สภาผู้บริโภคจี้ กรมทรัพย์สินทางปัญญาทบทวนการเสนอให้ไทยเข้าร่วมสนธิสัญญา WIPO เสี่ยงกระทบเกษตรกรและภูมิปัญญาท้องถิ่น หวั่นประเทศถูกลดอำนาจการปฏิเสธคำขอสิทธิบัตร
วันที่ 6 ธันวาคม 2567 นางสาวกรรณิการ์ กิจติเวชกุล อนุกรรมการด้านอาหาร ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพ สภาผู้บริโภค เปิดเผยถึงกรณีที่กรมทรัพย์สินทางปัญญากำลังเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาเข้าร่วมเป็นภาคีในสนธิสัญญาว่าด้วยทรัพยากรพันธุกรรม และภูมิปัญญาท้องถิ่นที่เกี่ยวข้อง (WIPO Treaty on Intellectual Property, Genetic Resources and Associated Traditional Knowledge) โดยชี้ว่าการตัดสินใจครั้งนี้อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อเกษตรกรรายย่อยและชุมชนท้องถิ่นของประเทศไทย
แม้ว่า สนธิสัญญาดังกล่าวจะถูกอ้างมีบทบาทสำคัญในการกำหนดแนวทางมาตรฐานสากล โดยวัตถุประสงค์หลักของสนธิสัญญานี้ คือ การกำหนดให้ผู้ยื่นคำขอรับสิทธิบัตรเปิดเผยแหล่งที่มาของทรัพยากรพันธุกรรม และชุมชน ชนเผ่าพื้นเมือง หรือชุมชนท้องถิ่นที่ให้ความรู้ดั้งเดิม ที่จะได้รับการคุ้มครองอย่างเพียงพอภายใต้ระบบทรัพย์สินทางปัญญาในระดับโลก
แต่ทั้งนี้ จากการประชุมรับฟังความคิดเห็น เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2567 ที่จัดโดยกรมทรัพสินทางปัญญา ซึ่งมีนักวิชาการด้านทรัพยากรพันธุกรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่น และสิทธิบัตรเข้าร่วม และจากการประชุมครั้งนี้สรุปได้ว่าสนธิสัญญาฯ ดังกล่าวยังมีความสุ่มเสี่ยงที่จะทำให้เกิดการแย่งชิงพันธุกรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่นไปเป็นสมบัติส่วนบุคคล หลักการในการคุ้มครองสิทธิภูมิปัญญาชนพื้นเมืองและชุมชนท้องถิ่น ยังไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่กล่าวอ้าง
สภาผู้บริโภคมีความเห็นว่าเนื้อหาของสนธิสัญญาฯ อาจเปิดช่องให้เกิดการแย่งชิงทรัพยากรพันธุกรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่นไปเป็นสมบัติขององค์กรหรือบุคคลต่างชาติ เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2567 จึงยื่นหนังสือขอให้กรมทรัพย์สินทางปัญญาทบทวนการนำเสนอร่างสนธิสัญญาฯ ต่อคณะรัฐมนตรี และต่อมาวันที่ 19 พฤศจิกายน 2567 กรมทรัพย์สินทางปัญญาจึงได้เชิญสภาผู้บริโภคเข้าร่วมหารือเกี่ยวกับสนธิสัญญาดังกล่าว
ด้านนางสาวกรรณิการ์ได้ให้ข้อเสนอไปว่า “การศึกษาที่กรมทรัพย์สินทางปัญญานำมาใช้สนับสนุนการเข้าร่วมสนธิสัญญาฯ นั้นเก่าเกินไป เนื่องจากเป็นข้อมูลที่มีอายุกว่า 8-9 ปี และเป็นเพียงแนวคิดกว้าง ๆ ที่ยังไม่มีงานวิจัย หรือการศึกษาที่เป็นปัจจุบัน ที่จะเปรียบเทียบให้เห็นถึงผลดี – ผลเสียของการเข้าร่วมเป็นภาคีในสนธิสัญญาฉบับนี้ ซึ่งกรมทรัพย์สินทางปัญญาควรมีงานวิจัย และข้อมูลการศึกษาที่เป็นปัจจุบันมาประกอบการพิจารณา และควรจะหารือให้รอบด้านกว่านี้เพื่อป้องกันผลเสียที่อาจเกิดในอนาคต”
ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการเข้าร่วมสนธิสัญญาฯ
