เวทีเสวนา “กฎหมายเลมอน ลอว์” ระบุ การผลักดันกฎหมายจะช่วยปกป้องสิทธิผู้บริโภคจากสินค้าที่ชำรุด ผู้บริโภคสามารถใช้สิทธิ 5 ข้อ ‘ขอซ่อม ขอเปลี่ยน ขอลดราคา ขอยกเลิก หรือหยุดผ่อนสินค้า’ พร้อมย้ำหากกฎหมายบังคับใช้จะช่วยสร้างมาตรฐานการคุ้มครองผู้บริโภค กระตุ้นการแข่งขันทางธุรกิจอย่างเป็นธรรม และส่งเสริมความรับผิดชอบของผู้ประกอบการ ด้านสภาผู้บริโภคผนึกพลังร่วม ม.ศรีปทุม ลงนาม MOU เพิ่มการศึกษาวิจัยวิชาการ – พัฒนาบุคลากร – ให้ความรู้ด้านการคุ้มครองผู้บริโภค
เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2567 สภาผู้บริโภค ร่วมกับหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชานิติรัฐกิจและการบริหาร (LPB) และศูนย์กฎหมาย (SLC) คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีปทุม จัดเสวนาเกี่ยวกับ (ร่าง) พระราชบัญญัติความรับผิดเพื่อความชำรุดบกพร่องของสินค้า หรือกฎหมายเลมอน ลอว์ (Lemon Law) โดยนักกฎหมายและผู้ทรงคุณวุฒิ โดยนางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสำนักงานสภาผู้บริโภค ระบุว่า ขณะนี้สภาผู้บริโภคกำลังเร่งผลักดันกฎหมายเลมอน ลอว์ ฉบับสภาผู้บริโภค ซึ่งเป็นกฎหมายเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคจากการซื้อสินค้าที่มีข้อบกพร่องหรือชำรุด มีเป้าหมายเพื่อให้ผู้บริโภคมีสิทธิในการเปลี่ยนสินค้าหรือขอยกเลิกสัญญาได้หากสินค้าที่ได้รับไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ทั้งนี้ กฎหมายลักษณะนี้ถูกบังคับใช้แล้วในหลายประเทศ เช่น ประเทศในอาเซียนอย่างฟิลิปปินส์และสิงคโปร์ ที่สามารถคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคได้อย่างเป็นรูปธรรมจากความชำรุดบกพร่องของสินค้า
เลขาธิการสำนักงานสภาผู้บริโภค กล่าวอีกว่า กฎหมายเลมอน ลอว์ เป็นหนึ่งในสามกฎหมายที่สภาผู้บริโภคได้จัดทำร่างกฎหมายและเสนอไปยังสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ร่างกฎหมายฉบับนี้มีการพัฒนาให้มีเนื้อหาที่เข้าใจง่าย และชัดเจน เพื่อให้ผู้บริโภคสามารถใช้สิทธิได้อย่างเหมาะสมและทันท่วงทีหากสินค้าที่ได้รับมีปัญหา ปัจจุบันร่างกฎหมายยังอยู่ในขั้นตอนการตรวจสอบรายชื่อ เพื่อนำส่งรัฐสภา ซึ่งสภาผู้บริโภคมั่นใจว่าหากกฎหมายนี้บังคับใช้ ผู้บริโภคจะได้รับการคุ้มครองสิทธิที่มากขึ้น ลดภาระการฟ้องร้อง และสามารถเพิ่มอำนาจต่อรองกับผู้ประกอบการได้
