หยุดลงนามสนธิสัญญา WIPO สภาผู้บริโภคยื่นคัดค้านต่อ รมต.

สภาผู้บริโภคเร่งเครื่องคัดค้านร่วมสนธิสัญญา WIPO เดินหน้ายื่นหนังสือถึงเลขาธิการคณะรัฐมนตรี พร้อมเรียกร้องให้มีการศึกษาวิจัยที่เป็นปัจจุบัน เพื่อประเมินผลกระทบอย่างรอบด้าน

สภาผู้บริโภคยื่นหนังสือถึงเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เพื่อขอให้ชะลอการให้ความเห็นชอบเข้าเป็นภาคีสนธิสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยทรัพยากรพันธุกรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่นที่เกี่ยวกับทรัพยากรพันธุกรรม (WIPO Treaty on Intellectual Property, Genetic Resources and Associated Traditional Knowledge) และขอให้มีการงานศึกษาวิจัยที่เป็นปัจจุบัน เปรียบเทียบให้เห็นถึงผลดี – ผลเสีย จากการเข้าร่วมเป็นภาคีสนธิสัญญาดังกล่าวฯ

สภาผู้บริโภคมีความเห็นว่า หากไม่มีมาตรการรองรับที่เหมาะสม อาจก่อให้เกิดปัญหาในระยะยาว รวมถึงความสุ่มเสี่ยงที่อาจเปิดช่องให้เกิดการแย่งชิงทรัพยากรพันธุกรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่นไปเป็นสมบัติขององค์กรหรือบุคคลต่างชาติ อีกทั้ง อาจขัดต่อกรอบการเจรจาของคณะรัฐมนตรี เรื่องกำหนดให้ป้องกันการละเมิดและการกระทำที่ไม่เหมาะสมต่อทรัพยากรพันธุกรรม

แม้ว่า สนธิสัญญาจะมีเจตนาที่ดีในการคุ้มครองทรัพยากรพันธุกรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่น แต่เนื้อหาบางส่วนยังมีความไม่ชัดเจนและมีช่องโหว่ที่อาจนำไปสู่การแสวงหาผลประโยชน์ หากเข้าร่วมสนธิสัญญาโดยไม่มีการศึกษาและมาตรการรองรับที่เหมาะสม จะส่งผลเสียต่อประเทศไทยในระยะยาว โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อเกษตรกรรายย่อยและชุมชนท้องถิ่น ดังนั้น การศึกษาวิจัยเพิ่มเติมและการหารืออย่างรอบด้านก่อนตัดสินใจเข้าร่วมสนธิสัญญาฯ จึงเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่ง

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้สภาผู้บริโภคได้ยื่นหนังสือถึงอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา เพื่อขอให้ทบทวนร่างสนธิสัญญาดังกล่าว แต่กรมทรัพย์สินทางปัญญายังคงเดินหน้านำร่างสนธิสัญญาฯ เข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี  สภาผู้บริโภคจึงต้องยกระดับการคัดค้านไปยังคณะรัฐมนตรีต่อไป ทั้งนี้ สภาผู้บริโภคขอทบทวนตัวอย่างความสุ่มเสี่ยงดังกล่าวที่อาจเกิดขึ้น เช่น 1) แม้จะมีกฎหมายกำหนดให้ผู้ขอจดสิทธิบัตรต้องเปิดเผยแหล่งที่มาของทรัพยากรพันธุกรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่น แต่กฎหมายกลับไม่อนุญาตให้เพิกถอนหรือทำให้สิทธิบัตรเป็นโมฆะหากผู้ยื่นคำขอไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดนี้ ส่งผลให้การป้องกันการแสวงหาประโยชน์จากทรัพยากรท้องถิ่นอาจไม่ได้ผลเท่าที่ควร 2) การจัดทำฐานข้อมูลเพื่อใช้เป็นแหล่งอ้างอิงที่มาของทรัพยากรพันธุกรรม ถูกกำหนดให้เป็นเพียงแค่ความสมัครใจของประเทศภาคีเท่านั้น และ 3) นอกจากมีความสุ่มเสี่ยง ตาม 1) และ 2) แล้วยังจะมีความสุ่มเสี่ยงที่จะเป็นการเปิดช่องให้มีการแก้ไข พระราชบัญญัติสิทธิบัตร เพื่อคุ้มครองพันธุ์พืชพันธุ์สัตว์ใหม่