เจอราดำในขนมปังปี๊บ! ชดเชย 69 บาท เพียงพอจริงหรือ ?

เปิดขนมปังปี๊บเจอราดำ ความปลอดภัยของผู้บริโภคที่ผู้ประกอบการรับผิดชอบเพียงคำขอโทษและชดเชยเพียง 69 บาท… คุณว่าพอมั้ย?

จากกรณีผู้บริโภครายหนึ่งพบกับปัญหาพบเชื้อราดำบนขนมปังปี๊บ กลายเป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจในประเด็นความปลอดภัยในการบริโภคอาหาร เมื่อผู้บริโภคพบปัญหาขณะกำลังรับประทาน และเมื่อติดต่อร้านค้าและบริษัท ได้รับคำขอโทษและการชดเชยเพียงมูลค่าของขนมปัง 69 บาท ซึ่งดูเหมือนว่าอาจไม่เพียงพอต่อความเสียหายที่เกิดขึ้น (อ้างอิงจากข่าว :: สาวอึ้ง ขนมปังปี๊บ กำลังล้วงกินอร่อยๆ รู้สึกเปียก พอดูถึงกับตกใจ ราดำปี๋)

“เราปิดไฟนอนกินขนมปังปี๊ปในวันหยุดจนเกือบหมดปี๊บ ล้วงมือไปรู้สึกเปียก ๆ เมื่อเปิดไฟดูเป็นราดำปี๋ ขนมยี่ห้อนี้ค่อนข้างมีชื่อ ส่วนตัวเรามั่นใจผลิตภัณฑ์ เมื่อติดต่อไปที่ร้านบอกกลับมาว่าจะเอาขนมอันใหม่ หรือเอาเงินคืน เราบอกไปว่าแล้วแต่ สรุปร้านโอนเงินมาให้เรา 69 บาท และเราก็ส่งภาพไปให้ทางบริษัทด้วย เขาบอกว่าจะตรวจสอบสินค้าล็อตนั้น และมีการขอโทษ ถ้าเป็นอะไรขึ้นมาให้แจ้ง คือเราต้องเป็นอะไรก่อนใช่ไหม คือมันไปสะสมในร่างกายเรามันเป็นเชื้อรา แล้วผลกระทบที่จะตามมาล่ะ” ผู้บริโภคอธิบายเพิ่มเติม

เจอราดำในขนมปังปี๊บควรทำอย่างไร

สิทธิของผู้บริโภคในการได้รับความปลอดภัยจากสินค้าและบริการถือเป็นเรื่องสำคัญ กฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 ระบุชัดเจนว่า ผู้บริโภคมีสิทธิที่จะได้รับความปลอดภัยจากการใช้สินค้าหรือบริการ ไม่ว่าจะเป็น สิทธิที่จะได้รับสินค้าหรือบริการที่ปลอดภัย มีสภาพและคุณภาพได้มาตรฐานเหมาะสมแก่การใช้ ไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิต และมีสิทธิที่จะได้รับการชดเชยเยียวยาหากได้รับความเสียหายตามกฎหมาย

กรณีเชื้อราในขนมปังปี๊บข้างต้นถือเป็นความเสี่ยงต่อสุขภาพ ที่ผู้บริโภคควรได้รับการเยียวยาที่มากกว่ามูลค่าของสินค้า แต่ควรได้รับการเยียวยาเป็นมูลค่าของความเสียหายต่อจิตใจ รวมถึงสุขภาพทั้งในระยะสั้นและระยะยาว เนื่องจากผู้บริโภคได้รับประทานเข้าไปแล้ว แม้ว่าเชื้อราที่เกิดขึ้นในอาหารอาจไม่สามารถระบุได้ว่าอันตรายหรือไม่อันตราย จนกว่าจะทราบถึงชนิดของเชื้อรา แต่อาหารที่เกิดราไม่ควรทานไม่ว่ากรณีใด ๆ ทั้งสิ้น เพราะอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อร่างกายได้

เจอราดำในขนมปังปี๊บชวนร้องเรียนกับสภาผู้บริโภค

อย่าปล่อยให้ปัญหาความไม่ปลอดภัยที่ได้จากการบริโภคอาหารเป็นเรื่องปกติที่ต้องพบเจอ หากผู้บริโภคได้รับความเสียหาย เช่น สินค้าหมดอายุ สินค้ามีรสชาติแปลกไป สิ่งแปลกปลอมในอาหารหรือได้รับความเสียหายจากอาหารที่บริโภคเข้าไป เบื้องต้นสภาผู้บริโภคแนะนำให้รวบรวมหลักฐาน โดยเก็บหลักฐานตัวจริงทั้งหมดไว้ที่ตนเอง ห้ามให้หน่วยงานหรือผู้ประกอบการโดยเด็ดขาด จากนั้นโทรแจ้งศูนย์ลูกค้าสัมพันธ์ของผลิตภัณฑ์นั้น ๆ และแจ้งความต้องการที่จะให้บริษัทดำเนินการ เช่น ขอให้แก้ไขปัญหา ขอคืนสินค้า ขอเงินคืน หรือขอให้ชดเชยเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้น

ที่ผ่านมาสภาผู้บริโภคได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้บริโภคประเด็นอาหารไม่ปลอดภัย อาทิ พบสิ่งแปลกปลอมในอาหาร อาหารหมดอายุ และได้ช่วยเจรจากับผู้ประกอบการ ทำให้ผู้บริโภคได้รับความเป็นธรรม รวมถึงการชดเชียวยาที่เหมาะสม ดังนั้น ขอให้ผู้บริโภคควรตระหนักถึงสิทธิของตนเอง และไม่ควรปล่อยให้ถูกเอาเปรียบ ชวนรักษาสิทธิด้วยการร้องเรียน ซึ่งช่วยผลักดันให้ผู้ประกอบการตระหนักถึงความสำคัญของคุณภาพและความปลอดภัยของสินค้ามากยิ่งขึ้น หากพบปัญหาและไม่ได้รับความเป็นธรรม ร้องเรียนกับสภาผู้บริโภค โทร 1502 ในวันและเวลาทำการ หรือร้องเรียนออนไลน์ที่เว็บไซต์ tcc.or.th

ผลิตอาหารไม่ปลอดภัย ระวังผิดกฎหมาย พ.ร.บ. อาหาร

การที่ผู้ประกอบการผลิตอาหารที่ไม่ปลอดภัย ถือว่าเข้าข่ายผิดกฎหมายตาม พ.ร.บ. อาหาร พ.ศ. 2522 และต้องรับโทษตามมาตรา 58 มีโทษจำคุกถึง 2 ปี หรือปรับถึง 2 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ที่สำคัญหากไม่สามารถตกลงกันได้ ผู้บริโภคสามารถใช้กระบวนการฟ้องร้องต่อศาลโดยใช้กฎหมายช่วยฟ้องหรือ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 ในการฟ้องร้องได้ และยังขอความช่วยเหลือจากสภาผู้บริโภคด้านคดีได้อีกด้วยโดยไม่มีค่าใช้จ่าย