“กฎหมายเลมอน ลอว์ ไม่ได้เป็นปัญหาหรืออุปสรรคกับภาคธุรกิจ แต่กลับจะช่วยกระตุ้นให้เกิดการแข่งขันที่เป็นธรรมและโปร่งใสมากขึ้น อีกทั้งยังเป็นการส่งเสริมความรับผิดชอบของผู้ประกอบการต่อผู้บริโภค สร้างมาตรฐานที่ดีขึ้นในการผลิตและจำหน่ายสินค้า ซึ่งในระยะยาวจะเป็นประโยชน์ทั้งต่อผู้บริโภคและผู้ประกอบการในตลาด” สารี กล่าวและว่า กฎหมายฉบับนี้นอกจากคุ้มครองผู้บริโภคแล้ว ยังช่วยคุ้มครองสิ่งแวดล้อมด้วย เพราะปัญหาสินค้าที่ชำรุดง่าย ทำให้ผู้บริโภคต้องซื้อของบ่อยขึ้น และก่อให้เกิดขยะอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นอีกประเด็นที่สำคัญมาก
ด้าน ผศ. ดร.เอมผกา เตชะอภัยคุณ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และในฐานะประธาน (ร่าง) พระราชบัญญัติความรับผิดเพื่อความชำรุดบกพร่องของสินค้า พ.ศ. … สภาผู้บริโภค ให้ความเห็นว่า เป้าหมายของร่างกฎหมายฉบับนี้มีการปรับแก้ไขโดยทำให้ผู้บริโภคสามารถเข้าใจกฎหมายได้ง่ายขึ้นด้วยการใช้ภาษาที่เข้าใจง่ายและสามารถนำไปปฏิบัติได้จริง ด้วยการกำหนดลำดับขั้นตอนการเยียวยาที่ชัดเจนและผู้บริโภคสามารถใช้สิทธิ 5 ข้อ ในการขอซ่อม ขอเปลี่ยน ขอลดราคา ขอยกเลิก หรือหยุดผ่อนสินค้าได้ อีกทั้งมีการแบ่งหมวดหมู่หน้าที่ด้านความรับผิดของผู้ขาย สิทธิของผู้ซื้อ ส่วนความรับผิดของผู้ให้เช่า หรือผู้ให้สินเชื่อ และสัญญารับประกัน
ทั้งนี้ กฎหมายเลมอน ลอว์ เป็นหนึ่งในสามกฎหมายที่สภาผู้บริโภคได้จัดทำร่างกฎหมายและเสนอไปยังรัฐบาล นอกจากอีก พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภคฯ พ.ร.บ.อาหารฯ และ ร่างกฎหมายเลมอน ลอว์ ซึ่งเป็นร่างกฎหมายใหม่ ที่เดิมทีเคยมีการร่างกฎหมายนี้ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) แต่ยังคงเป็นร่างกฎหมายมา 8 ปี และสำหรับฉบับสภาผู้บริโภคนั้นมีการปรับเปลี่ยนการใช้ภาษา เพื่อให้ผู้บริโภคเข้าใจสิทธิในกฎหมายง่ายขึ้น
“สภาผู้บริโภคมีเครือข่ายผู้บริโภคอยู่ทั่วประเทศ การร่างกฎหมายครั้งนี้ ได้เปิดรับฟังความเห็นหรือมุมมองจากคนในท้องถิ่นร่วมด้วย เพื่อให้กฎหมายเขียนออกมาแล้วทุกคนอ่านแล้วเข้าใจได้ ซึ่งสาเหตุปัญหาของกฎหมายที่ผู้คนเข้าใจยาก เป็นเพราะการใช้ภาษาที่ยากต่อการตีความ ไม่ชัดเจนว่าเจอปัญหาเช่นนี้จะต้องได้รับการเยียวยาอย่างไร เช่น ต้องซ่อมได้กี่ครั้งถึงสามารถเปลี่ยนได้ หรือเกิดปัญหาเช่นนี้สามารถคืนสินค้าได้หรือไม่ ทำให้ผู้บริโภคมักเจอปัญหามีกฎหมาย แต่ไม่สามารถใช้ได้จริง” ผศ. ดร.เอมผกา ระบุ
