ส่องนโยบายผู้บริโภค ด้านบริการสุขภาพ ประจำเดือนกรกฎาคม 2567

คณะอนุกรรมการด้านบริการสุขภาพ รับทราบผลการผลักดันนโยบายการแก้ไขกฎหมายประกันสังคม แนวทางแก้ไขปัญหาการส่งต่อผู้ป่วยบัตรทองในกรุงเทพมหานครเพื่อการคุ้มครองสิทธิของผู้บริโภค และแนวทางการแก้ไขปัญหาเรื่องผลกระทบต่อผู้ป่วยจากกรณี การให้บริการ premium services ในโรงพยาบาลรัฐ

ในการประชุมคณะอนุกรรมการด้านบริการสุขภาพ ครั้งที่ 7/2567 เมื่อวันจันทร์ที่ 15 กรกฎาคม 2567 ซึ่งมีนางสาวสุรีรัตน์  ตรีมรรคา กรรมการนโยบายและประธานอนุกรรมการด้านบริการสุขภาพ สภาผู้บริโภค เป็นประธานที่ประชุม ได้ติดตามความก้าวหน้าในการผลักดันนโยบายคุ้มครองผู้บริโภคด้านบริการสุขภาพที่สำคัญ 3 เรื่อง

เรื่องที่หนึ่ง รับทราบความคืบหน้างานการศึกษาการปรับปรุง (ร่าง) พระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. …. กรณีผู้ประกันตนไม่ต้องจ่ายค่าบริการสุขภาพ และนำเงินสมทบเรื่องสุขภาพเพิ่มเติมในบำนาญชราภาพ  โดยจะมีการจัดกิจกรรมที่สำคัญ ได้แก่ เวทีผลักดันข้อเสนอแนะ เรื่อง การปรับปรุง (ร่าง) พระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. …. กรณี ผู้ประกันตนไม่ต้องจ่ายค่าบริการสุขภาพ และนำเงินสมทบเรื่องสุขภาพเพิ่มเติมในบำนาญชราภาพ การประชุมหารือ เรื่อง (ร่าง) พรบ. ประกันสังคม พ.ศ. …. กรณี ผู้ประกันตนไม่ต้องจ่ายค่าบริการสุขภาพ และนำเงินสมทบเรื่องสุขภาพเพิ่มเติมในบำนาญชราภาพ จำนวน 2 ครั้ง และการจัดประชุมเชิงปฏิบัติการ (workshop) เพื่อเผยแพร่ความรู้ในกลุ่มผู้ประกันตน โดยคาดว่าจะดำเนินกิจกรรมในช่วงเดือนกันยายน 2567

เรื่องที่สอง สรุปผลการจัดเวทีสภาผู้บริโภค เรื่อง “แนวทางแก้ไขปัญหาการส่งต่อผู้ป่วยบัตรทองในกรุงเทพมหานครเพื่อการคุ้มครองสิทธิของผู้บริโภค” และการขับเคลื่อนข้อเสนอประเด็นเรื่อง โครงการคลินิกชุมชนอบอุ่นในกรุงเทพมหานคร จัดขึ้นเมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2567) ซึ่งสภาผู้บริโภคประชุมร่วมกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เพื่อหารือสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับปัญหาการเข้ารับบริการตามนโยบายของ สปสช. และร่วมกันกำหนดแนวทางในการสนับสนุนการดำเนินงานคุ้มครองสิทธิ รวมถึงการขยายกลไกในพื้นที่ เพื่อการคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคด้านบริการสุขภาพ และสามารถสรุปข้อเสนอแนะได้ 4 เรื่องคือ 1) เสนอให้กำหนดมาตรฐานการเบิกจ่ายของคลินิกได้ตามจริง เพื่อป้องกันปัญหาขาดแคลนงบประมาณและเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาในการกีดกันการรักษา 2) เสนอให้หน่วยงานกำกับดูแลบังคับใช้หรือกำหนดบทลงโทษหรือดำเนินคดีกับคลินิกที่ทำให้ผู้บริโภคไม่ได้รับความสะดวกในการใช้บริการหรือทำให้ได้รับความเดือดร้อน รวมทั้งต้องแจ้งความคืบหน้าในการลงโทษหรือดำเนินคดีให้สาธารณะทราบ 3) ให้ปรับเปลี่ยนรูปแบบการเบิกจ่ายเงินของคลินิกแต่ไม่ควรปรับเปลี่ยนสิทธิในการรักษาพยาบาล หรือหากมีการปรับเปลี่ยนสิทธิการรักษาไปอยู่ในหน่วยบริการอื่น จะต้องอำนวยความสะดวกสามารถเปลี่ยนได้ในสถานที่ราชการ หรือช่วยอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้บริโภคที่ไม่สามารถเปลี่ยนสิทธิทางออนไลน์ได้ด้วยตัวเอง และ 4) สายด่วน สปสช. 1330 อาจต้องจัดสรรบุคลากร และเพิ่มคู่สายเพื่อรองรับผู้บริโภคที่ต้องการสอบถามหรือแจ้งปัญหา ซึ่งภายหลังจากการจัดเวทีดังกล่าว สภาผู้บริโภคได้จัดส่งหนังสือข้อเสนอไปยังหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง จำนวน 4 หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คือ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กรุงเทพมหานคร (กทม.) กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาะรณสุข และแพทยสภา โดยที่ประชุมอนุกรรมการฯ เห็นชอบให้บรรจุเรื่อง ปัญหาการส่งต่อผู้ป่วยในกรุงเทพมหานครเป็นหนึ่งในแผนงานของอนุกรรมการด้านบริการสุขภาพ และเห็นชอบให้มีการจัดเวทีติตตามความคืบหน้าในทุก ๆ 3 เดือน รวมทั้งติดตามการแก้ปัญหาระยะยาว

เรื่องที่สาม แนวทางการแก้ไขปัญหาเรื่องผลกระทบต่อผู้ป่วยจากกรณี การให้บริการ premium services ในโรงพยาบาลรัฐ ซึ่งที่คณะอนุกรรมการฯ เห็นชอบให้สำนักงานสภาผู้บริโภคติดตามสถานการณ์เรื่องแพทย์ขาดแคลน และการควบคุมมาตรฐานบริการสาธารณสุข และเสนอประเด็นให้มีการบูรณาการบุคลากรทางแพทย์ระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน และให้นำไปเป็นประเด็นหารือเพื่อแลกเปลี่ยนกับคณะอนุกรรมการด้านอื่น ๆ ในการหารือร่วมต่อไป