ส่องนโยบายผู้บริโภค ด้านการเงินและการธนาคาร ประจำเดือนมิถุนายน 2567

ส่องนโยบายผู้บริโภค ด้านการเงินและการธนาคาร ประจำเดือนมิถุนายน 2567

อนุกรรมการด้านการเงินและการธนาคารมีมติให้แจ้งเรื่องการประกอบธุรกิจสินเชื่อของกลุ่มบริษัทศรีสวัสดิ์ที่ละเมิดสิทธิผู้บริโภคต่อ กลต. ทั้งการเรียกเก็บดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนดและการไม่ให้คู่สัญญากับผู้กู้ยืมเงิน จนดีเอสไอรับคำร้องของสภาผู้บริโภค ดำเนินการสอบสวนเป็นคดีพิเศษเพื่อให้พิจารณาตรวจสอบด้านธรรมาภิบาล

 การประชุมคณะอนุกรรมการด้านการเงินและการธนาคาร ครั้งที่ 5/2567 ซึ่งมีนายกมล กมลตระกูล กรรมการนโยบาย และประธานอนุกรรมการฯ เป็นประธานในที่ประชุม ได้ติดตามผลการดำเนินการกรณีกลุ่มบริษัทศรีสวัสดิ์ให้สินเชื่อกู้ยืมเงินโดยใช้เอกสารโฉนดที่ดินเป็นประกันโดยมีการกระทำที่เป็นการละเมิดสิทธิของผู้บริโภคคือมีการเรียกเก็บดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนดและไม่ปฏิบัติตามกฎหมายด้วยการไม่ให้คู่สัญญากับผู้กู้ยืมเงินทำให้ผู้บริโภคไม่สามารถตรวจสอบยอดเงินกู้และอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงได้

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 18 มกราคม 2567 สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ได้มีหนังสือถึงผู้บังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค เพื่อให้ดำเนินคดีอาญากับบริษัท ศรีสวัสดิ์ พาวเวอร์ 2014 จำกัด และบริษัท ศรีสวสัดิ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ในฐานความผิดไม่ส่งมอบสัญญา มีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 2 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 และเมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2567 อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) มีหนังสือถึงสภาผู้บริโภคแจ้งผลการรับคำร้องไว้ดำเนินการสอบสวนเป็นคดีพิเศษว่า กรมสอบสวนคดีพิเศษได้รับเรื่องร้องเรียนนิติบุคคลประกอบธุรกิจให้กู้ยืมเงินคิดดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนดเป็นคดีพิเศษ เลขที่ 47/2567 แล้ว

นอกจากนี้ เนื่องจากบริษัท ศรีสวสัดิ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ คณะอนุกรรมการฯ จึงมีมติเห็นชอบให้ทำหนังสือถึงสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(กลต.) เพื่อพิจารณาตรวจสอบเรื่องธรรมาภิบาลของบริษัทจดทะเบียนตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์ และให้สำเนาถึงสมาคมส่งเสริมผู้ลงทุนไทยด้วย

ในการประชุมครั้งนี้ คณะอนุกรรมการด้านเงินและการธนาคารฯ ยังเห็นชอบให้จัดทำข้อเสนอแนะต่อมาตรการเยียวยาความเสียหายให้กับผู้บริโภคจากภัยอาชญากรรมทางเทคโนโลยีหรือภัยทุจริตจากการทำธุรกรรมทางการเงิน เสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมและธนาคารแห่งประเทศไทย โดยมีข้อเสนอที่สำคัญ คือ ให้มีการปรับปรุงสายด่วน 1441 โดยขอให้มีฐานะหรือมีเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจดำเนินคดีอาญาประจำอยู่ในศูนย์ด้วย เพื่อให้สามารถจัดการรับร้องทุกข์และดำเนินคดีอาชญากรรมทางเทคโนโลยีได้แบบเบ็ดเสร็จด้วยระบบออนไลน์  และให้สถาบันการเงินในฐานะผู้รับฝากเงินให้คืนเงินฝากในบัญชีให้แก่ผู้ฝากเงินโดยทันที เมื่อได้รับแจ้งจากสายด่วน 1441 หรือเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจดำเนินคดีอาญา ได้ตรวจสอบแล้วว่าเงินที่หายจากบัญชีนั้นมีเหตุที่เชื่อได้ว่าเกิดจากหลอกลวงของอาชญากรรมทางเทคโนโลยี มิใช่เป็นเจตนาของผู้บริโภค เพื่อคุ้มครองผู้บริโภคตามสัญญาฝากเงิน