ข้อเสนอต่อปัญหาราคาน้ำมันเชื้อเพลิงแพง
สถานการณ์
ด้วยน้ำมันเชื้อเพลิงถือเป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงจึงเป็นต้นทุนสำคัญในการดำเนินชีวิตของประชาชนและเป็นต้นทุนสำคัญในภาคขนส่งสินค้าและบริการของประเทศ โดยเฉพาะภายใต้สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ที่ประชาชนไม่สามารถเดินทางได้สะดวกและต้องพึ่งพาภาคบริการขนส่งสินค้า บริการต่าง ๆ มากขึ้น เพื่อเข้าถึงปัจจัยในการดำรงชีวิต หากรัฐบาลปล่อยให้ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงภายในประเทศมีราคาแพง จะยิ่งสร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนมากขึ้นตามไปด้วย
การดำเนินงาน
1. จัดเสวนาผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2564 เรื่องรวมพลังสะท้อนปัญหาน้ำมันราคาแพง เพื่อนำข้อมูลที่ได้จากเวทีมาใช้ประกอบการจัดทำข้อเสนอถึงรัฐบาลเพื่อแก้ไขปัญหาราคาน้ำมันแพง
2. จัดกิจกรรมแถลงข่าวเรียกร้องให้ติดริบบิ้นสีเขียวเพื่อเป็นสัญลักษณ์สะท้อนปัญหาราคาน้ำมันแพง เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2564
3. ส่งหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2564 เพื่อนำส่งข้อเสนอในการแก้ไขปัญหาน้ำมันเชื้อเพลิงแพง
ข้อเสนอของสภาองค์กรของผู้บริโภค
1. ขอให้กระทรวงการคลัง ลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันลง 5 บาทต่อลิตร เพื่อไม่ให้เป็นการสร้างภาระให้เกิดกับประชาชนเกินสมควร
2. ขอให้กระทรวงพลังงาน ยกเลิกการจำหน่ายแก๊สโซฮอล์ E85 และดีเซล B20 ด้วยมีต้นทุนราคาที่สูงมากซึ่งมาจากการประกาศราคาอ้างอิงของรัฐบาลเอง จนกว่ารัฐบาลจะมีมาตรการและดำเนินการทำให้ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงชีวภาพอ้างอิง ทั้งเอทานอลและไบโอดีเซลลดลงเท่ากับหรือต่ำกว่าราคาน้ำมันเชื้อเพลิงปกติได้
3. ขอให้กระทรวงพลังงาน กำหนดระยะเวลาการปรับราคาน้ำมันขายปลีกได้ไม่เกิน 2 ครั้งต่อเดือน ด้วยนับเต่เดือนมกราคมถึงเดือนกรกฎาคม 2564 มีการปรับราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศถึง 43 ครั้ง หรือเฉลี่ย 6 ครั้งต่อเดือน การลดจำนวนครั้งในการปรับราคาน้ำมันขายปลีกจะช่วยให้ระดับราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศมีเสถียรภาพมากขึ้น ช่วยลดผลกระทบต่อเศรษฐกิจและลดความเดือดร้อนของประชาชนให้น้อยลงได้
4. ขอให้กระทรวงพลังงาน การกำหนดราคา ณ โรงกลั่นน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศให้เทียบเท่าราคาซื้อขายน้ำมันสำเร็จรูปของตลาดภูมิภาคเอเชีย (ราคาน้ำมันสำเร็จรูปตลาดสิงคโปร์ /ราคา Mean of Platts Singapore : MOPS) โดยไม่ให้บวกค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับค่าขนส่งที่ไม่มีจริงเพราะการกำหนดราคา ณ โรงกลั่นน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศในปัจจุบัน ใช้ราคานำเข้าอ้างอิงและบวกค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับค่าขนส่งที่ไม่ได้เกิดขึ้นจริง ด้วยปัจจุบันประเทศไทยเป็นประเทศที่สามารถผลิตน้ำมันสำเร็จรูปได้เกินกว่าความต้องการใช้ในประเทศมานานหลายปีแล้ว การให้บวกค่าใช้จ่ายเทียมหรือค่าใช้จ่ายที่ไม่มีจริง จึงเป็นการกำหนดราคาที่เอารัดเอาเปรียบและไม่เป็นธรรมต่อประชาชนอย่างยิ่ง
5. ขอให้กระทรวงพลังงานกำกับดูแลค่าการกลั่นของราคาหน้าโรงกลั่นและค่าการตลาดอย่างเข้มงวดใกล้ชิดเพื่อมิให้เกิดการฉกฉวยขึ้นราคาน้ำมันอย่างไม่เป็นธรรม
6. ขอให้กระทรวงพลังงานเปิดเผยราคาน้ำมันดิบและราคาน้ำมันสำเร็จรูปในตลาดต่างประเทศที่ราคาน้ำมันสำเร็จรูปในประเทศใช้อ้างอิง เป็นรายวัน เพื่อความโปร่งใสและให้ประชาชนสามารถติดตามตรวจสอบโครงสร้างราคาน้ำมันในประเทศได้อย่างใกล้ชิด
7. ขอให้กระทรวงพลังงาน เปิดเผยโครงสร้างราคาน้ำมันดีเซลพรีเมียม ซึ่งเป็นน้ำมันดีเซลหมุนเร็วที่ไม่มีการผสมไบโอดีเซล เพื่อให้ประชาชนสามารถตรวจสอบโครงสร้างราคาได้เช่นเดียวกับการเปิดเผยโครงสร้างราคาน้ำมันสำเร็จรูปชนิดอื่น ๆ
8. ขอให้กระทรวงพาณิชย์ มีมาตรการกำกับดูแลราคาสินค้าและบริการที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตของประชาชน ให้มีราคาสอดคล้องกับต้นทุนราคาน้ำมันเชื้อเพลิงและสอดคล้องกับภาวะค่าครองชีพของประชาชน ทั้งนี้เมื่อราคาน้ำมันลดลง ราคาสินค้าและบริการที่เกี่ยวข้องสมควรจะลดลงตามต้นทุนค่าเชื้อเพลิงที่ลดลงด้วย ทั้งนี้ การดำเนินการตามข้อ 1 และ 2 จะทำให้ราคาน้ำมันสำเร็จรูปขายปลีกทั้งเบนซินและดีเซลลดลงได้ทันที 5 บาท/ลิตร โดยที่ไม่ต้องใช้เงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงไปจ่ายชดเชยราคาแต่อย่างใด
ความคืบหน้า
คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติให้กระทรวงการคลัง ปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลลง 5 บาทต่อลิตร ตั้งแต่วันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2565 เป็นต้นมา และมาตรการดังกล่าวยังคงดำรงอยู่จนถึงปัจจุบัน