สภาผู้บริโภค และเครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจาก “ผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร (ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 4)” ไม่ทนหลังพบ กรุงเทพมหานคร จัดรับฟังความคิดเห็นแค่พิธีกรรม ไร้การมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง ละเมิดสิทธิผู้ได้รับผลกระทบ รวบรวมรายชื่อยื่นคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนคัดค้านวันพุธ 6 พ.ย. นี้ ขณะที่ “อรรถวิชช์” ทวงคืนผังรับน้ำคู้บอน 8 แสนล้านลูกบาศเมตร หายจากผังเมืองรวม กทม. กลายเป็นหมู่บ้านจัดสรรของเอกชน
หลังจากกรุงเทพมหานครเปิดรับฟังความคิดเห็น “ร่างผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร (ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 4) ในเดือนสิงหาคม 2567 ที่ผ่านมาและเตรียมประกาศให้ประชาชนคัดค้านใน 90 วัน แต่พบว่ารายละเอียดของผังเมืองยังมีผลกระทบกับประชาชน ด้วยมีขยายถนนมากถึง 148 เส้น และคลองอีก 200 คลอง โดยที่ประชาชนยังขาดการรับรู้และมีส่วนร่วมที่แท้จจริง เป็นเหตุให้สภาผู้บริโภคจัดเวทีสภาผู้บริโภคเพื่อ “เมืองที่เป็นธรรม” (Justice City) กรณี “การวางและจัดทำผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร (ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 4) กับการละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชน” โดยมีเครือข่ายประชาชนที่ได้รับผลกระทบเข้าร่วมรับฟังและร่วมลงชื่อคัดค้านเพื่อยื่นให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนให้ตรวจสอบการละเมิดสิทธิในวันพุธที่ 6 พ.ย.นี้
อิฐบูรณ์ อ้นวงษา รองเลขาธิการสำนักงานสภาผู้บริโภค กล่าวว่า ที่ผ่านมาสภาผู้บริโภคได้ติดตามการร่างผังเมืองของกรุงเทพมหานคร และพบว่ามีปัญหาหลายประเด็นที่จะต้องได้รับแก้ไขอย่างเป็นระบบ เช่น เรื่องของน้ำท่วม ความแออัด และสภาพจราจร เนื่องจากกรุงเทพฯมีประชากรเกือบ 5 ล้านคน การอยู่อาศัยร่วมกันจึงเป็นหัวใจสำคัญที่ทุกคนมีสิทธิที่จะมีส่วนร่วมในการออกความคิดเห็น ดังนั้นการร่างผังเมืองรวมต้องให้ประชาชนมีสิทธิ และมีส่วนร่วมในการออกความคิดเห็น และกฎหมายรัฐธรรมนูญกำหนดไว้ว่าการจัดทำผังเมือง จะต้องมีการจัดรับฟังความคิดเห็นและแสดงให้เห็นถึงผลกระทบกับประชาชนอย่างละเอียดชัดเจน แต่ที่ผ่านมากรุงเทพมหานครดำเนินการโดยไม่มีการให้รายละเอียดผลกระทบและสร้างการมีส่วนร่วมกับประชาชนเพื่อให้รับรู้ข้อมูลการจัดทำร่างผังเมืองอย่างแท้จริง
