ส่องนโยบายผู้บริโภค ด้านอสังหาฯ เดือน ก.ย. 67

เห็นชอบแผนปฏิบัติงานอนุกรรมการด้านอสังหาริมทรัพย์และที่อยู่อาศัย สภาผู้บริโภค และแผนการทำงานร่วมอนุกรรมการ 3 ด้าน ภายใต้ปีงบ 68

ช่วง 6 เดือนหลัง ปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 (เมษายน – กันยายน 2567) คณะอนุกรรมการด้านอสังหาริมทรัพย์และที่อยู่อาศัย สภาผู้บริโภค ได้มีการติดตามผลักดันข้อเสนอต่อการวางและจัดทำผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร ที่พบปัญหากระบวนการรับฟังความคิดเห็นที่ไม่เป็นไปตามกฎหมายผังเมืองกำหนดในหลายประการ อาทิ มีการดำเนินการรับฟังความคิดเห็นที่ไม่เป็นไปตามขั้นตอนของประกาศคณะกรรมการผังเมือง เรื่อง หลักเกณฑ์ และวิธีการรับฟังความคิดเห็น การปรึกษาหารือ และการมีส่วนร่วมของประชาชนในการวางและจัดทำผังเมืองรวม พ.ศ. 2565 ที่กำหนดให้ต้องจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นฯ ในการวางและจัดทำผังเมืองรวม “ก่อน”ที่จะมีการจัดทำร่างผังเมืองรวม

แต่ปรากฏว่ามีการนำ “ร่างผังเมืองรวมกรุงเทพมหานครฉบับเดิม” ที่จัดทำไว้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2562 มาใช้เป็นเอกสารประกอบการประชุมรับฟังความคิดเห็นฯ กับประชาชน ซึ่งมีปัญหาและที่มาไม่ถูกต้อง ขาดการมีส่วนร่วมจากประชาชนส่วนใหญ่ จึงเป็นการกระทำที่ขัดต่อกฎหมาย และมิได้คำนึงถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับประชาชนในแต่ละพื้นที่

นอกจากนี้ ที่ประชุมคณะอนุกรรมการฯ ได้พิจารณาร่างแผนปฏิบัติงานอนุกรรมการด้านอสังหาริมทรัพย์และที่อยู่อาศัย รวมถึงแผนการทำงานร่วมอนุกรรมการ 3 ด้านของกลุ่มโครงสร้างพื้นฐาน ได้แก่ คณะอนุกรรมการด้านอสังหาริมทรัพย์และที่อยู่อาศัย คณะอนุกรรมการด้านขนส่งและยานพาหนะ และคณะอนุกรรมการด้านบริการสาธารณะ พลังงาน และสิ่งแวดล้อม ภายใต้ปีงบประมาณ 2568 โดยมีเป้าหมาย คือ เมืองที่ทุกคนเป็นเจ้าของ, ลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงที่อยู่อาศัย ผู้มีรายได้น้อยสามารถเข้าถึงที่อยู่อาศัยได้อย่างเป็นธรรม , สร้างความเป็นธรรมในสัญญา, เพิ่มการมีส่วนร่วมของประชาชนในการพัฒนาเมือง เพื่อให้เกิดเมืองที่เป็นธรรม (Just City) และมีวัตถุประสงค์การดำเนิงาน ได้แก่

1. ผลักดันให้เกิดความเป็นธรรมในการทำสัญญา ซื้อบ้าน – คอนโด ต้องไม่ถูกริบ เงินจอง เงินดาวน์

2. สร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนในการพัฒนาเมือง อาทิ การรับฟังความเห็นผังเมือง , การรับฟังความเห็นต่อการสร้างอาคาร หมู่บ้านจัดสรร, การสำรวจสภาพปัญหาของประชาชนก่อนที่จะมีการดำเนินการจากหน่วยงาน เช่น การเวนคืนที่ดิน การก่อสร้างคอนโด – หมู่บ้านจัดสรร

ในการประชุมคณะอนุกรรมการด้านอสังหาริมทรัพย์ครั้งนี้ ได้รับทราบผลการจัดประชุมเพื่อนำเสนอผลการวิจัยศึกษาแนวทางพัฒนาการคุ้มครองผู้บริโภค ให้ได้รับความเป็นธรรมในการทำสัญญาในทุกด้าน โดยผู้วิจัย คือ ดร. กฤษฎา แสงเจริญทรัพย์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ซึ่งพบปัญหาความไม่เป็นธรรมในการทำสัญญาในประเทศไทย 3 ข้อ ได้แก่

1) ปัญหาด้านข้อจำกัดอำนาจหน้าที่ของสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) สามารถออกประกาศควบคุมสัญญาได้เฉพาะแต่ข้อสัญญาที่มีกฎหมายกำหนดให้เป็นตัวหนังสือ

2) สภาพบังคับของประกาศธุรกิจที่ควบคุมสัญญา

และ 3) การให้ความคุ้มครองแก่ผู้บริโภคในส่วนภูมิภาค ความรู้ความเข้าใจของเจ้าหน้าที่ อัตรากำลัง การทำงานอยู่ในลักษณะที่เป็นงานฝากไว้กับหน่วยงานอื่น เช่น ศูนย์ดำรงธรรม ขณะเดียวกันข้อจำกัดอำนาจของศาลยุติธรรม ศาลสามารถใช้ดุลพินิจในการตีความได้เฉพาะในกรณีที่กฎหมายเปิดช่องให้เท่านั้น และปัญหาการใช้ดุลพินิจที่อาจเป็นการแทรกแซงการแข่งขันทางการค้า ทั้งนี้ ผลการศึกษามีข้อเสนอ อาทิ การทำการศึกษาเพื่อจัดตั้งหน่วยงานกลางเพื่อทำหน้าที่ กำกับดูแล ตรวจสอบ ให้คำรับรองข้อสัญญา ควรผลักดันให้เกิดแนวทางหรือมาตรการในการให้ความคุ้มครองแก่ผู้บริโภคจากการทำสัญญาอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น