ส่องนโยบายผู้บริโภค ด้านสินค้าฯ เดือน ก.ย. 67

เห็นชอบจัดทำข้อเสนอแนะต่อเฟซบุ๊กจัดการปัญหาการขายสินค้าและบริการผ่านเฟซบุ๊กที่กระทบสิทธิผู้บริโภค เห็นร่วมกันว่าแพลตฟอร์มต้องแต่งตั้งผู้แทนตามกฎหมาย PDPA ให้สามารถรับผิดชอบต่อผู้บริโภคที่ถูกหลอกลวงตามกฎหมายไทยอย่างเต็มที่

ในการประชุมคณะอนุกรรมการด้านสินค้าและบริการทั่วไป สภาผู้บริโภค ครั้งที่ 8/2567 มีการพิจารณาให้ความเห็นการจัดทำข้อเสนอแนะต่อเฟซบุ๊กผ่าน Meta Platform, Inc. เพื่อจัดการปัญหาการซื้อสินค้าทางแพลตฟอร์มเฟซบุ๊กที่มีการละเมิดสิทธิของผู้บริโภค เนื่องจากสำนักงานสภาผู้บริโภคมีการประชุมร่วมกับผู้แทนจากบริษัท เฟซบุ๊ก (ประเทศไทย) จำกัด และ Meta Platform Inc โดยมีข้อเสนอต่อเฟซบุ๊กผ่าน Meta Platform Inc ดังนี้

1. ขอให้เฟซบุ๊กมีนโยบายและมาตรการห้ามการจำหน่ายสินค้าหรือบริการบนแพลตฟอร์มโซเชียล มีเดีย หรือออแกนิกโพสต์หรือเพจ และให้มีจำหน่ายสินค้าหรือบริการเฉพาะบนอีมาร์เก็ตเพลสได้เท่านั้น

2. ขอให้เฟซบุ๊กเร่งจัดทำระบบเฝ้าระวัง รับเรื่องร้องเรียน คัดกรอง และปิดกั้นการกระทำที่ผิดกฎหมายของราชอาณาจักรไทยทั้งที่เป็นอาชญากรรมทางเทคโนโลยีตามพระราชกำหนดมาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ. 2566 การกระทำที่ละเมิดต่อพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2560 การกระทำในลักษณะเข้าข่ายการพนัน ชิงโชค ตามพระราชบัญญัติการพนัน พ.ศ. 2478 อย่างเข้มงวดจริงจังทุกรูปแบบ ทั้งการหลอกลวงประชาชน การหลอกลวงขายสินค้าและบริการ การจัดทำเพจปลอม การขายสินค้าผิดกฎหมายของราชอาณาจักรไทย การจำหน่ายสินค้ากล่องสุ่มที่มูลค่าของสินค้าน้อยกว่ามูลค่าทางการตลาดหรือไม่ได้คุณภาพ

3. ขอให้เฟซบุ๊กจัดตั้งนิติบุคคลในประเทศไทย เพื่อให้การกำกับดูแลแพลตฟอร์มที่มีการจำหน่ายสินค้าหรือบริการในประเทศไทยเป็นไปตามมาตรฐานเดียวกัน

4. ขอให้เฟซบุ๊กดำเนินการจดทะเบียนผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคลตามมาตรา 5 และปฏิบัติตามมาตร 37(5) ของพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 โดยที่ประชุมคณะอนุกรรมการฯ ได้มีข้อเสนอแนะเพิ่มเติมคือ เสนอให้เพิ่มเรื่องการจดทะเบียนข้อมูลส่วนบุคคล (PDPA) กับ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลตามมาตรา 5 วรรคสองเข้าไปด้วย

นอกจากนี้คณะอนุกรรมการด้านสินค้าฯ ได้มีการติดตามการขับเคลื่อนผลักดันนโยบายที่สำคัญ คือ

1. รับทราบผลการจัดประชุมความร่วมมือระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ ในการจัดการปัญหาการหลอกลวงซื้อขายสินค้าและบริการบนแพลตฟอร์มสื่อสังคมออนไลน์ โดยมีการพิจารณาถึงแนวทางความเป็นไปได้ในการจดทะเบียนผู้ขายออนไลน์ทุกราย ห้ามขายสินค้าผ่านแพลทฟอร์มโซเชียลมีเดียของเฟซบุ๊ก มาตรการตรวจจับและเฝ้าระวังการขายสินค้าผิดกฎหมายหรือสินค้าไม่ได้มาตรฐาน  

2. รับทราบผลการประชุมเพื่อการยกระดับมาตรฐานผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้า และอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งสำนักงานสภาผู้บริโภคได้จัดประชุมร่วมกับ สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เมื่อวันที่ 4 กันยายน 2567 ผลสรุปของการประชุมครั้งนี้คือ เห็นควรกำหนดให้กลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าเป็นผลิตภัณฑ์เป้าหมายในการเฝ้าระวังเพื่อยกระดับคุณภาพมาตรฐาน แบ่งเป็น กลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าในครัวเรือน กลุ่มเครื่องมือช่าง และอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับโซลาร์เซลล์

3. ความร่วมมือระหว่างสภาองค์กรของผู้บริโภค และสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม โดยมีการประชุมร่วมกันเมื่อวันที่ 4 กันยายน 2567 เพื่อสนับสนุนการสื่อสารประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจในการเลือกซื้อเลือกใช้สินค้าที่มีตรามาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมหรือ มอก.

4. การเเต่งตั้งคณะทำงานเฝ้าระวังสินค้าเเละบริการ โดยมีชัยภวิศร์ ธวัชชัยนันท์ อนุกรรมการด้านสินค้าและบริการทั่วไป เป็นประธานคณะทำงานฯ ซึ่งได้มีการประชุมครั้งแรกเมื่อวันพุธที่ 11 กันยายน 2567 ที่ผ่านมา เพื่อหารือแผนงานเฝ้าระวังราคาสินค้าและบริการที่กระทบต่อค่าครองชีพของประชาชน และเรื่องที่ 5 คือติดตามแนวทางการแก้ไขปัญหา กรณีถังแก๊สหมดอายุ และไม่ได้มาตรฐาน ทั้งนี้ได้เชิญณัฐพงศ์ ปิยวัณโณ ผู้อานวยการกองความปลอดภัยธุรกิจก๊าซปิโตรเลียมเหลว เข้าร่วมประชุมให้ข้อมูลต่อคณะอนุกรรมการฯ ร่วมด้วย