สภาผู้บริโภค จับมือสภาผู้บริโภคฮ่องกง ลงนามในบันทึกข้อตกลงความเข้าใจ (MOU) สร้างกลไกแก้ไขข้อพิพาทผู้บริโภคข้ามพรมแดน ช่วยเสริมสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคสองประเทศ ผ่านการแลกเปลี่ยนข้อมูลและการอ้างอิงข้อร้องเรียนเพื่อการคุ้มครองสิทธิที่มีประสิทธิภาพขึ้น
ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2567 มีชาวฮ่องกงมาท่องเที่ยวในประเทศไทยกว่า 660,000 คน ขณะที่นักท่องเที่ยวไทยเดินทางไปเที่ยวฮ่องกงมากถึง 450,000 คน ซึ่งก่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนทางเศรษฐกิจอย่างมาก นอกจากนี้แม้จะมีการพัฒนาระบบชำระเงินข้ามพรมแดน FPS x PromptPay เพื่ออำนวยความสะดวกแก่นักท่องเที่ยวทั้งสองฝ่าย แต่ยังพบข้อพิพาทในการซื้อสินค้าและบริการหลากหลายรูปแบบ สร้างความกังวลแก่ผู้บริโภคทั้งสองประเทศ
เพื่อยกระดับการคุ้มครองผู้บริโภคระหว่างประเทศ วันที่ 24 ตุลาคม 2567 สภาผู้บริโภค (Thailand Consumers Council – TCC) และสภาผู้บริโภคฮ่องกง (Hong Kong Consumer Council – HKCC) ได้ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงความเข้าใจ (MOU) เพื่อจัดตั้งกลไกการแลกเปลี่ยนข้อมูลและการอ้างอิงข้อร้องเรียนผู้บริโภคข้ามพรมแดน โดยมีเป้าหมายเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการแก้ไขข้อพิพาทและคุ้มครองผู้บริโภคระหว่างทั้งสองประเทศ
สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสำนักงานสภาผู้บริโภค กล่าวว่า ความร่วมมือครั้งนี้ถือเป็นก้าวสำคัญในการยกระดับการคุ้มครองผู้บริโภคของทั้งสองประเทศ ภายใต้ข้อตกลงดังกล่าวนั้นผู้บริโภคสามารถร้องเรียนผ่านองค์กรผู้บริโภคในประเทศของตนเองได้ทันที เมื่อประสบปัญหาจากการซื้อสินค้าหรือบริการในอีกประเทศหนึ่ง โดยองค์กรผู้บริโภคจะทำหน้าที่ประสานงานและแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกัน เพื่อช่วยเหลือผู้บริโภคให้ได้รับการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นธรรม
“ที่ผ่านมาสภาผู้บริโภคได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้บริโภคไทยที่ประสบปัญหาจากการซื้อสินค้าและบริการในฮ่องกงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในช่วงที่การท่องเที่ยวฟื้นตัว ปัญหาหลักที่พบ ได้แก่ การถูกเอาเปรียบด้านราคา สินค้าไม่ได้มาตรฐาน และการไม่ได้รับความเป็นธรรมในการรับประกันสินค้า ความร่วมมือครั้งนี้จึงถือเป็นก้าวสำคัญที่จะช่วยยกระดับการคุ้มครองผู้บริโภคของทั้งสองประเทศให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น” สารี กล่าว
ด้าน ชาน คัม-วิง ประธานสภาผู้บริโภคฮ่องกง ชี้ให้เห็นถึงปัญหาสำคัญที่ผู้บริโภคมักประสบในการติดตามเรื่องร้องเรียนข้ามประเทศ โดยเฉพาะในกรณีที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนมูลค่าสูง เช่น การซื้ออสังหาริมทรัพย์ เนื่องจากข้อจำกัดด้านภาษา วัฒนธรรม ระยะทาง และความแตกต่างของระบบกฎหมายระหว่างประเทศ
“ในกรณีที่เกี่ยวข้องกับเงินจำนวนมาก เช่น การซื้ออสังหาริมทรัพย์ในต่างประเทศ แม้ว่าผู้บริโภคต้องการที่จะเรียกร้องสิทธิ ก็มักจะเป็นเรื่องที่ท้าทายอย่างยิ่ง เนื่องจากข้อจำกัดด้านภูมิศาสตร์ ภาษา วัฒนธรรม รวมถึงความแตกต่างของกฎหมายและแนวปฏิบัติทางธุรกิจ ข้อตกลงในวันนี้จึงเกิดขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหาเหล่านี้โดยตรง” ชาน กล่าว
ทั้งนี้ ทั้งสองฝ่ายเชื่อมั่นว่าการจัดตั้งกลไกการแลกเปลี่ยนข้อมูลและการอ้างอิงข้อร้องเรียนภายใต้ข้อตกลงฉบับนี้ จะไม่เพียงแต่ช่วยให้ผู้บริโภคได้รับความคุ้มครองและการชดเชยอย่างเป็นธรรมเท่านั้น แต่ยังจะเป็นการส่งเสริมความเชื่อมั่นในการท่องเที่ยวและการค้าระหว่างประเทศ อันจะนำไปสู่การพัฒนาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและการค้าปลีกของทั้งสองประเทศอย่างยั่งยืนในระยะยาว
สำหรับผู้บริโภคที่ประสบปัญหาจากการซื้อสินค้าหรือบริการในฮ่องกง สามารถร้องเรียนผ่านสายด่วนสภาผู้บริโภค 1502 หรือเว็บไซต์ tcc.or.th ได้ทันทีเมื่อกลับถึงประเทศไทย โดยจะมีการประสานงานและแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างหน่วยงานทั้งสองประเทศเพื่อช่วยเหลือผู้บริโภคต่อไป