หยุดความสูญเสีย ศธ. – สภาผู้บริโภค – สสส. ร่วมยกระดับรถรับส่ง นร. ปลอดภัย

หยุดความสูญเสีย! ศธ. – สภาผู้บริโภค - สสส. ร่วมยกระดับรถรับส่ง นร. ปลอดภัย

ตัวเลขอุบัติเหตุรถรับส่งนักเรียนพุ่ง สวนทางมติ ครม. กระทรวงศึกษาฯ – สภาผู้บริโภค – สสส. ร่วมมือ มุ่งสร้างระบบรถรับส่งนักเรียนปลอดภัยและทุกฝ่ายมีส่วนร่วม

ที่ผ่านมาประเทศไทยเกิดเหตุการณ์ที่สร้างความสูญเสียต่อชีวิตของเด็กนักเรียนซึ่งเป็นอนาคตของชาติจากอุบัติเหตุรถรับส่งนักเรียนนับครั้งไม่ถ้วน รวมไปถึงเหตุการณ์ไฟไหม้รถบัสทัศนศึกษาเมื่อช่วงต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมา สภาผู้บริโภค ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เร่งดำเนินการภายใต้โครงการแผนงานร่วมทุนสนับสนุนองค์กรผู้บริโภคเพื่อการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะที่ปลอดภัยและเป็นธรรม จัด “เวทีสร้างความร่วมมือและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการในการพัฒนาศูนย์เรียนรู้รถรับส่งนักเรียนที่ปลอดภัย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา” รวมทั้งเรียกร้องรัฐบาลให้ผลักดันการแก้ไขที่เป็นรูปธรรม

คงศักดิ์ ชื่นไกรลาศ

คงศักดิ์ ชื่นไกรลาศ ผู้ช่วยเลขานุการคณะอนุกรรมการด้านการขนส่งและยานพาหนะ สภาผู้บริโภค สะท้อนปัญหาเกี่ยวกับรถรับส่งนักเรียนว่า จากข้อมูลการเฝ้าระวังของศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนนและเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคระบุว่า ในปี 2565 และปี 2566 มีอุบัติเหตุทางถนนและความไม่ปลอดภัยกับรถรับส่งนักเรียนถึงปีละ 30 ครั้ง ข้อมูลในปี 2567 ตั้งแต่ เดือนมกราคมถึงเดือนมีนาคม ระยะเวลาเพียงสามเดือนเกิดอุบัติเหตุรถรับส่งนักเรียนสูงถึง 15 ครั้ง มีนักเรียนเสียชีวิต 1 คน และบาดเจ็บ 153 คน เป็นอัตราการเกิดอุบัติเหตุที่มากกว่าและรุนแรงกว่าปีที่ผ่านมา

คงศักดิ์ กล่าวอีกว่าในปี 2566 สภาผู้บริโภคได้เข้าพบผู้ตรวจการแผ่นดินนำเสนอข้อมูลและแนวทางการแก้ปัญหาเรื่องการจัดระบบรถรับส่งนักเรียน จนกระทั่งมีการนำข้อมูลดังกล่าวไปเสนอเป็นรายงานต่อคณะรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรีได้มีมติรับทราบเมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2566 และมีแนวทางให้กับ 3 กระทรวงหลักในการดำเนินการจัดการเพื่อพัฒนาเรื่องระบบรถรับส่งนักเรียนปลอดภัย อย่างไรก็ตาม นับตั้งแต่มีมติ เกิดอุบัติเหตุที่เกี่ยวกับรถรับส่งนักเรียนมากกว่า 30 ครั้ง และมีแนวโน้มจะรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ นำมาสู่การตั้งคำถามว่า “มีมติแล้ว ทำไมยังเกิดอุบัติเหตุมากขึ้น อัตราการเสียชีวิตยังสูงอยู่”

คงศักดิ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ที่ผ่านมาสภาผู้บริโภคได้ขับเคลื่อนและทำเรื่องรถรับส่งนักเรียนปลอดภัยร่วมกับ 6 ภูมิภาค ใน 148 โรงเรียน และมีโรงเรียนที่สามารถพัฒนาขึ้นมาเป็นศูนย์เรียนรู้ 20 โรงเรียน ใน 5 ภาค โดยมี 5 เงื่อนไขและ 9 องค์ประกอบที่เป็นกรอบการพัฒนาโรงเรียนศูนย์เรียนรู้รถรับส่งนักเรียนปลอดภัยซึ่งมาจากการทำงานตลอด 7 ปี (อ่านรายละเอียด 5 เงื่อนไข 9 องค์ประกอบได้ที่ เปิดโมเดล “ศูนย์เรียนรู้รถรับส่งนักเรียนปลอดภัย”)

