ผู้บริโภคสูงวัยโดนตุ๋น รู้ไม่ทันกลโกง ตกเป็นเหยื่อภัยออนไลน์พุ่ง 22%

“ไม่ใช่ว่าอยู่ดี ๆ ผู้สูงวัยจะโดนหลอกง่าย ไม่ใช่ไม่มีการศึกษา บางคนมีการศึกษาดียังถูกมิจฉาชีพหลอกได้”

ต้องยอมรับว่าประเทศไทยได้เข้าสู่สังคมสูงวัยโดยสมบูรณ์ สถิติ ณ เดือนกันยายน 2567 มีจำนวนผู้สูงอายุกว่า 13 ล้านคน ทำให้ไทยกลายเป็นประเทศที่มีผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเป็นอันดับ 3 ของโลก รองจากสิงคโปร์ และอีกไม่ถึง15 ปีข้างหน้า ไทยจะมีจำนวนผู้สูงอายุแซงหน้าสิงคโปร์

ขณะที่สถานการณ์ภัยคุกคามทางออนไลน์ ภัยทางการเงิน เป็นปัญหาที่น่าหนักใจไม่น้อย ด้วยมิจฉาชีพมีวิวัฒนาการพัฒนารูปแบบกลลวงมาหลอกสารพัดรูปแบบ

รูปแบบการหลอกลวงที่พบบ่อย…

หลอก… ขายของออนไลน์ สร้างเพจ สร้างโปรไฟล์ปลอม เน้นโปรโมชันขายถูกเกินจริง และเมื่อสั่งสินค้าแล้วได้ของไม่ตรงปก โอนเงินแล้วไม่ได้รับสินค้า หรือการหลอกผู้สูงอายุว่า ลูกหลานสั่งของมาส่งที่บ้าน ช่วยจ่ายเงินให้ด้วย

หลอก… เปิดบัญชีม้า มิจฉาชีพจะชวนเปิดบัญชีธนาคาร โดยให้เงินเจ้าของบัญชีเป็นการตอบแทน จากนั้นนำบัญชีไปรับโอนเงินที่ทำผิดกฎหมาย

หลอก… กู้เงิน มิจฉาชีพจะส่งข้อความผ่านเอสเอ็มเอส หรือโซเชียลมีเดีย ชวนกู้เงิน หรือหลอกว่าจะช่วยทำเรื่องกู้ให้ เมื่อให้ข้อมูลส่วนตัวไป มิจฉาชีพจะดูดเงินจนหมดบัญชี  รวมถึงข่มขู่บัญชีไปพัวพันกับธุรกิจผิดกฎหมาย เป็นต้น

หลอก… ลงทุน เช่น หลอกลงทุนแชร์ลูกโซ่ มิจฉาชีพจะสร้างบริษัทให้ดูน่าเชื่อถือ ให้ลงเงิน หรือยื่นผลตอบแทนได้จริงในเดือนแรก ๆ แล้วชวนให้ลงเงินเพิ่ม และอ้างว่าต้องถึงกำหนดก่อนจึงถอนเงินได้ หรือหลอกลงทุนฟอเร็กซ์ (FOREX) ที่คนไม่มีความรู้ก็สามารถนำเงินมาลงทุนได้

สอดคล้องกับข้อมูลจากโครงการศึกษาสถานการณ์ภัยคุกคามทางออนไลน์ ปี 2567 จัดทำโดย สสส. และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พบว่า คนไทยกว่า 36 ล้านคน ถูกหลอกลวงออนไลน์และตกเป็นผู้เสียหาย 18.37 ล้านคน โดยพบ “ผู้สูงอายุ” ตกเป็นเหยื่อเพิ่มสูงขึ้นถึง 22 เปอร์เซ็นต์

สาเหตุที่กลุ่มผู้สูงอายุตกเป็นเป้า จนกลายเป็นเหยื่ออาชญากรรมทางการเงิน ภัยออนไลน์ ถูกหลอกลวงจนสูญเสียทรัพย์สินเงินทองให้กับมิจฉาชีพหลายต่อหลายรายแล้วนั้น “ชูเนตร ศรีเสาวชาติ” อนุกรรมการด้านสินค้าและบริการทั่วไป สภาผู้บริโภค ให้มุมมองที่มีต่อผู้สูงวัยเพื่อหาคำตอบ ทำไมถึงคนกลุ่มนี้ถึงตกเป็นเหยื่อถูกหลอกลวงทางออนไลน์เพิ่มขึ้นทุกวัน

