11.11 วันแห่งการช้อปปิ้งออนไลน์ เป็นวันที่บรรดาร้านค้าบนแพลตฟอร์มออนไลน์ต่างๆจัดโปรโมชันทั้งการลดแลกแจกแถม เพื่อดึงดูดและเชิญชวนเหล่าขาช้อปออนไลน์ให้ซื้อสินค้าจากร้านของตนเอง
อย่างไรก็ตามแม้จะมีโปรโมชั่นดึงดูดใจมากมายและแม้ว่าการซื้อสินค้าออนไลน์จะสะดวกสบาย แต่สิ่งที่ตามมาด้วยคือปัญหาการไม่ได้รับสินค้าที่สั่งไป ได้รับสินค้าที่ไม่ตรงกับที่สั่งหรือปัญหาที่เกี่ยวข้องกับเงื่อนไขการรับประกันสินค้า เป็นต้น ซึ่งที่ผ่านมาสภาองค์กรของผู้บริโภค (สภาผู้บริโภค) ได้รับเรื่องร้องเรียนปัญหาการซื้อสินค้าจากแพลตฟอร์มออนไลน์เป็นจำนวนมาก ในวันนี้สภาผู้บริโภคจึงขอเตือนภัยให้ผู้บริโภคซื้อสิน้คาออนไลน์อย่างปลอดภัย โดยระมัดระวัง 3 ปลอม ดังนี้
- สินค้าปลอม หรือการลงภาพโฆษณาปลอมแต่กลับส่งสินค้าไม่ตรงปก โดยในปัจจุบันมีผู้บริโภคที่ซื้อสินค้าจากแพลตฟอร์มออนไลน์พบปัญหานี้เป็นจำนวนมาก โดยร้านค้าจะมีพฤติการณ์ลงภาพโฆษณาสินค้าแบบหนึ่งแต่สินค้าที่ผู้บริโภคได้รับเป็นอีกแบบ เช่น ลงโฆษณาใช้ภาพสินค้าแบรนด์เนมแต่ของที่ส่งไม่ใช้สินค้าที่ลงโฆษณา เป็นต้น
- ลดราคาปลอม ร้านค้าจำนวนมากจะมีช่วงลดราคาพิเศษ โดยแต่ละร้านจะแข่งขันกันว่าร้านไหนลดราคามากกว่าเพื่อเพิ่มยอดขายของร้าน ซึ่งในความเป็นจริงแล้วราคาที่ตั้งว่าลดแล้วอาจเป็นราคาที่สูงกว่าปกติ หรือเป็นการลดราคาปลอม ดังนั้น ผู้บริโภคควรตรวจสอบราคาสินค้าที่วางขายในแอปพลิเคชันอื่นหรือราคาที่ขายตามท้องตลาดประกอบการตัดสินใจด้วย
- ร้านค้าปลอม คือร้านค้าออนไลน์ที่มิจฉาชีพเปิดขึ้นมาเพื่อหลอกขายสินค้าแต่ไม่มีการส่งสินค้าจริง ดังนั้นผู้บริโภคควรตรวจสอบร้านค้าหรือผู้ขายว่ามีประวัติการฉ้อโกงมาก่อนหรือไม่ก่อนตัดสินใจซื้อสินค้า โดยสามารถเข้าตรวจสอบรายชื่อคนโกงได้ที่เว็บไซต์ www.blacklistseller.com หรือเว็บไซต์ https://www.chaladohn.com/ นอกจากนี้ยังสามารถการตรวจสอบผู้ขายรายนั้น ๆ ว่ามีการลงทะเบียนการค้าขายออนไลน์กับกรมพัฒนาธุรกิจการค้าหรือไม่ ได้ที่เว็บไซต์กรมพัฒนาธุรกิจการค้า www.dbd.go.th เพื่อลดความเสี่ยงในการซื้อสินค้าจากช่องทางออนไลน์ได้อีกทางหนึ่ง
ข้อควรรู้ : ผู้บริโภคควรเก็บหลักฐานในการซื้อขาย เพื่อใช้ประกอบการดำเนินคดีในกรณีที่โดนโกง หรือ ถูกหลอกลวง ไว้กับตัวด้วย หลักฐานที่ควรเก็บไว้ มีดังนี้
- เก็บหรือขออีเมลของร้านค้าไว้เพื่อเป็นประโยชน์ในการดำเนินคดี
- รูปสินค้าและโฆษณาที่แสดงรายละเอียดของสินค้า
- ข้อความการสนทนาระหว่างการซื้อ – การขายไว้เป็นหลักฐาน
- สลิปการโอนเงินและเลขที่บัญชีร้านค้า
- เก็บหลักฐานอื่น ๆ เช่น บัตรประจำตัวประชาชนของผู้ขายไว้ (ถ้ามี)
ข้อแนะนำผู้บริโภค : หากเป็นกรณีการเรียกเก็บเงินปลายทาง ผู้บริโภคสามารถใช้สิทธิ “มาตรการส่งดี (Dee-Delivery)” ให้ผู้ประกอบธุรกิจให้บริการขนส่งสินค้า ต้องระบุรายละเอียดเกี่ยวกับผู้ส่งสินค้าและผู้ประกอบธุรกิจ ชื่อสกุลผู้รับเงินพร้อมหมายเลขติดตามพัสดุ กำหนดให้ผู้ให้บริการขนส่งสินค้าถือเงินค่าสินค้าเป็นระยะเวลา 5 วันก่อนนำส่งเงินให้กับผู้ขาย เพื่อให้ผู้บริโภคมีโอกาสแจ้งเหตุที่ขอคืนสินค้าและขอเงินคืน ให้สิทธิผู้บริโภคสามารถเปิดดูสินค้าก่อนชำระเงินได้ โดยหากพบว่า มีปัญหา ผู้บริโภคสามารถปฏิเสธการชำระเงินและไม่รับสินค้าได้
ทั้งนี้ หากผู้บริโภคท่านใดได้รับความเสียหายจากการซื้อสินค้าออนไลน์ สามารถแจ้งความดำเนินคดีกับสถานีตำรวจในพื้นที่โดยเร็วที่สุดหรือแจ้งความออนไลน์ได้ทางเว็บไซต์ www.thaipoliceonline.go.th หรือสามารถแจ้งเบาะแสมายังสภาองค์กรของผู้บริโภคได้ที่เบอร์สายด่วน 1502 ตามช่องทางด้านล่างดังต่อไปนี้
- ร้องเรียนออนไลน์ผ่านเว็บไซต์ tcc.or.th คลิกลิงก์ https://crm.tcc.or.th/?entryPoint=Portal&action=complain…
- ไลน์ออฟฟิเชียล (Line Official) : @tccthailand คลิกลิงก์ https://lin.ee/uhDyO1U
- อินบ็อกซ์เฟซบุ๊ก (Facebook Inbox) : สภาองค์กรของผู้บริโภค
- อีเมล : [email protected]
- โทรศัพท์ : 1502