ศาลเชียงใหม่ยกฟ้อง! กรณีไม่จ่ายหนี้บัตรเครดิต หลังผู้บริโภคโดนดูดเงิน

ศาลแขวงเชียงใหม่ยกฟ้อง! กรณีผู้บริโภคถูกผู้ให้บริการบัตรเครดิตฟ้องให้รับผิดหนี้บัตร 1.2 แสนบาท จากเหตุมิจฉาชีพอ้างเป็นกรมที่ดิน หลอกให้กดลิงก์โอนเงินสดออกจากบัตร ด้านสภาผู้บริโภคชี้คำพิพากษาสร้างบรรทัดฐานใหม่ให้ธนาคาร – ผู้ให้บริการบัตรเครดิต ต้องร่วมตรวจสอบการทำธุรกรรมของผู้บริโภคที่รัดกุมทุกครั้ง

สุทธิเกียรติ ธรรมกุล ทนายความสภาองค์กรของผู้บริโภค (สภาผู้บริโภค) ได้แจ้งผลคำพิพากษาศาลชั้นต้น ศาลแขวงจังหวัดเชียงใหม่ ในเดือนกันยายนที่ผ่านมากรณีที่ผู้ให้บริการบัตรเครดิตรายหนึ่งได้ฟ้องร้องผู้บริโภคให้รับผิดชอบหนี้บัตรเครดิตจำนวน 120,000 บาท ซึ่งผู้บริโภคปฏิเสธการชำระหนี้เนื่องจากเป็นกรณีที่ตนเองโดนมิจฉาชีพเข้ามาในระบบโทรศัพท์มือถือเบิกถอนเงินสดจากบัตรเครดิตในจำนวนดังกล่าว ซึ่งศาลได้ยกฟ้องผู้ให้บริการบัตรเครดิต โดยสาระสำคัญระบุว่าผู้ให้บริการบัตรเครดิตควรตรวจพบและสังเกตความผิดปกตินี้เพื่อป้องกันการฉ้อโกง

สุทธิเกียรติกล่าวว่า คำพิพากษานี้จะสร้างบรรทัดฐานในการคุ้มครองผู้บริโภคว่าผู้ให้บริการบัตรเครดิตต้องจัดให้มีมาตรการตรวจสอบการทำธุรกรรมทุกรายการของผู้บริโภคที่รัดกุมก่อนทำรายการทุกครั้ง รวมถึงหน้าที่ในการเพิ่มระบบความปลอดภัยให้มากขึ้น

“ผู้ให้บริการควรตรวจสอบหลักฐานและธุรกรรมทางการเงินให้ชัดเจนก่อนมีการฟ้องร้อง ไม่ใช่อ้างเพียงว่ามั่นใจในระบบความปลอดภัยที่ดีอยู่แล้ว เพราะเป็นการผลักภาระผู้บริโภคในการต่อสู้คดีในชั้นศาลและเพิ่มภาระในการที่จะต้องจัดหาทนาย” สุทธิเกียรติ ระบุ

กรณีการฟ้องร้องดังกล่าวสภาผู้บริโภคได้รับเรื่องร้องเรียนขอความช่วยเหลือจากผู้บริโภคในเดือนมกราคม 2567 เนื้องจากผู้บริโภคถูกผู้ให้บริการบัตรเครดิตฟ้องร้อง โดยในเนื้อความของเรื่องร้องเรียนกล่าวว่าตนเองถูกมิจฉาชีพโทรศัพท์ติดต่อเข้ามาและแอบอ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่จากกรมที่ดิน ลวงให้เข้าเว็บไซต์กรมที่ดินปลอมและให้ดาวน์โหลดติดตั้งแอปพลิเคชันกรมที่ดินปลอม ภายหลังติดตั้งพบว่าโทรศัพท์มือถือไม่สามารถใช้งานได้ เครื่องค้าง และยังพบว่ามีรายการทำธุรกรรมทางการเงินที่ผิดปกติ 3 ครั้ง คือ มีการเบิกถอนเงินสดจากบัตรเครดิต ครั้งละ 40,000 บาท รวมจำนวนเงิน 120,000 บาท ตั้งแต่เวลา 16.45 น. 16.48 น. และ 16.49 น. เข้าบัญชีผู้เสียหายที่ผูกไว้กับธนาคาร หลังจากนั้น เวลา 16.55 น. มีการแจ้งเตือนว่ามีการโอนเงินไปจากบัญชีผู้เสียหายไปยังบัญชีมิจฉาชีพ จำนวนเงิน 120,000 บาท

เมื่อผู้บริโภคที่ได้รับความเสียหายทราบจึงรีบแจ้งไปยังผู้ให้บริการบัตรเครดิตและรีบแจ้งความกับตำรวจโดยทันที แต่เมื่อเดือนเมษายน 2566 ถูกผู้ให้บริการบัตรเครดิตฟ้องร้องเป็นคดีความเป็นจำนวนเงิน 142,000 บาท (รวมดอกเบี้ย ค่าติดตามทวงถาม และค่าธรรมเนียมเบิกถอน) ขณะเดียวกันผู้บริโภครายดังกล่าวพยายามขอความช่วยเหลือจากหลายหน่วยงานแต่ไม่คืบหน้า กระทั่งเข้ามาร้องเรียนกับสภาผู้บริโภค และสภาผู้บริโภคได้ให้ความช่วยเหลือด้านคดีกับผู้บริโภค

หลังจากได้มีการพิจารณาคดี ศาลแขวงเชียงใหม่ได้มีคำพิพากษาในเดือนกันยายน ที่ผ่านมา โดยพิพากษายกฟ้องผู้บริโภคในคดีดังกล่าว ในคำพิพากษามีประเด็นที่น่าสนใจ 3 ประเด็น ได้แก่ 1. การแจ้งความและร้องทุกข์แสดงถึงความสุจริตและการปฏิบัติตนอย่างเหมาะสมของผู้บริโภค 2. บัญชีปลายทางที่ถูกอายัดแสดงว่าเคยมีประวัติการฉ้อโกง ซึ่งช่วยเพิ่มความเป็นธรรมให้ผู้บริโภค และ 3. การเบิกเงินเกิน 40,000 บาท โดยผู้บริโภคไม่เคยใช้ในลักษณะนี้ ผู้ให้บริการควรตรวจพบและสังเกตความผิดปกติเพื่อลดการฉ้อโกง

ทนายความสภาผู้บริโภค ฝากถึงผู้บริโภคที่ได้รับความเสียหายและไม่ได้รับความเสียหายว่า หากพบความผิดปกติอย่างเช่นกรณีที่ข้างต้น ให้รีบติดต่อไปยังธนาคารแจ้งเรื่องให้รวดเร็วที่สุด และรีบแจ้งความต่อกับตำรวจด้วย เพื่อเป็นหลักฐานที่สำคัญในการยืนยันเหตุการณ์และการพิสูจน์ความบริสุทธิ์ หรือสามารถรวบรวมหลักฐาน ได้แก่ หลักฐานการโอนเงินหรือหลักฐานประกอบอื่น ๆ ติดต่อขอคำปรึกษาหรือร้องเรียนผ่านสภาผู้บริโภค ได้ที่สายด่วน 1502 หรือร้องเรียนออนไลน์ผ่านเว็บไซต์ tcc.or.th และนอกจากนี้สามารถร้องเรียนกับหน่วยงานประจำจังหวัดของสภาผู้บริโภค ทั้ง 19 จังหวัด ดูรายละเอียดได้ที่เว็บไซต์ https://www.tcc.or.th/tcc-agency/