“การขยายผลของเราอาจจะไม่สามารถผลักดันเรื่องมาตรฐานรถรับส่งที่ปลอดภัย แต่จะเป็นเรื่องการสร้างจุดจอดที่ปลอดภัยเพื่อให้เกิดการรับส่งนักเรียนอย่างเป็นระบบ ทั้งนี้ ต่อให้เรื่องความปลอดภัยของรถรับส่งนักเรียนถูกประกาศเป็นวาระแห่งชาติ แต่ถ้าไม่เกิดการดำเนินงานในทางปฏิบัติ คำสั่งนั้นก็จะกลายเป็นเพียงตัวหนังสือ” คงศักดิ์ระบุ

ศรีสุวรรณ ควรขจร

ทางด้าน ศรีสุวรรณ ควรขจร รองประธานกรรมการบริหารแผนคณะที่ 1 สสส. กล่าวว่า ข้อมูลของกรมการขนส่งทางบก เมื่อวันที่ 31 พ.ค. 2566 ระบุว่า มีรถยนต์ส่วนบุคคลและรถยนต์สาธารณะที่ได้รับขออนุญาตให้ใช้เป็นรถรับส่งนักเรียนเพียง 3,342 คัน แต่ยังมีรถรับส่งนักเรียนอีกจำนวนมาก ที่ไม่ได้ขออนุญาตให้บริการรับส่งนักเรียนกระจายอยู่ทั่วประเทศ ส่งผลต่อการกำกับมาตรฐานความปลอดภัยรถรับส่งนักเรียน และเป็นปัจจัยเสริมพฤติกรรมเสี่ยงของผู้ขับรถรับส่งนักเรียนที่ไม่พึงประสงค์ เช่น ขับรถโดยไม่มีใบอนุญาต ใช้รถผิดประเภท หลีกเลี่ยงการจัดทำประกันภัย ประมาทเลินเล่อ ตลอดจนดัดแปลงสภาพรถเพื่อให้รับนักเรียนได้มากขึ้น ส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยของเด็กนักเรียนในการเดินทาง การผลักดันให้รถรับส่งนักเรียนปลอดภัย ถือเป็นหมุดหมายสำคัญของโรงเรียน และผู้ปกครอง ซึ่งเป็นสิ่งที่ทุกภาคส่วนจำเป็นต้องร่วมกันแก้ไขปัญหากันอย่างจริงจัง

“สสส. สานพลังสภาผู้บริโภค และเครือข่ายผู้บริโภค 33 จังหวัด ภายใต้โครงการแผนงานร่วมทุนสนับสนุนองค์กรผู้บริโภค ได้พัฒนาระบบขนส่งสาธารณะที่ปลอดภัยและเป็นธรรม พัฒนาโรงเรียนศูนย์เรียนรู้รถรับส่งนักเรียนปลอดภัย 20 แห่งทั่วประเทศ เพื่อสร้างระบบความปลอดภัยในการเดินทางของเด็กนักเรียนด้วยรถโรงเรียน โดยพัฒนาองค์ความรู้ และมาตรการไปถึงผู้ปกครองที่มาส่งบุตรหลานด้วยตนเอง เช่น สวมหมวกกันน็อก 100% คาดเข็มขัดนิรภัย และจะขยายไปสู่โรงเรียนในพื้นที่อื่น ๆ เพื่อสร้างความปลอดภัยสูงสุดในการเดินทางให้กับเด็ก และเยาวชนทั่วประเทศ ” ศรีสุวรรณ กล่าว

สุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล

สุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมช.ศธ.) กล่าวว่า ความปลอดภัยของนักเรียนเป็นสิ่งที่กระทรวงศึกษาธิการให้ความสำคัญ โดยยกตัวอย่างเหตุการณ์รถบัสทัศนศึกษาไฟไหม้เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2567 ซึ่งเป็นเหตุการณ์ความสูญเสียที่ร้ายแรงที่สุดครั้งหนึ่งของประเทศไทย แม้จะไม่ใช่อุบัติเหตุรถรับส่งนักเรียนโดยตรง แต่เป็นรถที่จัดบริการเพื่อให้นักเรียนได้ไปทัศนศึกษา จากเหตการณ์ดังกล่าว ศธ. ได้ออกมาตรการต่าง ๆ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์ในลักษณะดังกล่าวอีก รวมถึงการผลักดันให้เกิดความปลอดภัยในการเดินทางจากบ้าน – โรงเรียน ด้วยรถรับส่งนักเรียนด้วย ซึ่งมีทั้งการดำเนินงานระหว่างหน่วยงานในสังกัดกระทรวง ศธ. หน่วยงานภาครัฐอื่น ๆ และภาคเอกชน

