สิทธิของคนพิการ การเดินทางที่ไม่ควรถูกปฏิเสธ

แม้ในวันที่ 3 ธันวาคมของทุกปี จะถูกกำหนดให้เป็น “วันคนพิการสากล” เพื่อให้ทุกคนตระหนักถึงศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์ และตื่นตัวในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิของคนพิการ ทุกคนได้รับสวัสดิการอย่างทั่วถึง เท่าเทียม ได้ทำกิจกรรมในชีวิตประจำวันได้เหมือนคนอื่นทั่วไป แต่ปัจจุบันเรายังได้ยินหรือเคยพบเห็นการปฏิเสธไม่ให้คนพิการขึ้นเครื่องหลายต่อหลายกรณี

เมื่อต้นปี 2567 สภาผู้บริโภค ในฐานะผู้แทนผู้บริโภคที่เห็นว่าปัญหาการปฏิเสธคนพิการไม่ให้ขึ้นเครื่องบินมีให้เห็นอย่างต่อเนื่องและยังเข้าข่าย “ละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์และเป็นการเลือกปฏิบัติ ผิดทั้งกฏหมายและหลักการสากลชัดเจน” ทำให้สภาผู้บริโภคได้จัดประชุมเพื่อหารือปัญหาดังกล่าวกับหน่วยงานกำกับดูแลและธุรกิจสายการบินต่าง ๆ เพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น โดยมีข้อเสนอให้หน่วยงานกำกับดูแลกำหนดมาตรฐานและแนวปฏิบัติกลางเกี่ยวกับการให้บริการสำหรับคนพิการ ลดความสับสนของผู้บริโภคและลดปัญหาที่อาจเกิดขึ้นจากการใช้บริการสายการบินด้วย

รวมถึงการเสนอให้เพิ่มช่องทางให้แจ้งความประสงค์สำหรับผู้พิการ ผู้ใช้รถเข็นวีลแชร์ หรือผู้โดยสารที่ต้องการการดูแลเป็นพิเศษ รวมถึงการแจ้งข้อมูลที่จำเป็น เช่น การจำกัดจำนวนผู้พิการต่อเที่ยวบิน หรือความจุของแบตเตอรีรถวีลแชร์ เป็นต้น โดยควรเป็นการแจ้งข้อมูลตั้งแต่ก่อนจองและซื้อตั๋วโดยสาร เพื่อป้องกันการถูกปฏิเสธการขึ้นเครื่องบิน

สว่าง ศรีสม อนุกรรมการด้านการขนส่งและยานพาหนะ สภาผู้บริโภค ให้ความเห็นถึงมาตรการที่เกี่ยวข้องด้านการคุ้มครองสิทธิของผู้พิการว่า ปัญหาการละเมิดสิทธิผู้พิการเป็นปัญหาเรื้อรังมานานกว่า 20 ปี และเริ่มรุนแรงขึ้นในช่วงตั้งแต่เปิดให้บริการสายการบินต้นทุนต่ำ อย่างไรก็ตามกลุ่มคนพิการได้พยายามร้องเรียนและมีการพูดคุยกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และพบว่าในช่วงที่ผ่านมาแต่ละสายการบินมีการปรับตัวจนกระทั่งปัญหาถูกแก้ไข แต่เมื่อมีสายการบินใหม่เกิดขึ้นหรือเริ่มเข้ามาให้บริการในประเทศไทยกลับพบว่าเกิดปัญหาเดิมซ้ำแล้วซ้ำเล่า

ปัญหาที่เกิดขึ้นนี้ทำให้เกิดการตั้งคําถามว่า ทําไมเมื่อมีสายการบินใหม่เราจึงยังพบกับปัญหาเดิม อาจแปลว่าในอนาคตถ้ามีสายการบินใหม่เข้ามาบินในประเทศไทยเพิ่ม ปัญหาเหล่านี้ก็จะกลับมาอีก และต้องพูดเรื่องเดิมซ้ำ ๆ กับสายการบินที่เข้ามาใหม่หรือไม่ ทั้งนี้ สิ่งที่เกิดขึ้นสะท้อนว่ากฎหมายหรือระเบียบนโยบายข้อกําหนดต่าง ๆ ไปไม่ถึงสายการบินที่เข้ามาใหม่หรือไม่