ภาพจากเว็บไซต์ : มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค

“มีเหตุผลทางทางการแพทย์ มีเหตุผลทางวิทยาศาสตร์รับรองอยู่ 1. ภาวะที่ความสามารถทางสติปัญญาของผู้สูงอายุลดลง สมองเสื่อม การฝ่อของสมองส่วนหน้า โดยเฉพาะสมองส่วนหน้าฝ่อ เป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้มนุษย์คิดอย่างมีเหตุมีผล การคิดเชิงตรรกะ (Logical Thinking) 2. ความยืดหยุ่นของระบบประสาทลดลง ทำงานได้ช้าไม่ดีเท่าเดิม 3. การเลือกจำ 4. ความเหงา ผู้สูงอายุบางคนอยู่คนเดียว บ้างอยู่กับลูกหลานแต่ส่วนใหญ่ก็ออกไปทำงานกันหมด เพราะฉะนั้นความเหงา พอใครที่เข้ามาคุยด้วยก็จะเชื่อ 5. รอคอยไม่ได้ตัดสินใจทันที ทั้งหมดคือลักษณะของผู้สูงอายุที่ไม่เหมือนคนทั่วไปจะมีต่อมเอ๊ะ ซึ่งการมองไม่เห็นถึงความไม่ชอบมาพากลนี่เอง ทำให้ผู้สูงอายุโดนหลอกง่าย”

อนุกรรมการ ด้านสินค้าและบริการทั่วไปฯ บอกว่า ที่ต้องพูดถึงระบบต่าง ๆ โดยเฉพาะสมองของผู้สูงอายุที่เสื่อมถอยลงเป็นเรื่องสำคัญมากที่สังคมไทยต้องเข้าใจด้วย เพราะ “ไม่ใช่ว่าอยู่ดี ๆ ผู้สูงวัยจะโดนหลอกง่าย ไม่ใช่ไม่มีการศึกษา บางคนมีการศึกษาดียังถูกมิจฉาชีพหลอกได้”

ปัจจุบันกลุ่มผู้สูงวัยถูกจัดแบ่งออกเป็น

  • กลุ่มติดเตียง เป็นผู้สูงวัยกลุ่มเปราะบางที่ไม่สามารถช่วยเหลือตนเอง ต้องการความช่วยเหลือจากผู้อื่น ผู้ดูแลใกล้ชิดหรือบุตรหลาน กลุ่มนี้มักไม่ถูกหลอก
  • กลุ่มติดบ้าน ส่วนใหญ่ เป็นผู้สูงวัยที่ช่วยเหลือตนเองได้ หรือต้องการความช่วยเหลือบางส่วน ต้องการอาหาร ยารักษาโรค กลุ่มนี้เสี่ยงที่จะถูกหลอกได้จากการซื้อสินค้า อาหาร และยารักษาโรค ผ่านช่องทางออนไลน์  การถูกหลอกจากมิจฉาชีพ การถูกหลอกดูดเงินในบัญชี
  • กลุ่มติดสังคม เป็นผู้สูงอายุที่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ดี สุขภาพดี ไม่มีโรคเรื้อรัง หรือมีโรคเรื้อรัง แต่ควบคุมได้ สามารถใช้ชีวิตในสังคมได้โดยอิสระ เช่น กลุ่มข้าราชการเกษียณ หรือผู้สูงอายุทั่วไปที่ยังมีรายได้ มีทรัพย์สิน เป็นกลุ่มที่ต้องใส่ใจดูแลเป็นพิเศษ เพราะว่ามีกำลังซื้อ ทั้งผลิตภัณฑ์อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์สุขภาพ สินค้าและบริการ

“ผู้สูงอายุกลุ่มที่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ มักจะถูกมิจฉาชีพหลอกโดยอ้างโทรมาจากหน่วยงานรัฐ บอกเราว่า จะได้บำนาญพิเศษ หรือขู่มีชื่อ มีคดีอยู่ ก็ตกใจ เชื่อ จนไปทำธุรกรรมทางการเงิน โอนเงิน กรณีแบบนี้จะพบบ่อยมาก รวมไปถึงสายมู สายบุญ ใช้ช่องทางบุญออนไลน์ เป็นช่องทางหลอกลวง” ชูเนตร ว่า

