ข้อเสนอเกี่ยวกับแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2561 – 2580
สถานการณ์
แผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย (แผน PDP) พ.ศ. 2561- 2580 ฉบับปรับปรุงคร้ังที่ 1 ได้ลดสัดส่วนไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานรากลง และเพิ่มสัดส่วนการรับซื้อไฟฟ้าจากขยะอุตสาหกรรม และพลังงานน้ำจากประเทศลาวเข้ามาแทน พร้อมเร่งรับซื้อไฟฟ้าจากโซลาร์ฟาร์ม โซลาร์ทุ่นลอยน้ำ และพลังงานลม ให้เร็วขึ้น รวมถึงบรรจุโครงการท่าขนส่งก๊าซธรรมชาติเหลว LNG ไว้ในแผนโครงสร้างพื้นฐานก๊าซธรรมชาติ แผน PDP ฉบับดังกล่าว มีความผิดพลาดในการคาดการณ์ความต้องการพลังงานเนื่องจากใช้ข้อมูลอ้างอิงการคาดการณ์ความต้องการไฟฟ้าที่สูงมากเกินไปทำให้เกิดการลงทุนมากเกินความเป็นจริง กลายเป็นภาระค่าไฟฟ้าต่อผู้บริโภคผ่านค่าความพร้อมจ่ายของโรงไฟฟ้าและต้นทุนค่าไฟฟ้าผันแปร (ค่า Ft) ที่จะเพิ่มสูงขึ้น สภาองค์กรของผู้บริโภคจึงไ้ด้เสนอข้อคิดเห็นต่อคณะรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานเกี่ยวกับแผน PDP ฉบับดังกล่าว
การดำเนินงาน
1. ร่วมกับ ม.ธรรมศาสตร์จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์เรื่องแนวทางการจัดทำแผนพัฒนาและจัดการระบบไฟฟ้าของประเทศไทยภาคประชาชน เมื่อวันที่ 22 กันยายน 2564
2. ผลิตสื่อและสื่อสารสาธารณะประเด็นปัญหาและผลกระทบของแผน PDP ของรัฐ จำนวน 3 ชุดทาง FB สภาองค์กรของผู้บริโภค (ก.ย. ต.ค. 64 และ ส.ค. 65)
3. ส่งหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2564 เพื่อนำส่งข้อเสนอ
4. ส่งหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2564 เพื่อนำส่งข้อเสนอ
ข้อเสนอของสภาองค์กรของผู้บริโภค
1. รัฐบาลควรยุติการอนุมัติรับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าใหม่เข้าระบบ เพื่อลดภาระค่าไฟฟ้าที่ประชาชนต้องจ่ายเพิ่มจากปัจจุบัน
2. รัฐบาลควรยุติการสร้างโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ และมุ่งพัฒนาการจัดการพลังงานไฟฟ้าแบบอัจฉริยะ (smart electricity management) เช่น การผลิตไฟฟ้าพลังน้ำแบบสูบกลับ (pumped-storage hydroelectricity) เทคนิคการลดความต้องการกำลังไฟฟ้าสูงสุด (peak shaving) การส่งเสริมให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการใช้ไฟฟ้าของผู้ใช้ไฟเองจากรูปแบบการใช้ปกติ เพื่อตอบสนองต่อราคาค่าไฟในช่วงเวลาต่าง ๆ เพื่อเพิ่มศักยภาพในการลดความต้องการไฟฟ้าสูงสุด (การตอบสนองด้านโหลด : demand response) และการจัดการด้านการใช้ไฟฟ้า (demand-side management) เป็นต้น เพื่อส่งเสริมการใช้ไฟฟ้าที่มีอยู่แล้วในระบบอย่างมีประสิทธิภาพ
3. รัฐบาลควรชะลอการตัดสินใจใด ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการรับซื้อไฟฟ้าพลังงานน้ำจากประเทศลาวและการดำเนินโครงการก๊าซธรรมชาติ LNG Terminal จนกว่ากำลังไฟฟ้าสำรองจะอยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม
4. คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ควรทบทวนการทำแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศ ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันตามเป้าหมายการลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยเฉพาะก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และควรดำเนินการโดยคำนึงถึงการมีส่วนร่วมจากภาคส่วนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงกลุ่มผู้บริโภคด้วย
5. คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ควรทบทวนและปรับปรุงต้นแบบสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (Power Purchase Agreement : PPA) เพื่อลดหรือยกเลิกเงื่อนไขการรับซื้อไฟฟ้าที่ระบุว่า “ไม่มีการผลิตก็ต้องจ่าย (take-or-pay)” ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงที่ผู้บริโภคจะต้องจ่ายค่าไฟฟ้าเกินสมควรให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย
ความคืบหน้า
–