“สภาผู้บริโภคจัดรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน พบว่าในหลายพื้นที่ยังมีความเป็นห่วงและข้อกังวลของประชาชนว่าการร่างผังเมืองรวมของกรุงเทพมหานครยังไม่ดำเนินการครบถ้วนตามที่รัฐธรรมนูญและกฎหมายว่าด้วยผังเมืองในปี 2562 ที่กำหนดเรื่องการมีส่วนร่วม ซึ่งที่ผ่านมาสภาผู้บริโภคได้ทำหนังสือไปที่ กทม.เพื่อให้ทบทวนและจัดทำร่างผังเมืองใหม่ โดยเปิดให้ประชาชนมีส่วนร่วม แต่ กทม. เลือกที่จะจัดรับฟังความเห็น เป็นเหตุให้เนื้อหาของผังเมืองรวมไม่มีความเปลี่ยนแปลงจากร่างผังเมืองเดิม และพบว่ากระทบสิทธิของประชาชน ดังนั้นหากปล่อยให้ดำเนินการต่อไปทำให้สิทธิของประชาชนอาจจะถูกละเมิดต่อไป ทำให้เรามีความคิดเห็นร่วมกับประชาชนที่ได้รับผลกระทบว่าควรจะมีการยื่นหนังสือคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติที่จะเข้ามาร่วมในการตรวจสอบ โดยจะเดินทางไปยื่นหนังสือในวันพุธที่ 6 พ.ย. นี้” อิฐบูรณ์ ระบุ
ด้านสุภัทรา นาคะผิว กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่า หากประชาชนเข้าชื่อและยื่นต่อกรรมการสิทธิฯ ร่างผังเมืองรวม กทม. ที่อาจเข้าข่ายละเมิดสิทธิมนุษยชนในหลายด้าน อาทิ สิทธิข้อมูลข่าวสาร สิทธิการมีส่วนร่วม สิทธิในการมีสิ่งแวดล้อมที่ดี และสิทธิในทรัพย์สิน โดยเฉพาะในเรื่องสิทธิในการมีที่อยู่อาศัย ทำให้กรรมการสิทธิฯ พร้อมที่จะนำเรื่องดังกล่าวเข้ารับการพิจารณา ต่อคณะกรรมการสิทธินุษยชนแห่งชาติเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงว่ากระบวนการร่างผังเมืองรวมฯของ กทม. ว่าเข้าองค์ประกอบการละเมิดสิทธิของประชาชนหรือไม่ ซึ่งหากพบว่ามีการละเมิดสิทธิฯ จริงเราจะเสนอไปยังกรุงเทพมหานครเพื่อให้พิจารณาต่อไป
สำหรับเวทีรับฟังความคิดเห็นของสภาผู้บริโภคได้สะท้อนปัญหาการละเมิดสิทธิในเรื่องของกระบวนการรับฟังความคิดและการมีส่วนร่วมในการร่างผังเมือรวม กทม. โดย พรพรหม โอกุชิ ผู้ช่วยเลขานุการคณะอนุกรรมการด้านอสังหาริมทรัพย์และที่อยู่อาศัย กล่าวว่า การร่างผังเมืองรวม กทม.เริ่มตั้งแต่ปี 2560 แต่เมื่อกฎหมายผังเมือง ปี 2562 ออกมาบังคับใช้ทำให้ กทม.ต้องร่างผังเมืองรวมใหม่ โดยรวมเอาผังน้ำและผังสิ่งแวดล้อมเข้ามาร่วม แต่ทั้งหมดไม่มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็น และไม่มีกระบวนการสร้างการมีส่วนร่วม แต่เปิดให้ประชาชนมีส่วนร่วมครั้งวันที่ 25 กค 2566 และมีการประชุมรับฟัง 50 เขต แต่พบว่าการจัดรับฟังความคิดเห็นของ กทม.ตั้งแต่ปี 2560 จนถึงปัจจุบันรวมประชาชนมีส่วนร่วม 21,776 คน จากประชากรกรุงเทพฯ 5.4 ล้านคน หรือ 0.4 % ของประชาชนทั้งหมด ขณะที่ผังเมือรวม กทมฯมีการตัดถนนน 148 เส้นและมีการขยายคลอง 200 คลองที่อาจจะกระทบต่อประชาชนจำนวนมาก
ขณะที่ ดร.อรรถวิชช์ สุวรรณภักดี ประธานคณะที่ปรึกษาของรัฐมนตรีกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวในฐานะประชาชนคน กทม. ว่า ได้จับตาร่างผังเมืองรวมของ กทม.ฉบับใหม่หลังจากที่เปิดรับความคิดเห็นแล็วเสร็จว่า ยังไม่ได้นำเอาผังน้ำคู้บอน กลับมาบรรจุในผังเมือง หลังจากที่ผ่านมาตนได้คัดค้าว่าผังน้ำคู้บอนหายไปจากผังเมืองรวม แม้ว่า ครม. ได้ประกาศเป็นพื้นที่รับน้ำไว้แล้ว ซึ่งถ้าเป็นตามผังน้ำจะสามารถรับน้ำในพื้นที่ฝั่งตะวันออกได้มากถึง 870,000 ล้านลูกบาศเมตร แต่กลับปรากกฏว่ามีพื้นที่หมู่บ้านจัดสรรของบริษัทเอกชนก่อสร้างขึ้นจำนวนมาก แม้จะมีป้ายประกาศติดไว้ชัดเจน