ส่วนการขายสินค้าโฆษณาหลอกลวง กรณี “แม่ตั๊ก – ป๋าเบียร์” ขายทองคำไม่ได้มาตรฐาน หรือล่าสุด THE CON GROUP ที่อาจเข้าข่ายหลอกลงทุนโดยไม่ได้ขายสินค้าจริง และมีการใช้ศิลปินดาราคนดังเป็นตัวดึงดูดนั้น ชูเนตร มั่นใจว่า จะมีผู้บริโภคสูงวัยจำนวนไม่น้อยตกเป็นผู้เสียหายรวมอยู่ด้วย เพราะก่อนหน้านี้ มีอดีตพนักงานการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) วัย 81 ปี ถูกแก๊งคอลเซ็นเตอร์วิดีโอคอล ปลอมเป็นตำรวจ หลอกให้ทำตามขั้นตอนผ่านทางแอปฯ ไลน์ ก็ถูกดูดเงินไป 19 ล้านบาท จากนั้นนำบ้านจำนองอีก 3 ล้านบาท หมดเงินไปทั้งสิ้น 22 ล้านบาท

“ตัวอย่างนี้ คือ ความกลัว ตกใจ กลัวโดนจับ กลัวไม่กล้าบอกลูกหลาน สังคมไทยจะมีข่าวแบบนี้เกิดขึ้นอยู่บ่อย ๆ ฉะนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่จะเข้ามาคุ้มครองผู้บริโภคสูงวัย ทั้งกรมกิจการผู้สูงอายุ  สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค สถาบันครอบครัว  สภาผู้บริโภค ซึ่งมีหน่วยงานประจำจังหวัด มีองค์กรสมาชิก สามารถเข้าไปช่วยสร้างความตระหนักรู้ภัยมิจฉาชีพให้แก่ผู้สูงวัยได้  อย่าคลิก อย่าเชื่อ อย่าโอน ตั้งสติก่อน ให้ถามเพื่อน ถามลูกหลานก่อนจะเชื่อใคร”

พร้อมกันนี้ ได้เสนอให้ทุกหน่วยงานที่ดูแลเรื่องการคุ้มครองผู้บริโภค ควรเปิดช่องทางพิเศษ หรือ Fast Track รับเรื่องร้องเรียนจากผู้บริโภคสูงวัย เพื่อให้ความช่วยเหลือได้อย่างทันท่วงที     

เมื่อถามถึงมาตรการสกัดภัยทุจริตทางการเงิน มาตรการ Double Authorisation ที่ให้ธนาคารแต่ละแห่ง เสนอบริการเพื่อดูแลลูกค้าเพิ่มเติม เช่น การโอนเงินที่อาศัยบุคคลอื่นช่วยอนุมัติ การโอนเงินเฉพาะรายชื่อที่กำหนดไว้ล่วงหน้า ธนาคารจะเริ่มให้บริการทางเลือกนี้ ได้ตั้งแต่ไตรมาส 4 ปี 2567  

หรือมาตรการหน่วงเงินโอน  (Delayed Transaction) ข้อเสนอสภาผู้บริโภค ยอดเงินโอนสูงเกิน 1 หมื่นบาท ให้ธนาคารชะลอการโอนเงินออนไลน์ไว้เป็นเวลา 72 ชั่วโมง ก่อนอนุมัติจ่ายปลายทางเพิ่มความปลอดภัยในการทำธุรกรรมออนไลน์นั้น อนุกรรมการ ด้านสินค้าและบริการทั่วไปฯ เชื่อว่า สามารถช่วยผู้บริโภคสูงวัย และลดความเสียหายจากการถูกหลอกลวงได้ระดับหนึ่ง

ฉะนั้น การจัดการกับเล่ห์มิจฉาชีพ โดยเฉพาะการป้องกันไม่ให้ “ผู้บริโภคสูงวัย”  ต้องตกเป็นเหยื่อ จึงต้องอาศัยร่วมด้วยช่วยกันทั้งองคาพยพ ไม่เช่นนั้นคดีและความเสียหายจะมากขึ้น ทั้ง ๆ ที่เรารู้วิธีรับมือ…