ขณะที่ จิณณะ แย้มอ่วม ทนายความและอนุกรรมการด้านการเงินการธนาคาร สภาผู้บริโภค กล่าวว่า การผลักดันกฎหมายเลมอน ลอว์ กำลังเป็นเรื่องที่สภาผู้บริโภคให้ความสำคัญ เนื่องจากปัญหาสินค้าชำรุดที่เกิดขึ้นบ่อยครั้ง โดยเฉพาะในสินค้าที่มีราคาแพงอย่างโทรศัพท์มือถือและรถยนต์ ซึ่งกฎหมายฉบับนี้มีเป้าหมายให้ผู้บริโภคมีสิทธิได้รับความคุ้มครองที่ชัดเจน หากผู้บริโภคพบปัญหาภายใน 3 เดือนหลังซื้อสินค้า สามารถนำสินค้ากลับมาคืนเพื่อรับเงินคืนได้ หากเป็นปัญหาที่พบระหว่าง 3 ถึง 6 เดือน ผู้บริโภคควรได้รับการเปลี่ยนสินค้าใหม่ทันที หรือในกรณีที่สินค้าชำรุดหลังจากนั้น แต่ยังอยู่ในระยะเวลาที่เหมาะสม ผู้ประกอบการควรมีการชดเชยที่เป็นธรรม ซึ่งในปัจจุบัน กฎหมายนี้ยังไม่ถูกบังคับใช้อย่างเป็นทางการในประเทศไทย ทำให้ยังพบปัญหาที่ว่าศาลต้องใช้ดุลพินิจในการตัดสินคดีแทน
กฎหมายเลมอน ลอว์ ที่สภาผู้บริโภคกำลังผลักดันนี้มีการเปรียบเทียบกับตัวอย่างจากต่างประเทศ เช่น ในสหรัฐอเมริกา ที่ผู้บริโภคมีสิทธิขอเงินคืนหรือเปลี่ยนสินค้าได้ หากพบปัญหาภายในระยะเวลาที่กำหนด ทำให้เกิดความมั่นคงในตลาดสินค้าและกระตุ้นให้ผู้ประกอบการผลิตสินค้าที่มีคุณภาพมากขึ้น ในกรณีของประเทศไทย ขณะนี้มีการฟ้องร้องเกี่ยวกับโทรศัพท์มือถือยี่ห้อซัมซุง (Samsung) ที่พบปัญหาจากการใช้งานปกติ หากกฎหมายเลมอน ลอว์ ได้รับการบังคับใช้ การเยียวยาจะเกิดขึ้นอย่างเป็นระบบ และไม่ต้องพึ่งการต่อรองหรือการฟ้องร้องที่ซับซ้อน
นอกจากนี้ จิณณะ ระบุอีกว่า การดำเนินคดีแบบกลุ่ม (Class Action) เป็นอีกหนึ่งแนวทางที่สภาผู้บริโภคดำเนินการอยู่เพื่อคุ้มครองสิทธิของผู้บริโภคในวงกว้าง เนื่องจากการดำเนินคดีแบบนี้จะช่วยให้กรณีที่มีผู้เสียหายจำนวนมากสามารถรวมตัวกันฟ้องร้องได้ง่ายขึ้น ซึ่งจะทำให้การฟ้องคดีมีความเข้มแข็งและลดภาระทางการเงินของแต่ละบุคคล อีกทั้งยัง ช่วยสร้างความเป็นธรรมในตลาด สร้างมาตรฐานให้กับสินค้าและบริการ เพื่อป้องกันไม่ให้สินค้าที่มีคุณภาพต่ำเข้าสู่ตลาด ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อทั้งผู้บริโภคและผู้ประกอบการที่มีความสุจริตในการดำเนินธุรกิจอย่างแท้จริง
ทั้งนี้ ในวันเดียวกัน สภาผู้บริโภค ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ร่วมกับหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชานิติรัฐกิจและการบริหาร (LPB) และศูนย์กฎหมาย (SLC) คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีปทุม เพื่อสร้างความร่วมมือทางวิชาการ การใช้ศักยภาพและทรัพยากรต่าง ๆ ร่วมกันในการพัฒนาบุคลากร การศึกษาวิจัยและด้านวิชาการ รวมถึงความร่วมมือในกิจกรรมอื่น ๆ ที่เกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค