ส่องนโยบายผู้บริโภค ด้านบริการสุขภาพ ประจำเดือนพฤษภาคม 2567

ส่องนโยบายผู้บริโภค ด้านบริการสุขภาพ ประจำเดือนพฤษภาคม 2567

คณะอนุกรรมการด้านบริการสุขภาพ เห็นชอบแผนการคุ้มครองผู้บริโภคด้านบริการเสริมความงาม และให้จัดประชุมสัมมนา มาตรการคุ้มครองผู้บริโภคจากบริการเสริมความงาม

การประชุมคณะอนุกรรมการด้านบริการสุขภาพ ครั้งที่ 5/2567 ซึ่งมีนางสาวสุรีรัตน์  ตรีมรรคา กรรมการนโยบายและประธานอนุกรรมการด้านบริการสุขภาพ สภาผู้บริโภค เป็นประธานที่ประชุม ได้ติดตามเรื่องและพิจารณาถึงแผนการคุ้มครองผู้บริโภคด้านบริการเสริมความงาม ซึ่งสภาผู้บริโภคได้มีหนังสือถึงหน่วยงานที่เกี่ยวจำนวน 2 ฉบับ ได้แก่

1)  หนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข มีข้อเสนอเชิงนโยบายที่สำคัญ 4 ข้อ คือ 1. ให้มีผู้แทนจากสภาผู้บริโภคเข้าร่วมเป็นคณะกรรมการในทุก ๆ ชุดที่แต่งตั้งโดยกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข เนื่องจากคณะกรรมการในแต่ละชุดขาดผู้แทนผู้บริโภค และมีเพียงแต่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเป็นหลัก 2.ให้ติดประกาศชื่อแพทย์ และคุณวุฒิของแพทย์ในสถานพยาบาลเสริมความงามในทุก ๆ แห่ง พร้อมรูปภาพของแพทย์ให้ผู้บริโภคมองเห็นได้อย่างชัดเจน และตรวจสอบได้ 3. ให้พิจารณาจัดให้มีการประชุมสัมมนาผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในด้านบริการเสริมความงามทั้งหมดเพื่อหาทางออกร่วมกัน 4. ให้พิจารณาแจ้งแพทยสภาในเรื่องการแก้ไขปัญหาเรื่องร้องเรียนจากผู้บริโภคด้านเสริมความงามที่สมควรพิจารณาเรื่องจริยธรรมแพทย์ และมาตรฐานของแพทย์เสริมความงามที่จะต้องได้มาตรฐานของแพทยสภาอย่างเคร่งครัด

2) หนังสือถึงคณบดีสถาบันแพทยศาสตร์จำนวน 28 แห่ง เพื่อขอทราบข้อมูลหลักสูตรการฝึกอบรมแพทย์และสนับสนุนความปลอดภัยกับผู้บริโภคด้านบริการเสริมความงาม เนื่องจากในปี 2567 แพทยสภาได้มีการพิจารณาแต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาหลักสูตรด้านศัลยกรรมเสริมสวย ซึ่งสภาผู้บริโภคมีความห่วงกังวลว่าหลักสูตรดังกล่าวว่าจะทำให้แพทย์ผู้ซึ่งเข้ารับการอบรมมีมาตรฐานหรือไม่

ซึ่งที่ประชุมคณะอนุกรรมการฯ เห็นชอบต่อแผนการคุ้มครองผู้บริโภคด้านบริการเสริมความงามโดยให้เตรียมจัดการประชุมสัมมนาด้านบริการเสริมความงาม และเห็นชอบการจัดทำทำเนียบนักวิชาการ และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและผู้ที่เกี่ยวข้องเพื่อการจัดการประชุมสัมมนาประเด็นด้านการบริการเสริมความงาม

นอกจากนี้ที่ประชุมอนุกรรมการฯ ได้รับทราบความคืบหน้าการจัดทำข้อเสนอแนะข้อเสนอนโยบายและมาตรการคุ้มครองผู้บริโภค อีก 2 เรื่องคือ 1. เรื่องข้อเสนอกรณี เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต มีสิทธิทุกที่ (UCEP) ที่ส่งถึงสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และมีหนังสือตอบกลับมาโดยระบุว่าเห็นชอบให้ฝ่ายสำนักงานสภาผู้บริโภค เก็บตัวอย่างข้อร้องเรียนกรณีการถูกเก็บค่ารักษาพยาบาลหลัง 72 ชั่วโมงที่พ้นวิกฤตของโรงพยาบาล และเสนอเรื่องไปยังคณะกรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานบริการเพื่อให้คณะกรรมการควบคุมเสนอเรื่องไปยังคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเพื่อจัดตั้งคณะทำงานเพื่อพิจารณา

2. ข้อเสนอและนโยบายมาตรการคุ้มครองผู้บริโภค เรื่อง การตรวจคัดกรองความเสี่ยงโรคมะเร็งปอด ที่สภาผู้บริโภคได้มีหนังสือถึง สปสช. และมีหนังสือตอบกลับมายังสภาผู้บริโภค โดยแจ้งว่า สปสช. มีโครงการพิจารณาทบทวนบริการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค และโครงการพัฒนาสิทธิประโยชน์สำหรับการตรวจคัดกรองมะเร็งปอดสำหรับประชาชนกลุ่มเสี่ยง และได้รับข้อเสนอหัวข้อ เรื่อง การตรวจคัดกรองโรคมะเร็งปอดระยะต้นด้วยเทคโนโลยี low-dose computed tomography (LDCT) ซึ่งในขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการพิจารณาจากคณะทำงาน และอนุกรรมการที่เกี่ยวข้อง เพื่อบรรจุเข้ากระบวนการศึกษาประสิทธิผลและประเมินความคุ้มค่าต่อไป