นอกจากนี้ยังพบปัญหาเรื่องมาตรฐานที่ไม่ตรงกันจนนํามาสู่ความสับสนของคนเดินทางและสิ่งที่เป็นปัญหาของการเดินทางคือคนพิการมักได้รับทราบปัญหาตอนถึงสนามบินแล้ว ส่งผลให้ไม่สามารถจัดการปัญหาได้ ทั้งยังเสียเวลา เสียโอกาส และเสียความรู้สึก ดังนั้น จึงเรียกร้องให้สายการบินต้องให้ข้อมูลแก่คนพิการทราบข้อจํากัดหรือปัญหาล่วงหน้าตั้งแต่ตอนที่จองตั๋วเครื่องบินให้ได้มากที่สุด โดยสิ่งที่ต้องถามตั้งแต่ขั้นตอนการจองเที่ยวบินคือ 1) ผู้โดยสารต้องการความช่วยเหลือพิเศษแบบใด 2) ถ้ามีข้อกําหนดต่าง ๆ ต้องแจ้งให้ทราบตั้งแต่ก่อนจองตั๋ว นอกจากนี้ เรื่องสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ รวมถึงการส่งต่อข้อมูลจากคนรับเรื่องไปสู่เจ้าหน้าที่สนามบินเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้พิการก็เป็นสิ่งที่ควรใส่ใจเช่นกัน

ขณะที่ประเด็นของมาตรฐานแบตเตอรี่เป็นสิ่งที่ต้องสรุปกันให้ชัดเจนภายในประเทศว่าไทยจะใช้มาตรฐานไหนตัวเลขใด เนื่องจากปัจจุบันแต่ละสายการบินมีข้อกำหนดที่ต่างกัน อีกทั้งปัญหาอีกประการหนึ่งที่ค่อนข้างไม่เห็นด้วย คือการกำหนดว่าต้องเดินขึ้นเครื่องเองได้เพราะไม่มีบริการบางอย่าง เช่น ไม่มีรถวีลแชร์ให้บริการบนเครื่อง เนื่องจากเป็นการปฏิเสธด้วยเหตุแห่งความพิการ ซึ่งสิ่งอํานวยความสะดวกหรือว่าอุปกรณ์เล็ก ๆ น้อย ๆ เหล่านี้ควรจะต้องมีในทุกสายการบินหรือประจําสนามบินที่สามารถใช้บริการได้

ทั้งนี้ สภาผู้บริโภคได้รวบรวมข้อกำหนดและเงื่อนไขคนพิการของสายการบินต่าง ๆ เพื่อให้ผู้บริโภคได้ศึกษาและอ่านรายละเอียดก่อนจองตั๋วเครื่องบิน

บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) ระบุว่า มีการปฏิบัติตามกฎหมายควบคุมอาคารและได้ดำเนินการในเรื่องของระเบียบการฝึกอบรม รวมถึงมีการตรวจและกำกับเป็นประจำทุกปี ซึ่งมีการตรวจสอบพบว่าทุกท่าอากาศยานมีสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการครบถ้วน เช่น รถวีลแชร์ ซึ่งสายการบินสามารถติดต่อเพื่อขอใช้ได้

สายการบินนกแอร์ มีการรองรับผู้โดยสารที่มีความลำบากในการเคลื่อนไหวและต้องให้การช่วยเหลือได้สูงสุดจำนวน 8 ท่านต่อเที่ยวบิน ซึ่งหากแบ่งเป็นผู้พิการที่ต้องมีผู้ติดตามมาด้วย สามารถรองรับได้เพียง 4 ท่าน แต่เป็นผู้ติดตามที่ไม่ต้องมีผู้ติดตาม สามารถรองรับสูงได้ถึง 8 ท่าน

สายการบินแอร์เอเชีย กำหนดให้ผู้โดยสารสามารถใช้รถเข็นได้จนถึงประตูเครื่องบินหรือบันไดขึ้นเครื่อง หลังจากนั้นพนักงานจะนำเอารถเข็นไปเก็บไว้ใต้ท้องเครื่อง และผู้โดยสารสามารถสำรองบริการความช่วยเหลือพิเศษ (บริการเก้าอี้รถเข็น) เมื่อสำรองตั๋วหรือผ่านทาง จัดการบุ๊คกิ้ง ก่อนเวลาออกเดินทางที่กำหนดอย่างน้อย 4 ชั่วโมง ซึ่งผู้โดยสารที่มีหมายเลขบัตรผู้พิการ จะได้รับยกเว้นค่าบริการเก้าอี้รถเข็น ทั้งนี้ เที่ยวบินของแอร์เอเชียมีการจำกัดจำนวนรถเข็นสูงสุด 4 คัน/เที่ยวบิน, AirAsia X สูงสุด 8 คัน/เที่ยวบิน ขณะที่หากเป็นผู้ทุพพลภาพ ตาบอด หรือไม่สามารถเคลื่อนไหวได้ปกติ ควรผู้มีโดยสารมีเพื่อนผู้ร่วมทางที่คอยให้ความช่วยเหลือได้

