ส่องนโยบายผู้บริโภค ด้านการศึกษา ประจำเดือนเมษายน 2567

คณะทำงานด้านการศึกษา สภาผู้บริโภค วางแผนขับเคลื่อนผลักดันนโยบายเรียนฟรีตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดและมาตรการคุ้มครองนักเรียนและนักศึกษาจากการใช้ความรุนแรงในสถานศึกษา

ด้วยรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ในมาตรา 54 กำหนดหน้าที่ของรัฐต้องดำเนินการให้เด็กทุกคนได้รับการศึกษาเป็นเวลาสิบสองปี ตั้งแต่ก่อนวัยเรียนจนจบการศึกษาภาคบังคับอย่างมีคุณภาพโดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย ที่ประชุมคณะทำงานด้านการศึกษา ครั้งที่ 3/2567 เมื่อวันพุธที่ 3 เมษายน 2567 ซึ่งมี ผศ.อรรถพล  อนัตวรสกุล เป็นประธานที่ประชุม จึงได้พิจารณาถึงแผนการขับเคลื่อนเพื่อจัดทำและผลักดันข้อเสนอแนะนโยบายโดยเห็นควรให้ดำเนินการการขับเคลื่อนกิจกรรมภายในปีงบประมาณ พ.ศ.2567 ใน 2 ประเด็นหลัก คือ การผลักดันนโยบายและมาตรการการเรียนฟรีตามรัฐธรรมนูญและ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติให้เกิดผลในทางปฏิบัติอย่างแท้จริง และมาตรการการคุ้มครองนักเรียนและนักศึกษาจากการใช้ความรุนแรงในสถานศึกษา 

โดยที่ประชุมคณะทำงานด้านการศึกษาฯ เห็นชอบให้ดำเนินการ ดังนี้ 1.จัดเวทีประเด็น การเรียนฟรีตามรัฐธรรมนูญ และ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ในรูปแบบออนไลน์ ในช่วงเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2567 ซึ่งอาจจะมีการจัดแถลงข่าวหรือกิจกรรมอื่น ๆ ก่อนการจัดเวที เพื่อสื่อสารประเด็นให้สาธารณะรับทราบและตื่นตัวก่อนเข้าสู่การจัดเวที 2. จัดเวทีประเด็น การคุ้มครองนักเรียนและนักศึกษาจากการใช้ความรุนแรงในสถานศึกษา ในรูปแบบออนไซต์ ในช่วงเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2567 โดยให้เชิญภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมในการจัดเวที เช่น ยูนิเซฟ (UNICEF Thailand) และสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ โดยให้จัดเวทีในวันเสาร์หรืออาทิตย์เพื่อให้นักเรียนและนักศึกษาสามารถเข้าร่วมได้  และ 3.ให้จัดเวทีเสวนา พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ …. หลังจากจัดทั้งสองเวทีข้างต้นแล้ว

นอกจากนี้คณะทำงานด้านการศึกษาได้มีการติดตามผลการดำเนินการจากการทำหนังสือถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อสอบถามข้อมูลเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านการศึกษาจากกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งเมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2567 กระทรวงศึกษาธิการได้มีหนังสือตอบกลับมาถึงสภาองค์กรของผู้บริโภค โดยให้ข้อมูลที่สำคัญเกี่ยวกับแนวทาง หรือหลักเกณฑ์การดำเนินการของกระทรวงฯ เพื่อให้เด็กทุกคนได้รับการศึกษาเป็นเวลาสิบสองปี ตั้งแต่ก่อนวัยเรียนจนจบการศึกษาภาคบังคับอย่างมีคุณภาพโดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย ตามที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๕๖๐ กำหนด  และแนวทางหรือหลักเกณฑ์ในการคุ้มครองเด็กจากความรุนแรงในโรงเรียน อันเป็นการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อนักเรียนทั้งทางร่างกายหรือจิตใจ ไม่ว่าจะกระทำภายในโรงเรียนหรือข้างนอก รวมถึงความเสียหายต่อทรัพย์สินโดยการทำร้ายร่างกาย ข่มขู่ กักขัง ลักพาตัว การใส่ร้ายป้ายสี ดูถูก กรรโชกทรัพย์บังคับขู่เข็ญ การใช้ความรุนแรงทางเพศ กลั่นแกล้ง หรือการกลั่นแกล้งบนอินเทอร์เน็ต รวมถึงการเผยแพร่ข้อมูลที่หยาบคาย หรือรุนแรงผ่านเครือข่ายข้อมูลและการสื่อสาร