ส่องนโยบายผู้บริโภค ด้านการสื่อสาร โทรคมนาคม และเทคโนโลยีสารสนเทศ ประจำเดือนกรกฎาคม 2567

อนุกรรมการด้านการสื่อสาร โทรคมนาคมฯ พิจารณาการจัดทำข้อเสนอป้องกันภัยจากแก๊งคอลเซ็นเตอร์ เสนอ กสทช. เร่งจัดทำระบบ Caller ID เพื่อช่วยระบุตัวตนที่แท้จริงของผู้โทรก่อนการรับสาย

จากปัญหาการหลอกลวงของแก๊งคอลเซ็นเตอร์ที่มีการใช้เบอร์แปลกไม่ระบุตัวตนของผู้โทร ในการประชุมคณะอนุกรรมการด้านการสื่อสาร โทรคมนาคม และเทคโนโลยีสารสนเทศ สภาผู้บริโภค ครั้งที่ 6/2567 เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 11 กรกฎาคม 2567 ซึ่งมีนางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการนโยบาย เป็นประธานที่ประชุม ได้มีการพิจารณาถึงแนวทางและมาตรการเพื่อสร้างความปลอดภัยให้กับผู้ใช้บริการโทรคมนาคมจากภัยแก๊งคอลเซนเตอร์ โดยที่ประชุมเห็นว่าการจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบาย ควรเสนอโดยหลักการในการกำกับดูแลว่าควรมีเครื่องมือเช่น การจัดทำฐานข้อมูลเบอร์โทรดาวเทียม (Satellite sim database) หรือ Caller ID (Caller Identification) ที่เป็นการแสดงเบอร์โทรหรือการยืนยันตัวตนของผู้ที่โทรเข้ามาก่อนจะมีการรับสาย ที่มีหลักการทำงานคล้าย แอปพลิเคชัน Whoscall ซึ่งเป็นแอปพลิเคชันจากบริษัทเอกชนของประเทศไต้หวัน ที่มาเสนอบริการในประเทศไทยได้หลายปีแล้ว แต่หากมีเพียงแอปพลิเคชัน Whoscall เพียงรายเดียวอาจทำให้เกิดการผูกขาด ไม่เกิดการแข่งขัน ดังนั้นรัฐบาลควรสรรหาผู้เล่นรายใหม่เข้าสู่ตลาด หรือสนับสนุนให้ผู้ให้บริการในประเทศจัดทำระบบ Caller ID เพื่อเป็นทางเลือกเพิ่มเติมให้กับผู้บริโภค

คณะอนุกรรมการฯ เห็นว่า ควรมีการเสนอให้จัดทำหรือสรรหาหรือสร้างความร่วมมือให้เกิดระบบ Satellite sim database หรือบริการ Caller ID และเปิดให้ผู้บริโภคสามารถรายงาน (Report) และกรองข้อมูลผู้โทรเข้าได้ โดยอาจจัดทำเป็นแอปพลิเคชัน หรือระบบที่ฝังไว้ในโทรศัพท์ หรืออาจเป็นนวัตกรรมใหม่ เพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับผู้บริโภค และสร้างการแข่งขันเข้าสู่ตลาด ให้หลากหลายในประเทศไทย เพื่อเป็นการเตือนและป้องกันสำหรับผู้บริโภค และการจัดทำข้อเสนอนี้เห็นควรให้จัดทำข้อเสนอถึงนายกรัฐมนตรี เพื่อให้พิจารณาปัญหาเรื่องนี้เป็นวาระแห่งชาติ มีมาตรการป้องกันประชาชนโดยมีนวัตกรรมร่วมกับภาคเอกชน เพื่อป้องกันผู้บริโภคในประเทศ เพื่อเป็นทางเลือกให้แก่ผู้บริโภคได้ใช้ในการที่จะกรองเบอร์ที่โทรเข้ามาป้องกันการรับสายมิจฉาชีพ และขอให้มีการจัดทำแนวทางการป้องกันบูรณาการของทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้สอดคล้องกันและไปด้วยกัน เพื่อจะได้เห็นภาพว่าหน่วยงานไหนจะทำหน้าที่อะไร และให้มีตัวชี้วัดความคืบหน้า กำหนดช่วงเวลาความสำเร็จการดำเนินงานที่ชัดเจน

นอกจากนี้ คณะอนุกรรมการด้านการสื่อสารฯ ยังได้พิจารณาแผนการติดตามมาตรการและเงื่อนไขเฉพาะหลังการรวมธุรกิจด้านกิจการโทรคมนาคม ซึ่งจากผลการตรวจสอบการดำเนินงานของ กสทช. ในกรณีการรวมธุรกิจโทรคมนาคม ระหว่างบริษัท บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (ทรู) และ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด พบว่า สำนักงาน กสทช. ไม่เร่งรัดบังคับใช้มาตรการและเงื่อนไขเฉพาะหลังการรวมธุรกิจ โดยมีการนำเสนอวาระ แต่ยังไม่ดำเนินการ เนื่องจากรอมติ กสทช. ดังนี้

1) การไม่ตั้งคณะทำงานพหุภาคีเพื่อติดตามปัญหาสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่และอินเทอร์เน็ตมีคุณภาพต่ำ อัตราค่าบริการสูงขึ้น และการเปลี่ยนแปลงแพ็กเกจการให้บริการโดยอัตโนมัติ

2) การไม่มีแพ็กเกจค่าบริการต่ำเป็นพิเศษสำหรับผู้มีรายได้น้อยและผู้ด้อยโอกาสในสังคม

3) ไม่มีความคืบหน้าในการตรวจสอบมาตรการและเงื่อนไขเฉพาะเรื่องอัตราค่าบริการเฉลี่ยลดลงร้อยละ 12 ว่าบริษัทได้ดำเนินการตามนั้นจริงหรือไม่

4) กสทช. ไม่ประเมินผลกระทบจากการรวมธุรกิจของบริษัท เช่น สุ่มตรวจคุณภาพสัญญาณโทรศัพท์และอินเทอร์เน็ตเป็นประจำ รวบรวมเรื่องร้องเรียนเพื่อหาทางแก้ไข และรายงานการตรวจสอบต่อสาธารณะ

5) การขยายระยะเวลาแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อติดตามและประเมินผลการรวมธุรกิจฯ ที่หมดวาระไปเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2567

คณะอนุกรรมการด้านการสื่อสารฯ จึงเห็นชอบให้จัดเวทีติดตามมาตรการและเงื่อนไขเฉพาะหลังการรวมธุรกิจด้านกิจการโทรคม ในช่วงเดือน ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๖๗ โดยให้เชิญ นักวิชาการ รวมถึงตัวแทนภาคการเมือง เช่น สส. และ สว. มาร่วมเป็นวิทยากร และให้เสนอให้จัดกิจกรรมรณรงค์สร้างการรับรู้การไม่ปฏิบัติตามมาตรการและเงื่อนไขเฉพาะหลังการรวมธุรกิจของ สำนักงาน กสทช. และให้ปรึกษาหารือในการดำเนินการทางด้านกฎหมายด้วยในกรณีการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่หรือการปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบของบุคคลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง