงินเหล่านั้นไปพัฒนาระบบเพื่อกลับมาโกงคนไทย

“เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องเล็ก ไม่ใช่เรื่องการกู้ยืมอย่างเดียว เป็นเรื่องของความมั่นคง การโจรกรรมระดับชาติ ที่สุดท้ายเราก็จะเห็นว่าพอไปในเรื่องของผู้เสียหายที่เกี่ยวกับการถูกแก๊งคอลเซ็นเตอร์หลอกก็จะเชื่อมโยงไปกับบัญม้า ทั้งหมดทั้งมวลมันมีภาพรวมที่ต่อเนื่องเกี่ยวข้องกัน เราจึงอยากจะให้หน่วยงานของรัฐทั้งหมดทำงานเชิงบูรณาการอย่างจริงจัง” จิณณะ กล่าว

อีกทั้งได้เรียกร้องให้ OPPO ออกมาเปิดเผยว่าใครคือเจ้าของแอปเงินกู้ การที่ปิดบังหรือไม่ให้ข้อมูล ต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่าบริษัทคือผู้สนับสนุนในการกระทำความผิด เป็นส่วนหนึ่งในการร่วมมือให้แอปเงินกู้นี้แสวงหารายได้โดยไม่ถูกกฎหมาย

นอกจากนี้ กระทรวงดีอีได้ออกข้อแนะนำ 10 ข้อ เรียกร้องผู้ผลิตและผู้จำหน่ายโทรศัพท์มือถือปฏิบัติตามหลักเกณฑ์การติดตั้งแอปฯ ล่วงหน้า (Pre-installed Apps) พร้อมขอความร่วมมือแสดงรายการแอปฯ ที่ติดตั้งในเครื่องอย่างชัดเจน เมื่อยื่นขออนุญาตนำเข้าและจำหน่ายในประเทศไทยนั้น ซึ่งมองว่าเป็นมาตรการที่ไม่มีสภาพบังคับ และยังไม่มีกำหนดว่าหน่วยงานไหนเป็นเจ้าภาพ จึงเสนอให้หน่วยงานรัฐต้องออกกฎหมายมาควบคุม เพราะตัวผู้ประกอบการอาจละเลยไม่ได้ปฏิบัติตาม

ด้าน พรวุฒิ พิพัฒนเดชศักดิ์ หัวหน้าฝ่ายนโยบายและนวัตกรรม สภาผู้บริโภค มีความเห็นว่า OPPO เป็นบริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่ การจะอัปเดตฟีเจอร์ใหม่ในแอปฯ ควรใช้เวลาไม่ถึงหนึ่งสัปดาห์
แต่เมื่อเป็นการแก้ไขปัญหาให้ผู้บริโภคในการลบแอปฯ ที่ผิดกฎหมายเหล่านี้ออกไปกลับใช้เวลาที่นานเกินไป

“เรื่องนี้เกิดขึ้นตั้งแต่ประมาณช่วงวันที่ 10 มกราคม แต่ OPPO กลับมีท่าทีว่าจะแก้ไขปัญหาให้เสร็จสิ้นวันที่ 27 มกราคม ที่สัญญาไว้กับตอนที่ไปหารือกับหน่วยงานรัฐ ผมมองว่าในฐานะที่เค้ามีทรัพยากรจำนวนมากมันเป็นช่วงเวลาที่นานเกินไป และก็อาจจะไม่สามารถยับยั้งความเสียหายที่เกิดขึ้นกับผู้บริโภคได้” พรวุฒิกล่าวเสริม

สำหรับประเด็นการติดตั้งแอปฯ มาก่อนหน้านั้นละเมิดสิทธิผู้บริโภค และทำให้กินพื้นที่การใช้งานในโทรศัพท์เคลื่อนที่ เกิดการใช้อินเทอร์เน็ตและแบตเตอรี่ของโทรศัพท์เคลื่อนที่โดยไม่จำเป็น อย่างไรก็ตาม สภาผู้บริโภคเรียกร้องให้หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง ใช้อำนาจทางกฎหมายในการดำเนินคดีและเปรียบเทียบปรับกับ OPPO และ realme เพื่อให้ธุรกิจของบริษัทดังกล่าวเป็นไปตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด และป้องกันไม่ให้เป็นตัวอย่างที่ไม่เหมาะสมสำหรับบริษัทอื่น ๆ โดยจะติดตามความคืบหน้าใน 15 วัน

ทั้งนี้ ในการแจ้งความและยื่นหนังสือถึงหน่วยงานรัฐยังมีผู้เสียหายเข้ามาแจ้งว่า นอกจากมีการติดตั้งแอปฯ กู้เงินในโทรศัพท์แล้ว ยังมีแอปฯ พนันออนไลน์ติดตั้งมาด้วย รวมถึงมีการแจ้งเตือนให้ติดตั้งแอปฯ อื่น ๆ แม้ปัจจุบันจะมีการนำแอปฯ ออกจากโทรศัพท์แล้ว ยังมีการส่งข้อความเตือนให้ดาวน์โหลดแอปฯ อยู่ตลอดเวลาอีกด้วย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง