ส่องนโยบายผู้บริโภค ด้านการเงินและการธนาคาร ประจำเดือนกรกฎาคม 2567

อนุกรรมการด้านการเงินและการธนาคาร เห็นชอบให้จัดประชุมเพื่อเสนอแนะมาตรการหน่วงเงินโอน (Slow Payment หรือ Delay Transaction) รวมถึงมาตรการตัวกลางการชำระเงิน กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คือ ธนาคารแห่งประเทศไทย สถาบันการเงิน สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์

 จากปัญหาภัยทุจริตทางการเงินที่สร้างความเสียหายกับประชาชนผู้ใช้บริการฝากเงินกับสถาบันการเงินเป็นจำนวนมาก ในการประชุมคณะอนุกรรมการด้านการเงินและการธนาคาร ครั้งที่ 6/2567 เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 11 กรกฎาคม 2567  ซึ่งมีนายกมล กมลตระกูล กรรมการนโยบาย และประธานอนุกรรมการฯ เป็นประธานในที่ประชุม ได้พิจารณาจัดทำร่างข้อเสนอมาตรการหน่วงเงินโอน (Slow Payment หรือ Delayed Transaction ) เพื่อเสนอต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยนายกมลมีข้อเสนอได้แก่ 1) เสนอให้ศึกษากฎหมายของจีนและสิงคโปร์เรื่องความปลอดภัยทางไซเบอร์ (Cyber Security) เพื่อให้มีการปรับปรุง แก้ไข กฎหมาย กฎระเบียบ และนโยบายตามแนวทางของกฎหมายของจีนและสิงคโปร์ คือกำหนดให้ผู้ให้บริการเครือข่ายโทรคมนาคม (Network operators) และสถาบันการเงินมีหน้าที่ดูแลและสร้างระบบความปลอดภัยป้องกันข้อมูลและเงินลูกค้าหากบกพร่องจะมีความผิดตามกฎหมาย 2) เสนอมาตรการเร่งด่วนให้ธนาคารแห่งประเทศไทยออกประกาศ หรือออกระเบียบ ให้สถาบันการเงินทุกประเภทดำเนินมาตรการ Slow payment หรือ Delayed transaction อย่างน้อย 30-60 นาทีในยอดเงินที่สูงกว่า 5,000 บาท หรือเมื่อเจ้าของบัญชีไปแสดงตัวที่สำนักงานว่าไม่ต้องการใช้มาตรการนี้และยอมรับความเสี่ยงเอง 3) เสนอให้นำระบบการจ่ายเงินผ่านนิติบุคคลที่ 3 หรือตัวกลาง เช่น PayPal ที่เป็นตัวกลาง (Escrow) มาใช้ในการซื้อขายออนไลน์ โดยในประเทศไทยเสนอให้ตัวกลางการชำระเงินเป็นผู้จดทะเบียนในประเทศไทย และให้สมาคมธนาคารไทยและธนาคารพาณิชย์ลงทุนเป็นตัวกลางในการชำระเงิน โดยการโอนเงินผ่านตัวกลางการชำระเงินจะช่วยชะลอการโอนเงินไปยังปลายทาง หากเกิดความเสียหายหรือพบว่าเป็นบัญชีมิจฉาชีพผู้บริโภคจะสามารถยับยั้งเงินได้ทันเวลา

ทั้งนี้อนุกรรมการฯ ทั้งหมดเห็นด้วยกับการจัดทำข้อเสนอที่ประธานอนุกรรมการฯ เสนอ แต่เพื่อให้การจัดทำข้อเสนอมีข้อมูลที่รอบด้านคณะอนุกรรมการฯ จึงเห็นชอบให้จัดเวทีประชุมเพื่อเสนอข้อเสนอแนะและรับฟังความคิดเห็นต่อมาตรการหน่วงเงินโอน มาตรการตัวกลางการชำระเงิน กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น ธนาคารแห่งประเทศไทย สถาบันการเงิน สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ สมาคม e-wallet เป็นต้น

 นอกจากนี้ที่ประชุมอนุกรรมการฯ ได้มอบหมายให้นางสาวธารทิพย์ ศรีสุวรรณเกศ เป็นผู้แทนอนุกรรมการด้านการเงินและการธนาคาร เข้าร่วมประชุมในคณะกรรมการขับเคลื่อนโครงการเปิดกว้างให้ใช้ประโยชน์จากข้อมูลตามสิทธิของผู้ใช้บริการ (Steering Committees on Open Banking Data for Consumers Empowerment) ของธนาคารแห่งประเทศไทย หารือในประเด็นด้านแนวทางการคุ้มครองผู้บริโภค ของโครงการ Open Banking Data ได้แก่ ความครอบคลุมของผู้ให้บริการข้อมูล ประสบการณ์การใช้งานของประชาชน รวมทั้งมอบหมายให้อนุกรรมการฯ พิจารณาให้ความคิดเห็นและข้อเสนอแนะเพื่อประกอบการพิจารณาประเมินผลสัมฤทธิ์ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 58 ในส่วนที่อยู่ภายใต้อำนาจและหน้าที่ของกระทรวงการคลัง และ ให้ความคิดเห็ร ต่อ(ร่าง) หลักเกณฑ์การคิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้และการตัดชำระหนี้ ซึ่ง ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้เปิดรับฟังความคิดเห็น