ยื่น กมธ. สส.-สว. สนับสนุน 3 กม.คุ้มครองผู้บริโภค

สภาผู้บริโภค เดินหน้าต่อเนื่อง ยื่นหนังสือถึง กมธ.การคุ้มครองผู้บริโภค สส. – สว. ขอเสียงสนับสนุน 3 กฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค หวังติดตามและผลักดันให้กฎหมายบังคับใช้โดยเร็ว

หลังจากสภาผู้บริโภคและองค์กรสมาชิกสภาผู้บริโภค นำรายชื่อประชาชนที่เข้าชื่อสนับสนุนกฎหมายทั้ง 3 ฉบับ ได้แก่ การแก้ไขร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. …. และร่างพระราชบัญญัติอาหาร (ฉบับที่…) พ.ศ. …. รวมถึงการผลักดันร่างพระราชบัญญัติความรับผิดเพื่อความชำรุดบกพร่องของสินค้า พ.ศ. …. จำนวน 71,455 รายชื่อ ยื่นต่อสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2567 นั้น

วันที่ 23 ธันวาคม 2567 อิฐบูรณ์ อ้นวงษา รองเลขาธิการสำนักงานสภาผู้บริโภค เปิดเผยว่า สภาผู้บริโภคได้เข้ายื่นขอการสนับสนุนเพื่อแก้ไขและออกกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองผู้บริโภคของสภาผู้บริโภค โดยยื่นถึงอังคณา นีละไพจิตร ประธานคณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมือง การมีส่วนร่วมของประชาชน สิทธิมนุษยชนสิทธิ เสรีภาพ และการคุ้มครองผู้บริโภคการยื่น และชยุตม์ ศุภสินธุ์ นิติกรชำนาญการพิเศษ กลุ่มงานคณะกรรมาธิการการคุ้มครองผู้บริโภค สมาชิกสภาผู้แทนราษฏร (กมธ.การคุ้มครองผู้บริโภค สส.) ในฐานะผู้รับหนังสือแทน

โดยสภาผู้บริโภคคาดหวังว่าคณะกรรมาธิการทั้ง สว. และ สส. จะร่วมผลักดันและติดตามร่างกฎหมายดังกล่าว พร้อมเน้นย้ำให้ประชาชนติดตามการดำเนินงานและร่วมสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค 

“การผลักดันกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคสะท้อนความตั้งใจของสภาผู้บริโภคในการยกระดับการคุ้มครองผู้บริโภคไทยให้เทียบเท่ามาตรฐานสากล ทั้งในด้านการคุ้มครองสิทธิ การสร้างความเท่าเทียม และการบริโภคอย่างยั่งยืน เพื่อให้เกิดการบังคับใช้กฎหมายที่มีประสิทธิภาพอย่างแท้จริงในอนาคต” อิฐบูรณ์ กล่าว

อังคณา กล่าวถึงความสำคัญของการคุ้มครองผู้บริโภคในประเทศว่า แม้ประเทศไทยพูดถึงเรื่องการคุ้มครองผู้บริโภคมาตั้งแต่รัฐธรรมนูญปี 2540 แต่ยังมีปัญหาที่ไม่ได้รับการแก้ไข โดยเฉพาะในยุคดิจิทัลที่การคุ้มครองผู้บริโภคยิ่งซับซ้อนขึ้น อังคณาเรียกร้องให้รัฐบาลเห็นความสำคัญและเร่งผลักดันกฎหมายเหล่านี้ให้บังคับใช้ โดยหลังจากนี้จะมีการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการพิจารณา 

“ขั้นตอนต่อไปเมื่อมีการเสนอร่างกฎหมายเข้ามา รัฐบาลจะมีการเสนอร่างของประชาชนเป็นร่างคู่ขนาน ในชั้นที่มีการตั้งคณะกรรมการวิสามัญ ซึ่งผู้แทนของผู้ยื่นร่างกฎหมายได้เข้าไปให้ความเห็นและร่วมพิจารณาในกรรมาธิการวิสามัญ ทำให้เกิดการมีส่วนร่วมของประชาชน ทั้งนี้โดยส่วนตัวอยากเห็นกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคที่ดี มีประสิทธิภาพ และสามารถนำไปปฏิบัติได้อย่างแท้จริง” ประธานคณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมืองฯ ระบุ

ด้าน ชยุตม์ ในฐานะผู้แทน กมธ.การคุ้มครองผู้บริโภค สส. ระบุว่า จะนำความเห็นที่ได้รับเสนอประธานกรรมาธิการฯ พร้อมสนับสนุนให้ตั้งคณะกรรมการหรืออนุกรรมการเพื่อศึกษาร่างกฎหมายดังกล่าว ก่อนนำเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎร           

ทั้งนี้ กฎหมายทั้ง 3 ฉบับของสภาผู้บริโภค มีเป้าหมายในการเพิ่มประสิทธิภาพการคุ้มครองผู้บริโภค โดยร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค มุ่งปรับปรุงให้สอดคล้องกับสิทธิผู้บริโภคสากล เพิ่มการคุ้มครองผู้บริโภคออนไลน์ และยกระดับกลไกการตัดสินชี้ขาด ส่วนร่าง พ.ร.บ.อาหาร เน้นควบคุมมาตรฐานอาหาร กำหนดหน้าที่ของผู้ประกอบธุรกิจ และปรับบทลงโทษให้เหมาะสม ขณะที่ร่าง พ.ร.บ.ความรับผิดเพื่อความชำรุดบกพร่องของสินค้า มุ่งแก้ปัญหาสินค้าที่ไม่ได้คุณภาพ โดยเฉพาะสินค้าที่มีเทคโนโลยีซับซ้อน พร้อมกำหนดสิทธิของผู้ซื้อให้ชัดเจน