อนุกรรมการสภาผู้บริโภคชี้ว่า แม้ในสนธิสัญญาจะมีข้อกำหนดให้ผู้ยื่นจดสิทธิบัตรต้องเปิดเผยแหล่งที่มาของทรัพยากร พันธุกรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่น แต่กลับไม่ให้ ประเทศภาคีเพิกถอนสิทธิบัตรหรือทำให้สิทธิบัตรนั้นเป็นโมฆะ หากผู้ขอสิทธิบัตรไม่ปฏิบัติตาม ข้อกำหนดในการเปิดเผยแหล่งที่มา นั้นเท่ากับว่าสนธิสัญญานี้ไม่มีความหมาย
ทั้งนี้ข้อสรุปที่เกี่ยวข้องกับเนื้อหาในสนธิสัญญาฯ ดังกล่าวยังมีความสุ่มเสี่ยงที่จะทำให้เกิดการแย่งชิงพันธุกรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่นไปเป็นสมบัติส่วนบุคคล หลักการในการคุ้มครองสิทธิภูมิปัญญาชนพื้นเมืองและชุมชนท้องถิ่น ยังไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่กล่าวอ้าง ตัวอย่างความสุ่มเสี่ยงดังกล่าว เช่น
- แม้จะมีบทบัญญัติเฉพาะสำหรับการมีส่วนร่วมของชนพื้นเมืองและชุมชนท้องถิ่น เช่น ข้อกำหนดให้ผู้ยื่นจดสิทธิบัตรต้องเปิดเผยแหล่งที่มาของทรัพยากรพันธุกรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องกับทรัพยากรพันธุกรรม แม้จะมีบทลงโทษหากไม่เปิดเผยแหล่งที่มา แต่กลับห้ามไม่ให้ประเทศภาคีเพิกถอนสิทธิบัตรหรือทำให้สิทธิบัตรเป็นโมฆะ หากเพียงเพราะไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดในการเปิดเผยแหล่งที่มา ซึ่งจะมีผลกระทบต่อการบังคับใช้กฎหมายเพื่อป้องกันการแสวงหาประโยชน์อย่างไม่เป็นธรรมจากพันธุ์พืชพันธุ์สัตว์ประจำถิ่นอย่างมีประสิทธิภาพ
- การจัดทำฐานข้อมูลเพื่อใช้เป็นแหล่งอ้างอิงที่มาของทรัพยากรพันธุกรรม ถูกกำหนดให้เป็นเพียงแค่ความสมัครใจของประเทศภาคีเท่านั้น
- นอกจากมีความสุ่มเสี่ยง ตาม 1) และ 2) แล้วยังจะมีความสุ่มเสี่ยงที่จะเป็นการเปิดช่องให้มีการแก้ไข พระราชบัญญัติสิทธิบัตร เพื่อคุ้มครองพันธุ์พืชพันธุ์สัตว์ใหม่
หากประเทศไทยเข้าร่วมสนธิสัญญาฯ อาจส่งผลกระทบต่อเกษตรกรรายย่อยและชุมชนท้องถิ่นอย่างรุนแรง เนื่องจากสิทธิในการเข้าถึงพันธุกรรมที่เคยใช้อย่างเสรีอาจถูกจำกัดจากการจดสิทธิบัตร ทำให้ต้นทุนการผลิตเพิ่มสูงขึ้น อีกทั้งยังมีความเสี่ยงที่ทรัพยากรพันธุกรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่นจะตกเป็นกรรมสิทธิ์ของบริษัทข้ามชาติหากไม่มีการบริหารจัดการที่ดี นอกจากนี้ การละเมิดภูมิปัญญาท้องถิ่นอาจเกิดขึ้นได้ง่ายขึ้นเมื่อทรัพย์สินทางปัญญาที่พัฒนามาจากทรัพยากรเหล่านี้ถูกนำไปใช้โดยไม่ได้รับการคุ้มครองที่เหมาะสม
กรมทรัพย์สินทางปัญญาเดินหน้าเสนอ ครม. แม้มีข้อกังวล
แม้กรมทรัพย์สินทางปัญญาจะรับฟังข้อคิดเห็นและข้อกังวลของสภาผู้บริโภค แต่กลับเดินหน้านำร่างสนธิสัญญาฯ เข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี สภาผู้บริโภคจึงเตรียมยื่นหนังสือถึงเลขาธิการคณะรัฐมนตรีเพื่อขอให้ทบทวนเรื่องนี้
ท้ายสุด นางสาวกรรณิการ์ย้ำว่า การเข้าร่วมสนธิสัญญาฯ จะเป็นประโยชน์ก็ต่อเมื่อประเทศไทยมีความพร้อมและโครงสร้างการจัดการที่ชัดเจน แต่หากไม่มีมาตรการรองรับที่เหมาะสม อาจก่อให้เกิดปัญหาในระยะยาวโดยเฉพาะต่อเกษตรกรรายย่อย ซึ่งเป็นกลุ่มสำคัญในระบบเศรษฐกิจของไทย อย่างไรก็ตาม สภาผู้บริโภค และคณะนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญพร้อมที่จะให้ข้อคิด ร่วมทำวิจัย และให้ความร่วมมือกับกรมทรัพย์สินทางปัญญาเพื่อประโยชน์ส่วนรวมของประเทศและสังคมอย่างแท้จริง