12.12 เทศกาลของนักชอปออนไลน์ได้วนกลับมาอีกครั้ง เหล่าร้านค้าออนไลน์ต่างก็ออกโปรโมชัน ลด แลก แจก แถม รวมถึงโปรโมชันส่งฟรีที่ขนกันมาโฆษณาอย่างคับคั่ง
อย่างไรก็ตามแแม้ว่าจะมีสิ่งเหล่านั้นล่อตาล่อใจขนาดไหน ผู้บริโภคควรสังเกตและระมัดระวังในการเลือกซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ในขณะเดียวกันการซื้อสินค้าออนไลน์ก็มักพบเจอปัญหาตามมา เช่น สั่งซื้อสินค้าแต่ไม่ได้รับสินค้า การได้รับสินค้าไม่ตรงปกหรือแม้กระทั่งการได้รับสินค้าที่ไม่มีคุณภาพ สภาผู้บริโภคจึงขอเตือนภัยสำหรับสายช้อปออนไลน์ถึง 3 ข้อควรระวังเพื่อเป็นข้อมูลในการเลือกซื้อสินค้าว่าหากเจอแบบนี้ “อย่า” โดยเด็ดขาดเพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค
- พบเจอการโฆษณาที่เป็นเท็จหรือเกินจริง “อย่าซื้อ” ซึ่งการโฆษณาสินค้าโดยใช้ข้อความที่เป็นเท็จหรือเกินจริงและส่งผลให้ผู้บริโภคเกิดความเข้าใจผิดในสาระสำคัญเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการ เช่น การโฆษณาจำหน่ายเสริมอาหารที่ช่วยรักษาโรคได้ การโฆษณาคุณสมบัติของสินค้านั้นๆแต่ไม่สามารถทำได้จริง และต้องระมัดระวังสินค้าที่เข้าข่ายผิดกฎหมาย หรือสินค้าจำพวกอาหาร ยา หรืออาหารเสริมที่ถูกถอดถอนเลขทะเบียนของ อย. ไปแล้วแต่ยังนำมาขายอยู่ จากข้อมูลการเฝ้าระวังของสภาองค์กรของผู้บริโภคในช่วงที่ผ่านมาพบว่า มีการวางจำหน่ายสินค้าที่เข้าข่ายผิดกฎหมาย เช่น การใส่ส่วนประกอบที่เป็นอันตรายลงในผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เครื่องสำอาง ยาน้ำสมุนไพร เป็นต้น เบื้องต้นจึงแนะนำว่าผู้บริโภคควรตรวจสอบก่อนซื้อสินค้าในกลุ่มดังกล่าว โดยสามารถนำชื่อและเลขทะเบียนของผลิตภัณฑ์ไปตรวจสอบได้ที่ เว็บไซต์ของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้ที่ oryor.com
- ตรวจสอบร้านค้าหรือผู้ขายหากมีประวัติการฉ้อโกงมาก่อน “อย่าซื้อ” ควรเช็กว่าผู้ขายหรือร้านค้านั้นมีประวัติการฉ้อโกงหรือไม่ก่อนตัดสินใจซื้อสินค้า โดยสามารถเข้าตรวจสอบรายชื่อคนโกงได้ที่เว็บไซต์ www.blacklistseller.com นอกจากนี้ยังสามารถการตรวจสอบผู้ขายรายนั้น ๆ ว่ามีการลงทะเบียนการค้าขายออนไลน์กับกรมพัฒนาธุรกิจการค้าหรือไม่ ได้ที่เว็บไซต์กรมพัฒนาธุรกิจการค้า www.dbd.go.th เพื่อลดความเสี่ยงในการซื้อสินค้าจากช่องทางออนไลน์ได้อีกทางหนึ่ง
- ขายสินค้าในราคาถูกมากเกินควรหลีกเลี่ยง “อย่าซื้อ” หากพบเจอร้านค้าที่จำหน่ายสินค้าแบรนด์หรือร้านค้าที่ลดราคาพิเศษและขายสินค้าที่ราคาถูกมากเกินควร นั่นอาจส่งผลให้ผู้บริโภคพบปัญหาได้รับสินค้าไม่ตรงปกหรือโอนเงินแล้วไม่ได้รับสินค้า ดังนั้นจึงควรตรวจสอบร้านค้าหรือผู้ขายก่อนตัดสินใจซื้อ
ข้อควรรู้ : ผู้บริโภคควรเก็บหลักฐานในการซื้อขาย เพื่อใช้ประกอบการดำเนินคดีในกรณีที่โดนโกง หรือ ถูกหลอกลวง ไว้กับตัวด้วย หลักฐานที่ควรเก็บไว้ มีดังนี้
- เก็บหรือขออีเมลของร้านค้าไว้เพื่อเป็นประโยชน์ในการดำเนินคดี
- รูปสินค้าและโฆษณาที่แสดงรายละเอียดของสินค้า
- ข้อความการสนทนาระหว่างการซื้อ – การขายไว้เป็นหลักฐาน
- สลิปการโอนเงินและเลขที่บัญชีร้านค้า
- เก็บหลักฐานอื่น ๆ เช่น บัตรประจำตัวประชาชนของผู้ขายไว้ (ถ้ามี)
ข้อแนะนำผู้บริโภค : หากเป็นกรณีการเรียกเก็บเงินปลายทาง ผู้บริโภคสามารถใช้สิทธิ “มาตรการส่งดี (Dee-Delivery)” ให้ผู้ประกอบธุรกิจให้บริการขนส่งสินค้า ต้องระบุรายละเอียดเกี่ยวกับผู้ส่งสินค้าและผู้ประกอบธุรกิจ ชื่อสกุลผู้รับเงินพร้อมหมายเลขติดตามพัสดุ กำหนดให้ผู้ให้บริการขนส่งสินค้าถือเงินค่าสินค้าเป็นระยะเวลา 5 วันก่อนนำส่งเงินให้กับผู้ขาย เพื่อให้ผู้บริโภคมีโอกาสแจ้งเหตุที่ขอคืนสินค้าและขอเงินคืน ให้สิทธิผู้บริโภคสามารถเปิดดูสินค้าก่อนชำระเงินได้ โดยหากพบว่า มีปัญหา ผู้บริโภคสามารถปฏิเสธการชำระเงินและไม่รับสินค้าได้
ทั้งนี้ หากผู้บริโภคท่านใดได้รับความเสียหายจากการซื้อสินค้าออนไลน์ สามารถแจ้งความดำเนินคดีกับสถานีตำรวจในพื้นที่โดยเร็วที่สุดหรือแจ้งความออนไลน์ได้ทางเว็บไซต์ www.thaipoliceonline.go.th หรือสามารถแจ้งเบาะแสมายังสภาองค์กรของผู้บริโภคได้ที่เบอร์สายด่วน 1502 ตามช่องทางด้านล่างดังต่อไปนี้
- ร้องเรียนออนไลน์ผ่านเว็บไซต์ tcc.or.th คลิกลิงก์ https://crm.tcc.or.th/?entryPoint=Portal&action=complain…
- ไลน์ออฟฟิเชียล (Line Official) : @tccthailand คลิกลิงก์ https://lin.ee/uhDyO1U
- อินบ็อกซ์เฟซบุ๊ก (Facebook Inbox) : สภาองค์กรของผู้บริโภค
- อีเมล : [email protected]
- โทรศัพท์ : 1502