ข่าวเรื่องการติดตั้งแอปกู้เงินเถื่อนในโทรศัพท์ออปโป (Oppo) และเรียลมี (RealMe) โดยไม่ได้รับการยินยอมจากผู้ใช้ และมีการส่งโฆษณาชวนกู้เงินผ่านทางแจ้งเตือนของโทรศัพท์นั้น ไม่ใช่เป็นเรื่องเล่าต่อ ๆ กันมา แต่สภาผู้บริโภคมีตัวอย่างเหตุการณ์ที่เกิดจริง
เรื่องเล่าวันนี้เป็นของผู้บริโภคที่ใช้มือถือ Oppo A53 รุ่น Android 12 ผู้ซึ่งได้รับโฆษณาเชิญชวนให้กู้เงินจากแอป ‘สินเชื่อความสุข’ โดยใช้ข้อความว่า “ลงทะเบียนถ้าเงินไม่พอใช้” ถ้าลงทะเบียนแล้วต้องกดยินยอมให้เข้าถึงข้อมูลทางโทรศัพท์ และเมื่อผู้บริโภคกดเข้าไปในแอป สินเชื่อความสุข ก็พบว่าเป็นแพลตฟอร์มรวมคนปล่อยเงินกู้ ที่สามารถกู้เงินได้ทันที โดยไม่ต้องใช้หลักฐานอะไร
ผู้บริโภคเล่าว่า ตัวเองมีความจำเป็นต้องใช้เงินในขณะนั้นจึงตัดสินใจกู้เงินกับแอป ดังกล่าว หลังจากทำตามขั้นตอนต่าง ๆ จนเสร็จสิ้น ก็มีเงินโอนเข้าบัญชี แต่ไม่เต็มจำนวนที่ขอกู้ เช่น กู้ 10,000 บาท แต่ได้รับเงินเพียง 5,000 กว่าบาท โดยอ้างว่าเป็นการหักดอกเบี้ยไปทันที
เมื่อเข้าสู่วันที่ 6 หลังจากกู้ยืม มีโทรศัพท์โทรเข้ามาหาเพื่อทวงเงิน ถ้าไม่มีจ่าย ให้เข้าระบบทำอัตราขยายวัน ซึ่งขยายได้เพียง 3 วัน หากครบ 3 วันแล้วไม่จ่ายอีก ก็จะโทรไปตามรายชื่อผู้ติดต่อในมือถือของเรา หากไม่มีคนรับสายระบบจะส่ง เอสเอ็มเอสไปแจ้งว่า คนชื่อ xxx นามสกุล xxx ยืมเงินแล้วไม่คืน
“ระหว่างที่เรากำลังวิตกกังวลเรื่องการหาเงินมาใช้หนี้ จะมีคนติดต่อแอดไลน์ line มา โดยไม่ผ่านแอปและเสนอดอกเบี้ยน้อยกว่า เช่น กู้ 10,000 ได้รับ 7,000 บาท ถ้าตอบโอเค ไม่ว่าด้วยวิธีการไหน พิมพ์เป็นตัวอักษรหรือส่งสติ๊กเกอร์ ผู้ให้กู้เงินก็จะโอนเงินมาให้ และให้เวลา 6 วันในการคืนเงินถ้าไม่คืนก็จะด่า แบบทำร้ายจิตใจมาก แอปนี้คือกับดักความทุกข์ ที่เกือบจะเป็นดักความตาย เพราะทำให้เราเกือบฆ่าตัวตาย” ผู้เสียหายเล่า
ผู้เสียหายเล่าต่ออีกว่า การกู้เงินผ่านการแอดไลน์ จะมีฝ่ายติดตามหนี้หลายคน จนทำให้ผู้กู้งงและถูกกดดันอย่างมาก ทั้งยังมีผู้เสนอให้เงินกู้และทางไลน์จำนวน แต่ละเจ้าจะให้กู้ประมาณ 10,000 ถ้าต้องการกู้เงิน 80,000 บาทก็จะต้องกู้ 8 เจ้า และหากไม่จ่ายตามเวลาที่กำหนดจะถูกข่มขู่โดยการประจานข้อมูลส่วนตัวในโซเชียลมีเดีย เช่น ถ่ายรูปคนกู้เงินบัตรประชาชน แจ้งว่าชื่อนี้นามสกุลนี้ข้อมูลส่วนบุคคลแบบนี้ได้กู้เงินไปเท่าไหร่เท่าไหร่และไม่ยอมจ่าย ผู้บริโภครายดังกล่าวจึงต้องหาทางออก ไปกู้รายอื่น ๆ อีก หมุนชน ๆ จนเป็นดินพอกหางหมู เมื่อตั้งสติได้ ก็พบว่าตัวเองกู้เงินมา 30 – 40 เจ้า และสิ่งหนึ่งที่สังเกตเห็นได้คือ เมื่อเอาสลิปที่โอนเงินคืนแต่ละเจ้ามาเทียบกัน จะสังเกตได้ว่า เป็นชื่อนามสกุลเดียวกันแค่ต่างธนาคาร
ท้ายที่สุด ผู้บริโภคตัดสินใจเลิกใช้วิธีการหมุนเงินแบบนี้ และไปหายืมเงินมา โปะหนี้ทุกเจ้า ซึ่งเมื่อรวมตัวเลขดูแล้ว พบว่าจ่ายไปประมาณ 700,000 บาท
ทั้งนี้ ผู้บริโภคตั้งข้อสังเกตว่า โฆษณาแอปดังกล่าวถูกแจ้งเตือนเข้ามาในช่วงเวลาที่เงินไม่พอใช้ และผู้เสนอให้กู้เงิน จะเป็นผู้หญิงพูดจาดีโทรมาก่อนเสมอ ส่วนฝ่ายติดตามหนี้ พูดภาษาไทยไม่ชัด ส่วนกรณีที่มีผู้ให้กู้หลายเจ้าแอดไลน์ส่วนตัวมานั้น จะให้เงื่อนไขการคืนในอัตราดอกเบี้ยที่ไม่เท่ากัน แต่ทุกรายหักจากเงินต้นทันที อีกทั้งผู้บริโภคยังตั้งข้อสงสัยว่าอาจจะทำเป็นขบวนการ เนื่องจาก บัญชีที่โอนเงินคืนนั้นเป็นชื่อเจ้าของบัญชีเดียวกันแต่ต่างธนาคาร
อย่างไรก็ตาม สภาผู้บริโภค ได้มีข้อเสนอฝากผ่าน คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ไปยังบริษัทออปโป (Oppo) และเรียลมี (Realme) ให้อัพเดทระบบปฏิบัติการโดยด่วน และนำแอปกู้เงินที่เป็นปัญหาออกทันที หรือให้ผู้บริโภคถอนการติดตั้งแอปได้ด้วยตัวเอง โดยไม่ต้องเสียเวลาไปที่ศูนย์บริการ โดยไม่ต้องผลักภาระให้ผู้บริโภค