สายการบินบางกอกแอร์เวย์ แบ่งเป็นเครื่องบินขนาดเล็กที่มีพื้นที่รองรับผู้โดยสารที่มีความลำบากในการเคลื่อนไหวและต้องให้การช่วยเหลือได้จำนวน 2 ที่ ขณะที่เครื่องบินขนาดใหญ่หรือแอร์บัสสามารถรองรับได้จำนวน 4 ที่ รวมทั้งมีหลากหลายบริการเพื่อรองรับผู้โดยสารที่มีความลำบากในการเคลื่อนไหว อาทิ หากผู้โดยสารต้องการใช้บริการรถเข็นนั่งและสามารถดูแลตัวเองได้ระหว่างการเดินทางสามารถแจ้งกับพนักงานได้ตั้งแต่ในวันจองที่นั่งหรือสามารถแจ้งก่อนวันออกเดินทางล่วงหน้า 24 ชั่วโมงได้

ส่วนกรณีที่ผู้โดยสารไม่สามารถดูแลตนเองได้ระหว่างการเดินทางจำเป็นต้องมีผู้ร่วมเดินทางไปด้วยและหากต้องการที่จะนำรถเข็นส่วนตัวไปจำเป็นต้องแจ้งก่อนวันเดินทางล่วงหน้า 48 ชั่วโมง โดยจะต้องแจ้งประเภท ขนาด และน้ำหนักของรถเข็นร่วมด้วยเพื่อจัดเตรียมพื้นที่รองรับ เนื่องจากเครื่องบินบางลำของสายการบินบางกอกแอร์เวย์อาจไม่สามารถรองรับหรือไม่มีพื้นที่สำหรับจัดวางรถเข็นของผู้โดยสารหากไม่เป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนด

นอกจากนี้ หากผู้โดยสารบางรายต้องการรถทรัคขนาดความสูงเท่าเครื่องบินลำที่กำลังจะบินสำหรับยกรถเข็น (High Lift Truck) ผู้โดยสารจำเป็นต้องแจ้งล่วงหน้าเพื่อให้สายการบินประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หรือบางรายมีเงื่อนไขทางการแพทย์ สายการบินจำเป็นจะต้องขอให้แพทย์ออกใบรับรองแพทย์ให้ก่อนที่จะบิน

สายการบินไทยไลอ้อนแอร์ ผู้โดยสารที่มีอาการทางการแพทย์ ต้องมอบใบรับรองแพทย์ที่ถูกต้องโดยลงวันที่ไม่เกิน 7 วันนับจากวันที่เดินทาง เพื่อยืนยันว่าผู้โดยสารสามารถเดินทางโดยเครื่องบินได้ (Fit to fly) และอาจจำเป็นต้องมีผู้ร่วมเดินทางไปด้วย ผู้โดยสารต้องการความช่วยเหลือพิเศษจะไม่ได้รับอนุญาตให้นั่งในแถวทางออกฉุกเฉิน หรือบริเวณปีกแถวทางออกฉุกเฉิน เพื่อให้สอดคล้องกับข้อกำหนดด้านสุขภาพ ซึ่งสายการบินจะจัดที่นั่งให้ตามความเหมาะสม

ขณะที่ผู้โดยสารที่มีข้อกำหนดเฉพาะที่ต้องการความช่วยเหลือพิเศษ และผู้โดยสารที่มีอาการ หรือ ความเจ็บป่วยทางการแพทย์ ซึ่งรวมถึงผู้ที่อาจต้องการการจัดการ หรือนำยาประจำตัวหรือ เข็มฉีดยาขึ้นเครื่อง ติดต่อสายการบินหรือคอลเซ็นเตอร์ อย่างน้อย 48 ชั่วโมงก่อนเวลาออกเดินทางที่กำหนด เพื่อจัดการประเภทของความช่วยเหลือที่จำเป็นล่วงหน้า