“เป้าหมายสำคัญเรื่องความปลอดภัยของรถรับส่งนักเรียนคือ เราไม่อยากต้องมีการมาถอดบทเรียนเมื่อเกิดอุบัติเหตุและมีผู้เสียชีวิตอีก ถึงแม้กระทรวงจะมีนโยบายและมาตรการเรื่องระบบรับส่งนักเรียนอยู่แล้ว แต่การมารับฟังข้อมูล แนวคิด และวิธิปฏิบัติขององค์กรภาคประชาสังคมที่ดำเนินงานเรื่องนี้มานาน ก็จะเป็นประโยชน์ในการพัฒนา – ปรับปรุงให้เกิดนโยบายระบบรับส่งนักเรียนที่ปลอดภัย ทั้งนี้ กระทรวงศึกษาธิการตระหนักดีว่า เรื่องความปลอดภัยเราไม่สามารถจัดการได้ด้วยกระทรวง ๆ เดียว ทุกภาคส่วนที่มาร่วมกันขับเคลื่อนงานเรื่องนี้จึงมีความสำคัญอย่างมากที่ทำให้เกิดระบบรถรับส่งนักเรียนที่ปลอดภัย” รมช.ศธ. ระบุ

วาสนา ภาคาแพทย์

ขณะที่ วาสนา ภาคาแพทย์ รองผู้อำนวยการโรงเรียนอยุธยาวิทยาลัย ร่วมแลกเปลี่ยนเรื่องการจัดการระบบรถรับส่งนักเรียนว่า โรงเรียนอยุธยาวิทยาลัย  (อยว.) ใช้เวลาพัฒนาระบบรถรับส่งนักเรียน 7 ปีจึงพัฒนามาเป็นศูนย์การเรียนรู้รถรับส่งนักเรียนที่ปลอดภัย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยในช่วงแรกเริ่มจากผู้บริหารที่เห็นความสำคัญในเรื่องความปลอดภัยของนักเรียน จึงเริ่มดำเนินงานเรื่องรถรับส่งนักเรียน โดยมีการลองผิดลองถูก หลังจากนั้นจึงเริ่มมีภาคีเครือข่ายและหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้งเข้ามาช่วยเหลือ ให้คำแนะนำต่าง ๆ โดยเฉพาะ สสส. และสภาผู้บริโภค

ปัจจุบันงานรถรับส่งนักเรียนอยู่ในโครงสร้างการบริหารจัดการของโรงเรียน และได้รับการสนับสนุนจากผู้บริหาร แม้จะมีการเปลี่ยนผู้บริหารหรือบุคลากร แต่ระบบต่าง ๆ ก็ยังดำเนินไปได้ เนื่องจากมีการส่งต่อข้อมูล การจัดเก็บ สร้างฐานข้อมูลต่าง ๆ และมีการวางระบบการบริหารจัดการด้วย

“โรงเรียนจะเป็นเหมือนสื่อกลางในการประสานความร่วมมือของทุกภาคส่วน ในทุก ๆ ปีการศึกษาจะมีการจัดประชุมผู้ประกอบการ เชิญผู้ประกอบการเข้ามาตั้งโต๊ะประชาสัมพันธ์ที่โรงเรียน ว่าคันไหนผ่านเส้นไหนบ้าง เสียค่าใช้จ่ายเท่าไหร่ ให้ผู้ประกอบการลงชื่อรับนักเรียนเอง และมีการเชิญผู้ประกอบการเข้ามาร่วมวางแนวทางในการรับ – ส่งนักเรียน มีการสร้างกลุ่มไลน์เพื่อสื่อสารกับผู้ประกอบการ และมีเว็บไซต์เฉพาะสำหรับเรื่องรถรับส่งนักเรียนเพื่อให้ผู้ปกครองหรือนักเรียนสามารถร้องเรียนพฤติกรรมของคนขับได้” รองผู้อำนวยการโรงเรียน อยว. กล่าว