“ผังน้ำคู้บบอน เคยมีการประชาพิจารณ์ และเตรียมเวนคืน แต่มีความผิดปกติเพราะผังเมือรวมไม่มีการบรรจุผังน้ำดังกล่าวเอาไว้ แต่ถูกจัดสรรให้บริษัทเอกชนทำหมู่บ้านจัดสรร ทำให้เห็นว่า โครงการนี้ผิดปกติเพราะผังน้ำหายไปจากผังเมืองฉบับใหม่ ผมจะรอดูว่าหลังจากรับฟังความเห็นแล้ว ว่าผังน้ำจะกลับมาหรือไม่ ถ้ายังไม่มีผังน้ำคู้บอนในผังเมืองใหม่ ผมจะนำเรื่องนี้ไปยื่นต่อ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันปราบปรามทุจริตแห่งชาติ ( ป.ป.ช. )” ดร.อรรถวิชช์
ด้าน ทวีทอง ลาดทอง ผู้แทนประชาชนจากเขตคลองเตย กล่าวว่า ในอดีตชุมชนคลองเตยเคยเสียสละพื้นที่ชุมชนให้นำไปสร้างท่าเรือกรุงเทพฯ และย้ายวัดที่สำคัญชองเรา 4 แห่งออกจากพื้นที่ วันนี้เราจึงอยากมีส่วนร่วมกับการร่างผังเมืองรวม กทมฯ ฉบับที่ 4 โดยขอพื้นทื่ 20 % ของท่าเรือคลองเตยเป็นที่อยู่อาศัยของ 26 ชุมชนคลองเตยเพราะจะทำให้ประชาชนกว่า 5 แสนคนในพื้นที่ได้รับผลกระทบ เนื่องจากคนในชุมชนเห็นว่าโครงการสร้างคอมเพล็กซ์ในพื้นที่ท่าเรือจึงอยากขอพื้นที่บางส่วนเพื่อให้ชาวคลองเตยสามารถพัฒนาที่อยู่อาศัยได้อย่างมั่นคง ซึ่งผังเมืองต้องเชื่อมกับสิทธิที่อยู่อาศัยของคนคลองเตยและคนทุกคน
ขณะที่ นายวุฒิชัย ดุลยวิทย์ ผู้แทนประชาชนจากเขตวัฒนา กล่าวว่า เราต้องมาร้องเรียนผ่านสภาผู้บริโภค เพราะว่าเราคือผู้บริโภค และผังเมืองก็เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่รัฐต้องจัดที่อยู่อาศัย ซึ่งเป็นสิทธิของเรา เนื่องจากผังเมืองคือหัวใจทุกอย่าง และเป็นเรื่องที่ทุกคนมาตกลงกันว่าเราจะอยู่อย่างไรให้มีความสุข แต่ที่ผ่านมาเราไม่เคยรู้เรื่องนี้แลยจนมีการร่างผังเมืองแล้วเสร็จจึงเห็นว่า มีถนนที่ขยายออกมากระทบเรา แต่การประชาสัมพันธ์และการสร้างการมีส่วนร่วมไม่ได้เกิดขึ้นจริง แล้วเราจะสร้างเมืองที่เป็นธรรม (Justice City) ได้อย่างไร
ด้าน ก้องศักดิ์ สหะศักดิ์มนตรี อนุกรรมการด้านอสังหาริมทรัพย์และที่อยู่อาศัย สภาผู้บริโภค กล่าวว่า สิ่งที่เราพบในการร่างผังเมือง กทม. คือ การประชาสัมพันธ์ และสร้างการรับบรู้ที่ล้มเหลว โดยเชื่อว่าคนกรุงกว่า 99.5 % ไม่ได้มีส่วนร่วม เนื่องจากประชาชนส่วนใหญ่ไม่เข้าใจความหมายของผังเมืองที่ขีดเส้นและเปลี่ยนสี จึงเป็นที่มาว่ากระบวนการมีส่วนร่วมที่ไม่มีการบอกรายละเอียด และสร้างการรับรู้ให้ประชาชนเข้าใจถึงรายละเอียดผลกระทบที่ชัดเจน ถือเป็นการละเมิดสิทธิของประชาชน
“การประชาสัมพันธ์ผังเมือง กทม.จะพูดเฉพาะข้อดี แต่ไม่มีผลกระทบที่เกิดขึ้นเพราะความจริงแล้วทุกเส้นที่ขีด และสีที่วาดมีคนที่ได้รับผลกระทบอยู่ นอกจากนี้ไม่มีการชี้แจงรายละเอียดของผังเมืองเลยรวมถึงไม่มีแนวทางเยียวยา ขณะที่ร่างผังเมืองไม่สะท้อนความจริงของพื้นที่ทำให้มีผลกระทบกับประชาชนจำนวนมาก” อนุกรรมการด้านอสังหาฯ สภาผู้บริโภค กล่าว