ถึงเวลาตั้ง ‘วอร์รูมสื่อสารน้ำท่วม’ เชิงรุก รายงานแบบเรียลไทม์ ลดข้อมูลสับสน

สภาผู้บริโภคเสนอตั้งศูนย์ประสานงานและสื่อสารสถานการณ์น้ำท่วมเชิงรุก หรือ ‘วอร์รูมน้ำท่วม’ เหมือนช่วงโควิด – 19 ระบาด เตรียมพร้อมรับมือกับมวลน้ำ พร้อมประสานงานกับแต่ละพื้นที่ – ภาคประชาสังคม ร่วมสื่อสารข้อมูลอย่างเป็นระบบไปในทิศทางเดียวกัน ลดความสับสนของข้อมูล และมีความชัดเจน

จากสถานการณ์น้ำท่วมที่ยืดเยื้อมาหลายเดือน ซึ่งส่งผลกระทบต่อหลายจังหวัดทั่วประเทศ ปัจจุบันได้ทวีความรุนแรงจนกลายเป็นวิกฤติระดับชาติ ก่อให้เกิดความเสียหายอย่างกว้างขวาง อย่างไรก็ตามการสื่อสารข้อมูลเกี่ยวกับน้ำท่วมหรือการแจ้งเตือนภัยในขณะนี้ ส่วนใหญ่กลับมาจากภาคประชาชนเอง ซึ่งอาจทำให้เกิดความสับสนและการเตรียมพร้อมรับมือที่ไม่ถูกต้องนั้น

สุภิญญา กลางณรงค์ ประธานอนุกรรมการด้านการสื่อสาร โทรคมนาคม และเทคโนโลยีสารสนเทศ สภาผู้บริโภค ชี้ให้เห็นว่าการสื่อสารในสถานการณ์น้ำท่วมปัจจุบัน มีความหลากหลายทั้งในรูปแบบและแหล่งที่มา โดยเฉพาะข้อมูลจากสื่อสังคมออนไลน์ที่ประชาชนมีบทบาทสำคัญในการเผยแพร่ แม้จะสะท้อนถึงพลังและความร่วมมือของประชาชนอย่างน่าชื่นชม แต่ขณะเดียวกันก็สร้างความคาดหวังให้ภาครัฐต้องเร่งดำเนินการสื่อสารเชิงรุก เพื่อป้องกันความสับสนในข้อมูลที่อาจเกิดขึ้นจากแหล่งที่ไม่น่าเชื่อถือ

เพื่อแก้ไขปัญหานี้ สภาผู้บริโภคจึงเสนอให้รัฐบาลเร่งจัดตั้งหน่วยงานสื่อสารข้อมูลน้ำท่วมในรูปแบบ “วอร์ รูม” (War Room) เพื่อประสานข้อมูลที่เป็นทางการและมีความเป็นระบบมากขึ้น คล้ายกับการดำเนินงานของศูนย์ข้อมูล COVID – 19 ทั้งนี้ แนะนำว่าควรมีการสื่อสารระดับชาติเพื่อแจ้งสถานการณ์ภาพรวม และให้ท้องถิ่นมีอำนาจในการรายงานรายละเอียดที่จำเพาะเจาะจงต่อพื้นที่ของตนเอง นอกจากนี้ ควรมีช่องทางหลักที่ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลที่ถูกต้องและน่าเชื่อถือได้อย่างสะดวก

“สถานการณ์น้ำท่วมในขณะนี้ โดยเฉพาะภาคเหนือรุนแรงไม่แพ้ปี 2554 และอาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจระดับชาติได้ รัฐบาลจึงควรเร่งบูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งในระดับประเทศและท้องถิ่น เพื่อให้การบริหารจัดการน้ำท่วมเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ” สุภิญญา ระบุ

ในส่วนของการเตรียมรับมือกับภัยพิบัติในอนาคต สุภิญญาเน้นย้ำถึงความจำเป็นในการสร้างระบบแจ้งเตือนภัยที่ครอบคลุมมากขึ้น โดยสภาผู้บริโภคได้เรียกร้องให้รัฐบาลเร่งใช้ระบบแจ้งเตือนภัยฉุกเฉินผ่านมือถือ (Thai Emergency Alert) ซึ่งจะช่วยป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น ไม่เพียงแต่จากน้ำท่วม แต่ยังครอบคลุมถึงภัยพิบัติอื่น ๆ เช่น เหตุการณ์น้ำท่วมในอำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย ที่เกิดขึ้นโดยไม่มีการแจ้งเตือน ทำให้ประชาชนไม่สามารถเตรียมตัวรับมือได้ทัน หรือเหตุการณ์กราดยิงในกรุงเทพฯ ที่เกิดขึ้นโดยไม่ทันได้เตรียมการ ซึ่งการมีระบบเตือนภัยที่ครอบคลุมจะช่วยลดความเสี่ยงและความสูญเสียในอนาคต โดยอาจนำตัวอย่างจากประเทศที่มีระบบเตือนภัยที่มีประสิทธิภาพมาปรับใช้ และพัฒนาความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนอย่างเป็นรูปธรรม