ส่องนโยบายผู้บริโภค ด้านอสังหาริมทรัพย์และที่อยู่อาศัย ประจำเดือนกรกฎาคม 2567

อนุกรรมการด้านอสังหาริมทรัพย์ฯ พิจารณาการจัดทำข้อเสนอต่อผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครให้ยุติกระบวนการรับฟังความคิดเห็นการวางและจัดทำผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร (ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 4) เหตุกระบวนการไม่เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด

จากการที่สภาผู้บริโภคได้จัดเวทีสาธารณะ “ผังเมือง กทม. ไปต่อ…พอแค่นี้? เมื่อวันอาทิตย์ที่ 30 มิถุนายน 2567 โดยมีการรับฟังข้อมูลจากนักวิชาการและรับฟังความคิดเห็นจากกลุ่มประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการดำเนินงานของกรุงเทพมหานครในการจัดรับฟังความคิดเห็นการวางและจัดทำผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร (ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 4) ได้พบข้อปัญหาหลายประการ ในการประชุมคณะอนุกรรมการด้านอสังหาริมทรัพย์และที่อยู่อาศัย สภาผู้บริโภค ครั้งที่ 6/2567 เมื่อวันพุธที่ 17 กรกฎาคม 2567 ซึ่งมี ผศ.ดร.จุมพล ชื่นจิตต์ศิริ กรรมการนโยบายสภาองค์กรของผู้บริโภค เป็นประธานในที่ประชุม  จึงได้พิจารณาเรื่องการจัดทำข้อเสนอต่อผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในกรณีการวางและจัดทำผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร (ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 4) ซึ่งมีสาระสำคัญ ได้แก่

1. การวางและจัดทำผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร (ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 4) เป็นการออกแบบเมืองโดยเน้นการเพิ่มความหนาแน่นเข้าสู่จุดศูนย์กลางของเมือง ไม่คำนึงถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น อาทิ ปัญหาการจราจร ปัญหาน้ำท่วม ปัญหาที่เกิดจากมลภาวะฝุ่น PM 2.5 การเกิดโรคอุบัติใหม่อย่าง Covid – 19 ขาดการส่งเสริมคุณภาพชีวิตของประชาชน ไม่เกิดความเป็นธรรมต่อกลุ่มคนผู้มีรายได้น้อย

2. มีการดำเนินการรับฟังความคิดเห็นที่ไม่เป็นไปตามขั้นตอนของประกาศคณะกรรมการผังเมือง เรื่อง หลักเกณฑ์ และวิธีการรับฟังความคิดเห็น การปรึกษาหารือ และการมีส่วนร่วมของประชาชนในการวางและจัดทำผังเมืองรวม พ.ศ. 2565 ที่กำหนดให้ต้องจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นฯ ในการวางและจัดทำผังเมืองรวม “ก่อน” ที่จะมีการจัดทำร่างผังเมืองรวม แต่ปรากฏว่ามีการนำ “ร่างผังเมืองรวมกรุงเทพมหานครฉบับเดิม” ที่จัดทำไว้ตั้งแต่ปี พ.ศ.2562 มาใช้เป็นเอกสารประกอบการประชุมรับฟังความคิดเห็นฯ กับประชาชน ซึ่งมีปัญหาและที่มาไม่ถูกต้อง ขาดการมีส่วนร่วมจากประชาชนส่วนใหญ่ จึงเป็นการกระทำที่ขัดต่อกฎหมาย และมิได้คำนึงถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับประชาชนในแต่ละพื้นที่

3. การจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นฯ นับตั้งแต่พระราชบัญญัติการผังเมือง พ.ศ. 2562 มีผลบังคับใช้ ไม่ได้มีการให้ข้อมูลที่เพียงพอต่อการที่ประชาชนจะเข้าใจถึงผลกระทบต่อตนเอง ต่อชุมชน สิ่งแวดล้อม ความหลากหลายทางชีวภาพ และแนวทางการเยียวยาความเดือดร้อน หรือความเสียหายแก่ประชาชนหรือชุมชน

4. ประชาชนในกรุงเทพมหานครจำนวนมาก ไม่ทราบถึงการเปิดรับฟังความคิดเห็นฯ ของกรุงเทพมหานครและได้เข้ามามีส่วนร่วมในการประชุมรับฟังความคิดเห็นฯ นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2560 – ปัจจุบัน มีเพียงประมาณ 20,000 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 0.39 ของประชากรทั้งหมดของกรุงเทพมหานครเท่านั้น  คณะอนุกรรมการฯ ได้มีมติเห็นชอบในการจัดทำข้อเสนอแนะต่อผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครที่สภาผู้บริโภคจะร่วมกับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เครือข่ายชุมชนปกป้องคุณภาพชีวิตคนเมือง สมาคมอนุรักษ์ศิลปกรรมและสิ่งแวดล้อม (SCONTE) มูลนิธิดวงประทีป มูลนิธิพร้อมใจพัฒนา มูลนิธิ ศ.อัน นิมมานเหมินทร์ สภาองค์กรชุมชนคลองเตย เครือข่ายผู้บริโภค 50 เขต รวมถึงกลุ่มประชาชนที่ได้รับผลกระทบที่จะเข้ายื่นหนังสือข้อเสนอแนะต่อผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และเห็นควรให้มีการจัดประชุมระดมความคิดเห็นในการดำเนินการทางกฎหมาย ต่อการวางและจัดทำผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร (ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 4) โดยให้มีการเชิญนักกฎหมาย และนักวิชาการที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ความเห็นต่อการดำเนินการทางกฎหมายที่เกี่ยวข้องต่อไป