ถั่วกระป๋อง หมดอายุเกือบปี! ยังวางขาย เข้าร้องสภาผู้บริโภค ได้ชดเชย 2 พัน

แทบช็อกถั่วกระป๋องซื้อจากซูเปอร์ชื่อดังหมดอายุเกือบปี เข้าร้องสภาผู้บริโภค เรียกร้องมูลค่าความเสียหายต่อจิตใจ สุดท้ายได้รับชดเชย 2 พัน

เรื่องเล่าผู้บริโภคต่อไปนี้เป็นเรื่องราวของผู้บริโภครายหนึ่งที่พบปัญหาอาหารหมดอายุไปแล้วเกือบปี ผู้บริโภคเล่าว่าเมื่อต้นเดือนธันวาคม 2567 ได้ไปซื้อของทานเล่นอย่างเช่น ลูกอม นมอัดเม็ด และถั่วกระป๋อง ที่ฟู้ดแลนด์ สาขาลาดพร้าว เมื่อเปิดถั่วกระป๋องรับประทานในวันถัดมา ได้กลิ่นเหม็นหืน ซึ่งเข้าใจว่าอาจเป็นเรื่องปกติของผลิตภัณฑ์ถั่วกระป๋องที่เก็บไว้ในห้องแอร์ แต่เมื่อรับประทานก็พบว่าถั่วมีรสชาติผิดปกติ จึงพลิกดูวันหมดอายุ พบว่าผลิตภัณฑ์หมดอายุตั้งแต่วันที่ 4 ธันวาคม 2566

“ตอนที่เปิดกระป๋องถั่วแล้วได้กลิ่นเหม็นหืนก็ไม่ได้คิดอะไร แต่พอทานเข้าไปรู้สึกว่าถั่วมีรสชาติผิดปกติ จึงได้พลิกดูวันหมดอายุ เมื่อเห็นวันหมดอายุก็ตกใจมาก เพราะของหมดอายุไปเกือบปีแล้วยังวางขายบนชั้นปกติ เป็นความผิดเราส่วนหนึ่งที่ไม่ได้ดูวันที่ก่อน แต่ร้านค้าก็ควรตรวจสอบสินค้าหรือไม่ แล้วทำไมปล่อยให้สินค้าที่หมดอายุเป็นปีวางขาย ไม่รู้ว่านอกจากกรณีของตัวเอง จะมีผู้เสียหายคนอื่นอีกหรือไม่” ผู้บริโภค กล่าว

เมื่อพบว่าสินค้าที่ซื้อมาหมดอายุ ผู้บริโภคจึงร้องเรียนมาที่สภาผู้บริโภค โดยเรียกร้องการเยียวยาจากร้านค้าที่จำหน่าย ไม่ใช่เป็นจำนวนมูลค่าผลิตภัณฑ์ แต่เป็นมูลค่าของความเสียหายต่อจิตใจ รวมถึงต่อสุขภาพ ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว เนื่องจากตัวผู้บริโภคได้รับประทานผลิตภัณฑ์ดังกล่าวไปแล้ว โดยหลังจากได้รับเรื่องร้องเรียน สภาผู้บริโภคได้ประสานงานไปยังร้านค้าเพื่อแจ้งปัญหา และแจ้งสิ่งที่ผู้บริโภคต้องการให้มีการเยียวยา สุดท้ายผู้บริโภคได้รับการชดเชยเยียวยาเป็นเงินจำนวน 2 พันบาท

สำหรับผู้บริโภคที่พบปัญหาลักษณะนี้ แนะนำให้รวบรวมหลักฐาน โดยเก็บหลักฐานตัวจริงทั้งหมดไว้ที่ตนเอง และไม่นำไปมอบให้หน่วยงานหรือผู้ประกอบการ จากนั้นโทรแจ้งศูนย์ลูกค้าสัมพันธ์ของผลิตภัณฑ์นั้น ๆ และแจ้งความต้องการ เช่น ขอให้แก้ไขปัญหา ขอคืนสินค้า ขอเงินคืน หรือขอให้ชดเชยเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้น อีกทั้งเรียกร้องให้ตรวจสอบวัน/เดือน/ปีที่หมดอายุบนสินค้าก่อน เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค และสำหรับร้านค้าที่จำหน่ายสินค้าที่หมดอายุจะมีความผิดทางกฎหมายตามพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ.2522 มาตรา 25(4) มาตรา 29 มีโทษจำคุก 5 ปี หรือปรับถึง 50,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ 

“แม้จะได้รับเงินชดเชย 2,000 บาท แต่เหตุการณ์ครั้งนี้ก็ได้สร้างบทเรียนและเตือนเราเองให้ระวัง ต่อไปจะซื้ออะไรที่ไหนก็ต้องตรวจสอบวันหมดอายุทุกครั้ง ไม่อยากให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้กับใครอีก และหวังว่าร้านจะมีมาตรการตรวจสอบสินค้าที่เข้มงวดขึ้น เพื่อป้องกันไม่ให้มีอาหารหมดอายุวางจำหน่ายบนชั้นวางสินค้าอีก” ผู้บริโภคกล่าวทิ้งท้าย

ทั้งนี้ เพื่อแก้ปัญหาอาหารหมดอายุถูกวางขายบนชั้น ที่ผู้บริโภคอาจเผลอหยิบไปโดยไม่ได้ดูวันที่ และส่งผลเสียต่อร่างกายเมื่อทานเข้าไป สภาผู้บริโภคได้เสนอปรับแก้ไข พ.ร.บ.อาหาร โดยฉบับสภาผู้บริโภคกำหนดให้อาหารหมดอายุจัดเป็นอาหารเสื่อมคุณภาพ และเพิ่มการควบคุมอาหารเสื่อมคุณภาพห้ามวางจำหน่าย ซึ่งผู้ประกอบการต้องดูแลตรวจสอบไม่ให้มีอาหารหมดอายุวางจำหน่ายเด็ดขาด ซึ่งจะช่วยให้ผู้บริโภคปลอดภัยจากการบริโภคอาหารที่เสื่อมคุณภาพได้ และหากร้านค้าไม่กำกับดูแลสินค้าจะมีโทษปรับตามกฎหมาย

ผู้บริโภคหากพบปัญหาและไม่ได้รับความเป็นธรรม ร้องเรียนกับสภาผู้บริโภค โทร 1502 ในวันและเวลาทำการ หรือร้องเรียนออนไลน์ที่เว็บไซต์ tcc.or.th