ส่องนโยบายผู้บริโภค ด้านการขนส่งและยานพาหนะ ประจำเดือนกรกฎาคม 2567

คณะอนุกรรมการด้านขนส่งฯ สภาผู้บริโภค พิจารณาการดำเนินงานขับเคลื่อนนโยบายด้านขนส่งและยานพาหนะ ของเครือข่ายองค์กรของผู้บริโภคพื้นที่ภาคเหนือ และพิจารณาข้อเรียกร้อง ผู้แทนพนักงานและลูกจ้างการทางพิเศษแห่งประเทศไทยให้ทบทวนแนวทางการขยายสัมปทานของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย

ที่ประชุมคณะอนุกรรมการด้านการขนส่งและยานพาหนะ สภาผู้บริโภค ครั้งที่ 6/2567 เมื่อวันจันทร์ที่ 15 กรกฎาคม 2567 ซึ่งมีนายแพทย์อนุชา เศรษฐเสถียร เป็นประธานที่ประชุม ได้มีการพิจารณา 2 เรื่องสำคัญ

เรื่องแรก คือการดำเนินการขับเคลื่อนนโยบายด้านขนส่งและยานพาหนะของเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคในพื้นที่ภาคเหนือ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการแผนงานร่วมทุนสนับสนุนองค์กรผู้บริโภคเพื่อการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะที่ปลอดภัยและเป็นธรรมในพื้นที่เป้าหมาย 6 ภูมิภาค ที่สภาผู้บริโภคดำเนินการร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สำหรับพื้นที่ภาคเหนือมีการดำเนินงาน 6  จังหวัด ประกอบด้วย จังหวัดพะเยา เชียงใหม่ เชียงราย ลำปาง ลำพูน และน่าน โดยประเด็นด้านการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะที่ปลอดภัยและเป็นธรรมนั้น ได้ให้ความสำคัญในพื้นที่ปฏิบัติการหลักใน 2 จังหวัดใหญ่คือ 1. จังหวัดเชียงใหม่ ทำงานร่วมกับสภาลมหายใจเชียงใหม่ ภายใต้แผนหลัก 5 ส่วน คือ 1) ขนส่งสาธารณะในเขตเมืองมีเส้นทางครอบคลุมทั่วถึง 2) Smart Station : จุดจอดสะดวก สะอาด ปลอดภัย 3) Car Safety, Smart Driver: รถโดยสารปลอดภัย มีมาตรฐาน คนขับใจดี 4) รถโดยสารพลังงานสะอาด เพื่ออากาศสะอาด และสิ่แวดล้อมที่ดี และ 5) รณรงค์ให้ประชาชนปรับเปลี่ยนพฤติกรรมใช้ขนส่งสาธารณะ ลดการใช้รถยนต์ส่วนตัว

2. จังหวัดลำปาง มีเป้าหมายการพัฒนารถสองแถวสี่ล้อเขียวเหลืองสู่การท่องเที่ยวในเขตเมืองลำปาง โดยมีข้อเสนอสำคัญต่อการพัฒนา คือ การพัฒนาจุดจอดและจุดพักคอยผู้โดยสารที่ได้มาตรฐานมีความปลอดภัย มีป้ายแสดงข้อมูลการเดินทางให้กับผู้บริโภครับทราบ ยกระดับคุณภาพมาตรฐานพนักงานขับรถ และส่งเสริมการท่องที่ยวด้วยรถสี่ล้อเขียวเหลืองไปในเส้นทางถนนสายวัฒนธรรมในเขตเมืองลำปาง

สำหรับประเด็นการจัดการระบบรถรับส่งนักเรียนปลอดภัย ให้ความสำคัญในการพัฒนาโรงเรียนศูนย์การเรียนรู้ฯ จำนวน 10 โรงเรียน และโรงเรียนพัฒนาสู่ต้นแบบ จำนวน 60 โรงเรียน ในพื้นที่ปฏิบัติการ 6 จังหวัด คือ พะเยา เชียงใหม่ เชียงราย ลำปาง ลำพูน และน่าน นอกจากนี้ยังมีแผนขยายผลการขับเคลื่อนแนวทางการจัดระบบรถรับส่งนักเรียนปลอดภัยสู่โรงเรียนสังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ของจังหวัดเชียงใหม่ จำนวน 4 โรงเรียน และในประเด็นการพัฒนาแกนนําเครือข่ายองค์กรของผู้บริโภค มีเป้าหมายสำคัญในการผลักดันให้มีตัวแทนองค์กรผู้บริโภคเข้าไปเป็นคณะกรรมการหรือคณะทำงานในศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนจังหวัด ซึ่งปัจจุบันภาคเหนือมีตัวแทนเข้าร่วมเป็นคณะกรรมการแล้ว 4 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดพะเยา เชียงใหม่ เชียงราย และลําปาง โดยเฉพาะจังหวัดเชียงรายนอกจากองค์กรผู้บริโภคจะเข้าเป็นคณะกรรมการศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนจังหวัดแล้ว จังหวัดเชียงรายยังมีคณะทํางานขับเคลื่อนรถรับส่งนักเรียนปลอดภัยภายใต้คณะกรรมการศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนจังหวัดอีกด้วย นับเป็นกลไกขับเคลื่อนสำคัญที่นอกจากจะเน้นนโยบายด้านความปลอดภัยทางถนนแล้ว ยังสามารถใช้กลไกดังกล่าวขับเคลื่อนนโยบายด้านขนส่งสาธารณะและรถรับส่งนักเรียนควบคู่กันไปด้วยได้

เรื่องที่สอง คณะอนุกรรมการฯ ได้พิจารณาข้อร้องเรียนจากผู้แทนพนักงานและลูกจ้างการทางพิเศษแห่งประเทศไทย ที่ได้มีหนังสือถึงสภาองค์กรของผู้บริโภคเมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2567 เพื่อขอให้สภาผู้บริโภคพิจารณาทบทวนการขยายสัมปทานทางด่วนของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย กรณีการสร้างทางยกระดับชั้น 2 (Double Deck) ซึ่งที่ประชุมคณะอนุกรรมการฯฯ ได้มีมติมอบหมายให้ฝ่ายเลขานุการฯ ประสานงานและจัดทำหนังสือเชิญการทางพิเศษแห่งประเทศไทย เข้าร่วมประชุมเพื่อนำเสนอข้อมูลการก่อสร้างทางด่วน Double Deck ต่อที่ประชุมคณะอนุกรรมการฯ ในการประชุมครั้งถัดไป