ส่วน ธนวัฒน์ พิมพ์โคตร รองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา (สพม.) พระนครศรีอยุธยา แสดงความเห็นว่า ปัจจัยที่ส่งผลเรื่องความปลอดภัยมี 3 ส่วน ได้แก่ 1) รถรับส่งนักเรียน 2) ผู้บังคับใช้กฎหมาย และ 3) นักเรียน สำหรับเรื่องรถรับส่งนักเรียนนั้น ปัจจุบันจังหวัดพระนครศรีอยุธยามีนักเรียนประมาณ 20,000 คนและมีจำนวนนักเรียนที่ใช้รถรับส่งนักเรียนประมาณร้อยละ 50 หรือประมาณ 10,000 คน คำนวณคร่าว ๆ หากนั่งคันละ 10 คน แปลว่าต้องมีรถรับส่งนักเรียน 1,000 คันแต่ข้อมูลจากสำนักงานขนส่งจังหวัดอยุธยาพบว่ามีรถรับส่งนักเรียนที่จดทะเบียนกับสำนักงานขนส่งจังหวัดเพียง 300 คัน

นำไปสู่ประเด็นเรื่องผู้ที่บังคับใช้กฎหมาย เนื่องจากหากมีการปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเข้มงวดและเคร่งครัด จะส่งผลให้เด็กได้ใช้รถที่ได้มาตรฐานและจดทะเบียนถูกต้อง อย่างไรก็ตามหากติดตามให้รถรับส่งนักเรียนทุกคันมีระบบความปลอดภัยที่ครบถ้วน อาจเกิดปัญหาที่ตามมาคือเรื่องภาระค่าใช้จ่ายของผู้ปกครอง เนื่องจากผู้ประกอบการอาจมีต้นทุนในการติดตั้งระบบความปลอดภัยต่าง ๆ ทำให้เก็บค่าจ้างสูงขึ้นด้วย และประเด็นสุดท้ายสที่สำคัญมากคือ นักเรียนต้องคำนึงและตระหนักถึงความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนนของตัวเองด้วย

“ในสังคมปัจจุบันที่จำนวนการเกิดน้อย การตายควรจะเป็นศูนย์ คำถามสำคัญคือ ทำอย่างไรเราถึงจะขับเคลื่อนเรื่องนี้ให้ผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียรับรู้ได้ หากเราคุยกันแล้วจบในเวทีนี้ ไม่สามารถนำไปสู่การปฏิบัติจริงได้ ก็เป็นสิ่งที่น่าเสียดาย สพม. ในฐานะหน่วยงานที่ดูแลโรงเรียนมัธยมศึกษาในจังหวัดอยุธยา จะนำต้นแบบจาก อยว. ไปพัฒนาต่อเพื่อให้เกิดระบบรถรับส่งนักเรียนที่ปลอดภัย ทั้งนี้ ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกคนต้องทำหน้าที่ของตัวเองให้สมบูรณ์ เพื่อให้เกิดความปลอดภัยสูงสุดต่อนักเรียน เพราะการรักษาชีวิตของเด็กต้องเป็นหน้าที่ของทุกคนในประเทศนี้” ธนวัฒน์กล่าว

สันติ จียะพันธ์ ศูนย์คุ้มครองสิทธิผู้บริโภคจังหวัดพระนครศรีอยุธยา กล่าวว่า จากการทำงานในพื้นที่พบว่าแต่ละภาคส่วนมีข้อจำกัดที่แตกต่างกัน อย่างไรก็ตาม ต้องทางออกร่วมกันโดยมุ่งเน้นที่ความปลอดภัยหรือชีวิตของเด็กเป็นสำคัญ ดังนั้น สิ่งที่หน่วยงานประจำจังหวัดพระนครศรีอยุธยาทำคือการหนุนเสริมข้อมูลวิชาการ และวางแนวทางเพื่อให้โรงเรียนเห็นรูปธรรมว่าหากต้องการจัดการระบบรถรับส่งนักเรียนจะต้องมีองค์ประกอบอะไรบ้าง และทำให้โรงเรียนสามารถจัดระบบความปลอดภัยของรถรับส่งนักเรียนได้

สำหรับการขับเคลื่อนในระยะต่อไป นายสันติ กล่าวว่าหน่วยงานประจำจังหวัดพระนครศรีอยุธยา อยุธยามีข้อเสนอเรื่องต่อ รวช.ศธ. ให้นำระบบรถรับส่งนักเรียนเข้าไปอยู่นระบบการจัดการของทุกโรงเรียน กำหนดกรอบงบประมาณที่จะดำเนินการเรื่องดังกล่าว และส่งเสริมการสร้างความร่วมมือระยะยาวระหว่างโรงเรียนกับท้องถิ่น และหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ เพื่อให้การจัดการรถรับส่งนักเรียนสามารถทะลุข้อจำกัดต่าง ๆ ทั้งด้านกฎหมาย งบประมาณ และอื่น ๆ ได้