3 ร่างกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคถึงมือนายกฯ แล้ว ไฟเขียวสั่งการ ‘สคบ. – สธ.’ พิจารณาข้อเสนอ ด้านสภาผู้บริโภคเตรียมยื่นหมื่นรายชื่อหนุนกฎหมายต่อรัฐสภา 19 พ.ย.นี้
หลังจากที่สภาองค์กรของผู้บริโภค (สภาผู้บริโภค) ได้ยื่นข้อเสนอแก้ไขกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค 3 ฉบับ ได้แก่ ร่างพ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภคฯ ร่างพ.ร.บ.อาหารฯ และร่างกฎหมายเลมอน ลอว์ ต่อนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2567 เพื่อปรับปรุงกฎหมายให้สอดคล้องกับสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป ล่าสุดเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2567 นายกรัฐมนตรีได้มีคำสั่งส่งข้อเสนอทั้งหมดไปยังสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) และกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เพื่อพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง
สภาผู้บริโภค ระบุว่า การผลักดันการแก้ไขกฎหมายครั้งนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการยกระดับมาตรฐานการคุ้มครองผู้บริโภคในไทย เพื่อสร้างความมั่นใจและความปลอดภัยให้แก่ผู้บริโภคทุกกลุ่มในประเทศ ซึ่งถือเป็นก้าวสำคัญในการสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นให้แก่ประชาชน โดยขณะนี้ข้อเสนอทั้ง 3 ฉบับกำลังรอการพิจารณาและผลักดันจากภาครัฐให้เกิดเป็นกฎหมายที่มีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการ
ทั้งนี้ รายละเอียดร่างกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค 3 ฉบับที่เสนอต่อรัฐบาล มีดังนี้
1. การเสนอแก้ไขร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค ฉบับสภาผู้บริโภค เน้นการปรับปรุงสิทธิผู้บริโภคให้ครอบคลุมรูปแบบการซื้อขายออนไลน์ ซึ่งเป็นช่องทางที่ได้รับความนิยมสูงในปัจจุบัน นอกจากนี้ยังปรับปรุงกลไกการตัดสินข้อพิพาทให้รวดเร็วและประสิทธิภาพยิ่งขึ้น เพื่อให้การแก้ไขปัญหาต่าง ๆ เป็นไปอย่างเป็นธรรมและตรงไปตรงมา
2. การเสนอแก้ไขร่าง พ.ร.บ.อาหาร ฉบับสภาผู้บริโภค ร่างนี้เสนอให้เพิ่มมาตรการควบคุมความปลอดภัยทางอาหาร และปรับปรุงข้อกำหนดการอนุญาตและการโฆษณาอาหารให้ชัดเจนยิ่งขึ้น นอกจากนี้ยังมีการกำหนดบทบาทความรับผิดชอบของผู้ประกอบการ เพื่อป้องกันการโฆษณาที่อาจส่งผลเสียต่อสุขภาพของผู้บริโภค
3. การสนับสนุนให้ออกร่าง พ.ร.บ.ความรับผิดเพื่อความชำรุดบกพร่องของสินค้า หรือ เลมอน ลอว์ (Lemon Law) มุ่งแก้ปัญหาสินค้าที่มีคุณภาพต่ำ โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าเทคโนโลยีขั้นสูง เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่มักมีปัญหาด้านประสิทธิภาพ โดยร่างกฎหมายนี้จะระบุถึงความรับผิดชอบของผู้ขายและสิทธิของผู้บริโภคไว้อย่างชัดเจน
นอกจากนี้ ในวันที่ 19 พฤศจิกายน 2567 ที่จะถึงนี้ สภาผู้บริโภคเตรียมยื่นรายชื่อที่ได้รับการสนับสนุนจากผู้บริโภค และองค์กรสมาชิกสภาผู้บริโภคกว่า 10,000 รายชื่อในแต่ละกฎหมาย เพื่อขับเคลื่อนร่างกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค 3 ฉบับนี้สู่การพิจารณาในสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร โดยผู้บริโภคที่สนใจสามารถติดตามความคืบหน้าหรือเข้าร่วมเป็นสักขีพยานในการยื่นรายชื่อผลักดันกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค ติดตามรายละเอียดได้ที่เพจเฟซบุ๊ก สภาองค์กรของผู้บริโภค