สายการบินไทยเวียตเจ็ทแอร์ ผู้โดยสารที่ต้องการรถเข็นสำหรับนั่งบนทางลาด รับได้สูงสุดเที่ยวบินละ 4 คน และผู้โดยสารที่ต้องนั่งรถเข็น สำหรับขึ้นลงบันได รับได้ 2 คน และผู้โดยสารที่นั่งรถเข็นและจำเป็นต้องใช้รถเข็นสำหรับนั่งบนทางลาด รับได้สูงสุดเที่ยวบินละ 4 คน ขณะที่ผู้โดยสารที่ต้องใช้เก้าอี้ล้อเลื่อนในห้องโดยสาร สายการบินไม่อนุญาตให้ใช้การอุปกรณ์สำหรับรถเข็นบนเที่ยวบิน หากต้องการให้จองเป็นผู้โดยสารที่ต้องนั่งรถเข็นส่วนผู้โดยสารที่บกพร่องทางสายตาหรือบกพร่องทางการได้ยิน รับได้สูงสุดเที่ยวบินละ 5 คน

ทั้งนี้ผู้โดยสารที่มีความบกพร่องในการเคลื่อนที่และขอรับบริการพิเศษ จะต้องแจ้งสายการบินของสายการบินอย่างน้อย 48 ชั่วโมงก่อนเวลาออกเดินทางเพื่อจัดเตรียมอุปกรณ์ช่วยเหลือพิเศษตามคำขอ สายการบินขอสงวนสิทธิ์ในการให้บริการพิเศษแก่ผู้โดยสาร ที่ได้แจ้งการขอรับบริการพิเศษ ที่ทางสายการบินสามารถจัดหาได้เท่านั้น หากไม่ได้รับการแจ้งล่วงหน้า ทางสายการบินจะพยายามจัดสรรการบริการเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้โดยสารให้ตามความเหมาะสม

ฃทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการบริการพิเศษนั้น ๆ ว่าสามารถจัดหาให้ได้หรือไม่ สายการบินอาจต้องพิจารณาร้องขอให้มีผู้เดินทางร่วม เนื่องด้วยเหตุผลด้านความปลอดภัย หรือ ในกรณีที่ผู้โดยสารที่ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ในกรณีฉุกเฉิน หรือในกรณีที่ไม่สามารถเข้าใจในการสาธิตด้านความปลอดภัยบนเที่ยวบิน โดยผู้โดยสารที่เดินทางร่วมจะต้องมีอายุมากกว่า 18 ปีบริบูรณ์ และมีสุขภาพที่แข็งแรงพอที่จะดูแลผู้โดยสารที่ต้องการความช่วยเหลือได้

การบินไทย ผู้โดยสารที่ต้องการความช่วยเหลือพิเศษทางสายการบินจะพิจารณาผู้โดยสารที่ต้องการความช่วยเหลือในการขึ้นเครื่องบินเป็น 2 ระดับ คือ1. ผู้โดยสารที่ต้องการความช่วยเหลือในระหว่างเที่ยวบินหรือระหว่างการเดินทาง ที่สามารถเดินเข้าเครื่องบินด้วยตนเองได้ ทางสายการบินจะยอมให้สามารถเดินทางคนเดียวได้ และหากมีความจำเป็นต้องใช้รถเข็นเพื่อความสะดวก ทางสายการบินจะจัดเตรียมให้และจะส่งให้เดินเข้าเครื่องบินด้วยตนเองหน้าประตูเครื่องเท่านั้น

ทั้งนี้ ผู้โดยสารที่ต้องการความช่วยเหลือที่ต้องการบริการรถเข็นหรือบริการอื่นๆ กรุณาแจ้งให้สายการบินทราบขณะที่ทำการจองตั๋วเครื่องบิน หรือ ก่อนเดินทาง อย่างน้อย 48 ชั่วโมง2. ผู้โดยสารที่ต้องให้ผู้อื่นช่วยเหลือในการเดินทาง ไม่ว่าจะเป็นขึ้นลงเครื่องบิน และหรือไม่สามารถเดินทางโดยลำพังได้ไม่ว่าด้วยสาเหตุใดก็ตาม ทางสายการบินจะยอมให้เดินทางแต่มีเงื่อนไขให้ผู้โดยสารดังกล่าวต้องมีผู้ร่วมเดินทางด้วย เพื่อช่วยเหลือในระหว่างเที่ยวบินและการขึ้นลงเครื่องบิน


อ้างอิงข้อมูล :

https://www.wonderfulpackage.com/article/v/1813/

https://promotions.co.th/โปรโมชั่นอื่นๆ/insurance/travel-insurance/ข้อควรรู้-เงื่อนไขแต่ละ.html